Natural Science : Sensory, Spirit & Spiral …เรื่องเล่าจาก BioArt: Intimacy with Nature โดย ดร.ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร

ผมคว่ำหน้าลอยตัวนิ่ง พับเข่าชิดอกค้างไว้ สองแขนดันน้ำไปด้านหน้าวาดลงด้านข้างเป็นจังหวะเหมือนว่ายน้ำท่ากบ การเคลื่อนตัวผ่านน้ำโดยไม่ใช้ขายากกว่าที่คิด แว่นจับไอน้ำมองแทบไม่เห็น คลื่นกระเพื่อมจากเพื่อนร่วมประชุมสิบเอ็ดคนในสระยิ่งทำให้การทรงตัวและรักษาทิศทางยากขึ้นอีก

โทโมกิ มัตซึมุระ (Tomoki Matsumura) อดีตนักว่ายน้ำทีมชาติญี่ปุ่นผู้ผันตัวเป็นศิลปินและนักวิจัยไรน้ำ (Daphnia) เล่าว่าการจะเข้าใจสิ่งใดเราควรได้ลองเป็นสิ่งนั้น มัตซึมุระยกงานวิจัยรางวัลอิกโนเบลของ ชายผู้ใช้ชีวิตเป็นแพะ เป็นแรงบันดาลใจท่าว่ายไรน้ำของเขา ไรน้ำรูปร่างกลมสั้น เคลื่อนที่ด้วยรยางค์ด้านหน้า ตารวมเห็นภาพแค่มัวๆ แถมยังต้องฝ่าแรงต้านน้ำที่ฝืดราวกับแยมเนื่องจากฟิสิกส์ของไหลในระดับไมโคร

หลังจบช่วงบรรยายสไลด์ มัตซึมุระชวนพวกเราโดดลงสระ …แปลงร่างเป็นไรน้ำเฉพาะกิจ

ท่าว่ายไรน้ำ (Daphnia) ของมัตซึมุระ

Advertisement

กิจกรรมของมัตซึมุระเป็นส่วนหนึ่งของงาน BioArt: Intimacy with Nature ที่มหาวิทยาลัยนเรศวรเมื่อเดือนที่แล้ว ร่วมจัดโดยเฮนรี่ (พรเลิศ ตันติพาณิชย์กูล) จาก FREAK Lab และทีมงานจาก BIPAM “งานประชุม” สุดประหลาดครั้งนี้เริ่มจากคำถามที่ว่าศิลปะกับวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะชีววิทยาจะทำให้เราใกล้ชิด (intimate) กับธรรมชาติอีกครั้งได้อย่างไร? เป็นงานที่รวมเอานักศึกษา นักว่ายน้ำ นักเปียโน นักพันธุวิศวกรรม นักชงชา นักนาฏศิลป์ นักผสมพันธุ์ข้าว นักจัดเทศกาล นักวิเคราะห์กลิ่น นักปรุงอาหาร นักเขียนโปรแกรม และนักอะไรต่อมิอะไรจากหลายประเทศมาเข้าค่าย โชว์ของและต่อบทสนทนากันยาวๆห้าวัน

Sensory, Spirit & Spiral คือสามคอนเซปต์ร่วมที่ผมสัมผัสได้จากมหกรรมยำใหญ่ใส่สารพัดครั้งนี้

“ประสาทสัมผัส (sensory)” ทั้งห้าเป็นหน้าต่างเชื่อมระหว่างตัวตนของเรากับโลกภายนอก เครื่องมือต่างๆของทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะช่วยเราสร้างและขยายขอบเขตประสบการณ์การรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสออกไป โครงร่างงาน BioArt ครั้งนี้จึงได้ล้อตาม sensory เหล่านั้น มีหนึ่งวันที่ว่าด้วยเรื่องสีและรูปร่างที่เราเห็นได้ด้วยตา, อีกวันว่าด้วยกลิ่น, อีกวันว่าด้วยรสชาติ จบวันสุดท้ายด้วยเสียงและการสัมผัส

Advertisement

จากมุมนักวิทยาศาสตร์ sensory ทั้งห้าเป็นเพียงการส่งผ่านข้อมูลในรูปแบบของโมเลกุลสสารและพลังงาน

สีคือการสะท้อนแสงเฉพาะช่วงคลื่นจากโมเลกุลสู่จอประสาทตา กลิ่นและรสชาติคือปฏิกิริยาระหว่างโมเลกุลกับปลายประสาทโพรงจมูกและลิ้น ส่วนเสียงและสัมผัสก็คือพลังงานกลส่งผ่านสู่หูชั้นในและผิวหนัง วิทยาศาสตร์ของสสารและพลังงานสอนเราแยกส่วน ถอดประกอบ และสร้างประสบการณ์ใหม่ผ่าน sensory ทั้งห้า

ข้าว “พระองค์ดำ” ต้นม่วงเข้มในนาทดลอง เมลานินย้อมผ้าจากเห็ด และแบคทีเรียหลากสีที่เราได้ลองลงมือวิศวกรรมเกิดจากความรู้ด้านยีนและชีวโมเลกุลของแมงกระพรุน ดอกไม้ทะเล ราและพืช ทุกกลิ่นรสของชาวัชพืช ยาดมสมุนไพร กระแช่พื้นบ้านและเมนูอาหารจากเอเลี่ยนสปีชีย์สามารถถูกถอดวิเคราะห์ทางเคมีเพื่อทำซ้ำหรือปรับสูตร ทุกโทนเสียงธรรมชาติอาจถูกสังเคราะห์ดัดแปลงใหม่ด้วยฟิสิกส์ของคลื่น 

ศาสตร์และศิลป์ของ sensory ในงาน BioArt

เครดิตภาพ (ซ้ายไปขวา บนลงล่าง) อ.ดร.ภาวัช วิจารัตน์: ข้าวพระองค์ดำ, ผศ.ดร.จงรักษ์ อรรถรัฐ: เมลานินเห็ด, ดร. ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร: เวิร์กช็อปแบคทีเรียสังเคราะห์สี, weed day: กลิ่นชาสมุนไพร, ยาหอมบ้านวังส้มซ่า, กระแช่พื้นบ้านพลายชุมพล, ดร.เจษฎา วิชาพร: ศูนย์วิเคราะห์กลิ่น, จิตนเร บุญแสงวัฒน์: เมนูจากเอเลี่ยนสปีชีย์, วีรธัช พงษ์เรืองเกียรติ: เวิร์กช็อปโปรแกรมสังเคราะห์เสียง

จากมุมศิลปิน วิทยาศาสตร์ของ sensory มอบชุดเครื่องมือใหม่ๆสำหรับสร้างประสบการณ์ทางศิลปะ ศิลปินยุคดึกดำบรรพ์อาจมีเพียงสีฝุ่นจากแร่หิน เครื่องเคาะตีจากกระดูกสัตว์ รสและกลิ่นเท่าที่เก็บหาจากผักผลไม้ป่า ขณะที่ศิลปินยุคปัจจุบันเข้าถึงทุกเฉดสี รส และกลิ่นที่เนรมิตขึ้นด้วยเคมีและชีวสังเคราะห์ เข้าถึงมัลติมีเดียถ่ายทอดภาพและเสียงที่ซับซ้อนเกินกว่าที่ศิลปินไม่กี่ร้อยปีก่อนจะจินตนาการออก

แต่สิ่งมีชีวิตก็ควรเป็นมากกว่าเพียงอีกเครื่องมือผลิตสี รส กลิ่น เสียงและประสบการณ์สัมผัสให้มนุษย์ คอนเซ็ปต์ร่วมของงานศิลปะแทบทุกชิ้นในงาน BioArt คราวนี้ว่าด้วย “วิญญาณ (spirit)” ในสรรพสิ่งทั้งหลาย ตั้งแต่จุลินทรีย์ ถึงพืช สัตว์ หรือแม้แต่เครื่องจักรที่ถูกสร้างเลียนแบบพฤติกรรม และภูมิปัญญาของสิ่งมีชีวิต 

ศิลปินมองว่ามี spirit บางอย่างอยู่ในสิ่งเหล่านี้ พวกมันสามารถรับรู้ จดจำ คิด และตอบสนองสื่อสารกับเรา การยอมรับการมีอยู่และพยายามเข้าใจความนึกคิดของ spirit เหล่านี้แบบไม่เอามนุษย์เป็นศูนย์กลางทำให้เราใกล้ชิดกับธรรมชาติได้อย่างแท้จริง

ฮิเดโอะ ไอวาซากิ (Hideo Iwasaki) นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยวาเซดะ (Waseda University) ผู้ก่อตั้ง “Metephorest” กลุ่มวิจัย/ศิลปิน BioArt ของญี่ปุ่น เล่าเรื่อง “กามิ (Kami)” หรือวิญญาณในสรรพสิ่งตามความเชื่อแบบชินโต “aPrayer” งานศิลปะของฮิเดโอะว่าด้วยการรำลึกถึงวิญญาณในสัตว์ทดลอง ต้นไม้ใบหญ้าและจุลินทรีย์ที่ในห้องแล็บ ไปจนถึงเซลล์สังเคราะห์และอุปกรณ์แล็บ

ศิลปินญี่ปุ่นหลายคนจาก Metaphorest ที่ร่วมเวิร์กช็อปคราวนี้ก็ได้รับอิทธิพลจาก “กามิ” ไม่มากก็น้อย นอกจากมัตซึมุระที่พยายามใช้ชีวิตเป็นไรน้ำแล้ว เรายังมี ฮันนา ไซโตะ (Hanna Saito) ที่เล่าเรื่องความเฉลียวฉลาดและการสร้างงานศิลปะจากมุมมองของราเมือก,  อากิระ ฟุจิโอกะ (Akira Fujioka) ที่นำเสนอชีวิตของหนอนไหมที่สูญเสียการปกป้องจากรังไหม, โทโมยะ อิชิบาชิ (Tomoya Ishibashi) ที่พยายามปลดปล่อยปลาทองด้วยการผสมคัดเลือกพันธุ์ให้กลับสู่ลักษณะธรรมชาติ  

“Weed day” กลุ่มศิลปินไต้หวันเล่าแนวคิดที่คล้ายคลึงกันว่าด้วยจิตวิญญาณในผืนดินและวัชพืชริมทาง สอนพวกให้เราลองหลับตา สัมผัส ดมกลิ่น และฟังเสียงในความเงียบจากต้นไม้ใบหญ้า ชูเฮาเป่ย (Chu Hao Pei) ศิลปินสิงคโปร์เล่าเรื่องราวของเมล็ดพันธุ์ข้าว กลิ่น รสชาติของข้าว และบันทึกเรื่องราวความเชื่อ สังคม การเมือง วัฒนธรรม ที่เรามักจะมองข้ามไปบนกระสอบข้าว

ผดุง (ผดุง จุมพันธ์) / ปลื้ม (เขตสิน จูจันทร์) / ขิม (วรกมล องค์วานิชย์) สามศิลปินไทยเล่าเรื่อง “ขวัญ” วิญญาณผู้พิทักษ์ในสถานที่สำคัญตามความเชื่อไทยแบบเดียวกับ “กามิ” ของญี่ปุ่น เรามีคำเรียกอย่าง ขวัญบ้าน ขวัญเมือง ขวัญข้าว ขวัญช้าง ฯลฯ บนร่างกายของเราก็มีขวัญอยู่ 32 ขวัญ ถ้าเกิดอุบัติเหตุตกอกตกใจร้ายแรงขวัญบนร่างก็อาจหลุดลอยไป อย่างที่เราเรียกกันว่า “เสียขวัญ” ต้องทำพิธี “เรียกขวัญ” กลับมา ผดุงนักรำโขนประยุกต์จากพิเชษฐ กลั่นชื่น แดนซ์คอมพานี สอนวิธีการรับรู้และเคลื่อนไหวตาม “ขวัญ” ที่อยู่ตามอวัยวะส่วนต่างๆ เพียงชั่วขณะหนึ่งเราอาจจะยอมปล่อยให้ร่างกายของเราไม่ใช่ของเราแต่มีอะไรบางอย่างคอยนำทางไป

จากมุมนักวิทยาศาสตร์เราอาจจะมองว่า spirit หรือวิญญาณเหล่านี้ไม่มีอยู่จริง เป็นเพียงจินตนาการในสมองมนุษย์จากความเชื่อส่วนบุคคล แต่ในมุมวิศวกรเราอาจจะตั้งคำถามย้อนกลับไปว่า “แล้วเราจะทำยังไงให้มันมีอยู่จริง?” ถ้า spirit คืออะไรบางอย่างในสรรพสิ่งที่สามารถรับรู้ จดจำ คิด และตอบสนองสื่อสารกับเราได้ เราก็อาจจะสร้างมันขึ้นมาด้วยพลังของปัญญาประดิษฐ์

เวฟ (วีรธัช พงษ์เรืองเกียรติ) วิศวกรและศิลปินชาวไทยจากเชียงใหม่เล่าเรื่อง generative art ศิลปะที่ไม่ได้ถูกวาด เขียน หรือปั้นขึ้นมาโดยตรงจากฝีมือศิลปิน แต่อาศัยอัลกอริทึมในคอมพิวเตอร์แปลงข้อมูลดิบบางอย่าง อาจจะเป็นตัวเลข คำ เสียง หรือภาพตั้งต้นให้เป็นงานชิ้นใหม่ ศิลปินเป็นเพียงคนออกแบบอัลกอริทึมกับเลือกข้อมูลดิบ เวฟยกตัวอย่าง Dall – E โปรแกรมวาดภาพอัตโนมัติจากคำบรรยาย และ “Medium” ตัวอย่างจากผลงานของเขาเองที่เปลี่ยนมลภาวะอากาศหรือเสียงจากธรรมชาติเป็นดีไซน์หน้ากากสามมิติที่ปรับเปลี่ยนตอบสนองตามข้อมูลดิบที่เข้ามา ปัญญาประดิษฐ์ทำให้ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ไร้หน้าตา อารมณ์ และความสามารถสื่อสารด้วยตัวของมันเองกลับมีชีวิตได้ราวกับมีวิญญาณสถิตย์

พีพี (พัทน์ ภัทรนุธาพร) นักศึกษาป.เอกเล่าถึงงานของเขาที่ MIT Media Lab ในหัวข้อ “Machine / Monster / Magic” ว่าด้วยการหลอมรวมระหว่างเครื่องจักรกับมนุษย์เพื่อขยายขอบเขตการรับรู้และตอบสนองของร่างกายเราออกไป จากเซ็นเซอร์ตรวจสุขภาพแบบเรียลไทม์ในปากถึงสมาร์ตวอทช์บรรจุแบคทีเรียสังเคราะห์ยาและฮอร์โมน ไซบอร์กของพีพีเชื่อมต่อ สื่อสาร แนะนำและปกปักษ์ดูแลผู้สวมใส่ไม่ต่างจากวิญญาณผู้พิทักษ์ที่คนโบราณจินตนาการไว้ พีพียังได้เล่าถึงการใช้ปัญญาประดิษฐ์เรียกวิญญาณผู้ล่วงลับให้กลับมาสนทนากับเราอีกครั้ง หรือจะประชุมสัมมนากับจิตของเราเองจากอดีต อนาคต หรือจากจักรวาลคู่ขนาน เวทย์มนต์ของเทคโนโลยีดูเหลือเชื่อยิ่งกว่าตำนาน เรื่องเล่า และไสยศาสตร์ในครั้งก่อนเก่า

Spirit ในมุมศิลปินจากงาน BioArt

เครดิตภาพ: ฮิเดโอะ ไอวาซากิ: aPrayer: memorial service for microorganisms and artificial cells and lives, ฮันนา ไซโตะ: Non-retina Kinematograph, อากิระ ฟุจิโอกะ: Worms, โทโมยะ อิชิบาชิ: Goldfish Liberation Movement, WeedDay: plant touching workshop, ชูเฮาเป่ย: rice bag art, ผดุง จุมพันธ์: ตำนานขวัญ, วีรธัช พงษ์เรืองเกียรติ: Medium: Cyber-animism mask for post-human democracy, พัทน์ ภัทรนุธาพร: Deep Truth AI

“ดีเอ็นเอนี่มันคืออะไรกันแน่ครับอาจารย์? ผมนึกออกแต่ว่ามันเป็นท่อนเกลียวๆ ที่อยู่ในตัวเรา” ผดุงถามผมระหว่าง open session ช่วงค่ำวันหนึ่ง งาน BioArt รอบนี้คงเป็นการเข้าสู่โลกของชีววิทยาโมเลกุลครั้งแรกของผดุงผู้ร่ำเรียนนาฏศิลป์เป็นหนุมานมาทั้งชีวิต “ดีเอ็นเอ” เป็นหนึ่งในศัพท์วิทยาศาสตร์ที่คนทั่วไปเอาไปใช้กันเกร่อโดยไม่รู้ว่าจริงๆมันคืออะไร หน้าตายังไง ทำอะไรได้บ้าง

ดีเอ็นเอไม่ใช้คอนเซ็ปต์นามธรรม ประดิษฐ์กรรมไซไฟหรือแร่ศักดิ์สิทธิ์หายาก แต่เป็นเพียง “สสาร” อย่างหนึ่งที่บังเอิญได้รับบทบาทสำคัญในสิ่งมีชีวิต และด้วยความก้าวหน้าของไบโอเทคสมัยใหม่ทำให้คนธรรมดาอย่างเราๆสามารถลงไป “เล่น” กับดีเอ็นเอได้ไม่ต่างสสารอื่นอย่างดินน้ำมัน กระดาษ ไม้ โลหะ ฯลฯ ระหว่างเวิร์กช็อปเราสกัดดีเอ็นเอด้วยชุด “สกัดเก่ง”, ตรวจดีเอ็นเอด้วยชุดตรวจ CRISPR ,  ได้จับดีเอ็นเอยัดเข้าเซลล์ให้เปลี่ยนสี และพูดถึงตัวอย่างการเอาดีเอ็นเอไปทำงานที่ผิดแผกไปจากธรรมชาติอย่างฝังจีโนมคนตายลงต้นไม้ในโปรเจก Biopresence หรือบรรจุข้อมูลเพลงยิงขึ้นอวกาศแบบโปรเจก MESSE …แทบทั้งหมดที่ว่ามาทำได้ด้วยต้นทุนหลักพัน เวลาสองสามวัน และความรู้ชีวะระดับมัธยม

“สมมติว่าร่างกายของเรา ของพืช หรือของสัตว์ทั้งหลายเป็นตึก ในตึกประกอบด้วยห้องย่อยๆขนาดและรูปร่างต่างๆกันเรียกว่า ‘เซลล์’ ในห้องมีข้าวของเฟอร์นิเจอร์หลายชิ้นเรียกว่า ‘ออร์แกเนล’ ทั้งตัวห้องและข้าวของเฟอร์นิเจอร์ประกอบจากสสารต่างๆ อย่างไม้ ปูน พลาสติก ผ้า กระดาษ เหล็ก ฯลฯ สสารพวกนี้เทียบเท่ากับชีวโมเลกุลอย่างโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน ฯลฯ” ผมอธิบายเปรียบเทียบให้ผดุงฟัง

“ในห้องมีกองหนังสือที่บันทึกแผนผัง วิธีก่อสร้างและกฎกติกาต่างๆ ของการใช้ห้องไว้ กองหนังสือนี้คือ ‘จีโนม’ สสารอย่างเนื้อกระดาษกับหมึกที่ประกอบเป็นหนังสือคือ ‘ดีเอ็นเอ’ เนื้อหาในหนังสือคือ ‘ข้อมูลพันธุกรรม’ ส่วน ‘ยีน’ เปรียบเหมือนหนึ่งประโยคที่มีความหมายจบสมบูรณ์ในตัว”

“ถ้างั้นข้อมูลพันธุกรรมก็เป็นตัวกำหนดทุกอย่างที่เราเป็นเลยรึเปล่าครับ?” ผดุงถามต่อ

“ไม่หรอก เราเป็นผลลัพธ์ของพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม แฝดเหมือนที่พันธุกรรมแบบเดียวกันเป๊ะถ้าไปโตคนละที่กันก็ยังออกมารูปร่าง หน้าตา นิสัยต่างกัน ถ้าเปรียบเหมือนละครเวที พันธุกรรมก็คือบทที่วางไว้คร่าวๆ ส่วนละครจะออกมาดีไม่ดีก็ยังขึ้นกับคอสตูมที่หาได้ สภาพโรงละคร และฝีมือนักแสดง” ผมอธิบายเพิ่ม “แต่ถ้าสามารถแก้บทได้ด้วยเราก็จะมีอิสระขึ้นกว่าเดิมมาก …นี่คือสิ่งที่นักพันธุวิศวกรรมกำลังทำกัน” 

“เล่น” กับดีเอ็นเอในงาน BioArt

เครดิตภาพ: ดร. ธนพัฒน์ แพ่งเกษร: สกัดเก่ง, รศ.ดร.กิตติศักดิ์ พุทธชาติ และ ผศ.ดร. ธวัชชัย ชัยจรัสพงษ์: CRISPR diagnosis, ดร.ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร: DNA transformation,  จอร์จ ทริมเมล: Biopresence และPCR ฉบับพกพา, ทีมงาน MESSE: ดีไซน์บันทึกดีเอ็นเอสู่อวกาศ

ความพิเศษอย่างหนึ่งของงาน BioArt คราวนี้คือผู้เข้าร่วมเกือบทุกคนร่วมสามสิบคนได้มาพักรวมกันในหอพักนิสิต ตกค่ำตั้งแต่สองทุ่มกว่ายันเที่ยงคืนเราเปิดห้องจัด open session ต้อนรับใครที่ยังค้างคาใจสิ่งที่ผ่านมาในเวิร์กช็อป ตลอดหนึ่งสัปดาห์ห้องพักนิสิตเล็กๆขนาดสี่เตียงนอนได้ต้อนรับคนหลายสิบจากหลากแบคกราวน์เข้ามาสนทนาอะไรเนิร์ดๆแบบนี้กันถึงดึกดื่น

คุยกันเรื่องดีเอ็นเอและยีนได้ซักพัก “ปลื้ม” ศิลปินนักแต่งเพลงอีกคนที่นั่งอยู่ใกล้ๆกันก็ชวนคุยเรื่อง “มีม (meme)” จากหนังสือ The Selfish Gene ของริชาร์ด ดอว์กินส์ (Richard Dawkins) ที่เขาเคยอ่านมา มีมคือก้อนข้อมูลที่ถูกส่งถ่าย กลายพันธุ์ วิวัฒนาการ และสูญสิ้นได้เหมือนกับข้อมูลพันธุกรรมใน “ยีน (gene)” มีมอาจจะเป็นแนวคิด พฤติกรรม ความเชื่อ สไตล์ วัฒนธรรมฯลฯ มีมที่แข็งแรงก็จะ “ไวรัล” แพร่กระจายไปไกลและคงอยู่กับสังคมมนุษย์ได้นาน มีมที่อ่อนแอก็จะอยู่ประเดี๋ยวประด๋าวแล้วถูกลืมเลือนหายไป

ในมุมศิลปินสิ่งที่ส่งต่อไปเรื่อยๆจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ว่าจะผ่านยีนหรือผ่านมีม สะท้อนถึงการโหยหาความเป็นนิรันดร์ของมนุษย์ ความเชื่อในสิ่งที่จะคงอยู่แม้กายเนื้อจะดับสลายก็คือความเชื่อเรื่องวิญญาณ (spirit) นั่นเอง

ถ้าถามว่าโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน อาร์เอ็นเอ ฯลฯ หน้าตายังไง คนทั่วไปส่วนมากคงนึกภาพไม่ออก แต่ถ้าถามถึงดีเอ็นเอคนส่วนมากจะคิดออกว่ามันคือ “ไอ้ท่อนเกลียวๆ” ที่เกี่ยวกับพันธุกรรม

จะว่าบังเอิญหรืออุปาทานหมู่รึเปล่าก็ไม่รู้ ตั้งแต่เริ่มจัดงาน BioArt คราวนี้พวกเราหลายคนก็เริ่มเห็นอะไรต่อมิอะไรเป็นเกลียวๆ (spiral) ไปหมด บางคนแซวว่าเราอาจจะกำลังเข้าสู่ดินแดนก้นหอยมรณะ (Uzumaki ) แบบในการ์ตูนสยองขวัญเลื่องชื่อของจุนจิ อิโต้ (Junji Ito) 

เกลียวก้นหอยสื่อถึงมนต์สะกด วัฏจักรเวียนว่ายและความพิศวงชวนขนลุก เราเห็นเกลียวก้นหอยในตา emoji มึนงง ในเครื่องหมายปรัศนีแทนความฉงน ในวังน้ำวนและพายุที่ดึงดูดสิ่งต่างๆให้ลับหาย

Weed day จากไต้หวันไล่เก็บเปลือกหอยเกลียวๆรอบแคมปัสมาประกอบงานปรุงเครื่องหอม และเล่าถึงเกลียวก้นหอยใน “อุณาโลม” ตรามงคลของฮินดูที่เราเห็นกันบ่อยๆบนเครื่องรางของขลัง ศิลปินฝั่งไทยอย่างผดุงก็เล่าเรื่องเกลียวก้นหอยสัญลักษณ์แทน “ขวัญ” สูงสุดในร่างกายคนที่อยู่กลางศีรษะ

ส่วนฮิเดโอะหัวหน้าทีม Metaphorest จากญี่ปุ่นเล่นกับเกลียวก้นหอยในมิติของเวลา ฮิเดโอะเป็นหนึ่งในทีมวิจัยแรกของโลกที่ค้นพบกลไกนาฬิกาชีวิต (biological clock) ในสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ทั้งงานวิจัยและศิลปะของฮิเดโอะคงคอนเซ็ปต์เกี่ยวกับวัฏจักร และจังหวะ

จังหวะคือจุดกึ่งกลางระหว่างความแน่นิ่งไร้ชีวิตและความปั่นป่วนไร้ทิศทาง ในที่มืดและเงียบสนิทถ้าคุณได้ยินจังหวะเสียงสม่ำเสมอของน้ำหยด นาฬิกาเดิน หรือลมหายใจ คุณจะรู้สึกตื่นเต้นถึงความมีชีวิต แต่ในที่อึกทึกวุ่นวายด้วยแสงเสียง จังหวะสม่ำเสมอของน้ำหยด นาฬิกาเดิน หรือลมหายใจ จะทำให้คุณรู้สึกสงบลง” ฮิเดโอะเล่าเหตุที่เขาหลงใหลในศาสตร์และศิลป์แห่งจังหวะเวลา “จังหวะเชื่อมต่อสรรพสิ่งทั้งหลายเข้าหากัน นักดนตรีร่วมร้อยในวงออเคสตร้าประสานเสียงได้ด้วยจังหวะ นาฬิกาชีวิตที่ขับเคลื่อนด้วยยีนและเอนไซม์ในสเกลนาโนพ้องจังหวะกับการหมุนตัวของโลก และการโคจรของดวงจันทร์ในสเกลจักรวาล”

ผดุงกับปลื้มสะท้อนประเด็นของฮิเดโอะออกมาในเวิร์กช็อปคืนที่สี่ พวกเราหลายสิบคนที่ต่างลองเคลื่อนไหวร่างกายอิสระไปเรื่อยๆตาม “ขวัญ” กลับมาเข้าจังหวะกันโดยไม่ได้นัดหมาย การรำขวัญปิดท้ายของผดุงด้วยจังหวะเสียงลมหายใจหนักๆผ่านเมโลเดียนของปลื้ม สะกดให้พวกเราสงบ อึดอัดและตื่นเต้นระทึกในเวลาเดียว จังหวะจากเกลียวก้นหอยในมิติเวลามีอำนาจพิศวงบางอย่างแบบที่ฮิเดโอะว่าไว้จริงๆ 

Spiral ก้นหอยและจังหวะเวลาในงาน BioArt

เครดิตภาพ เกลียวดีเอ็นเอ, Weed day: อุณาโลม, ผดุง จุมพันธ์: ประวัติและตำนานขวัญ, นาฬิกาชีวิตและสาหร่ายสีเขียวแก้น้ำเงิน, ผดุง จุมพันธ์ และเขตสิน จูจันทร์: รำขวัญ

ผมนั่งนิ่งพับเข่าชิดอกค้างไว้ รอบห้องโถงขนาดพันตารางเมตรมืดสนิทมีเพียงแสงกระพริบสีส้มจางๆจากโทรศัพท์มือถือตรงหน้าสะท้อนเพดาน เพื่อนร่วมประชุมที่เหลือสิบกว่าคนกระจายกันอยู่เงียบๆในท่าเดียวกัน ดินชาน (Din Chan) นักศิลปะบำบัดชาวสิงคโปร์เดินวนช้าๆรอบห้อง มือเคาะกลองลิ้น (togue drum) ไหล่สะพายตะเกียงอิเล็กทรอนิกส์ที่กระพริบตามจังหวะ เสียงกังวาลในห้องเงียบเติมความขลังให้พิธีกรรม “Prayer” เวิร์กช็อปสุดท้ายของงานชวนเรารำลึกถึงห้าวันแห่งการเรียนรู้ที่เข้มข้นและพิลึกพิสดาร

“ศิลปะคือสิ่งเดียวที่อาจทดแทนประสบการณ์ชีวิตที่เราไม่เคยใช้” อะเลคซันดร์ โซลเซนิตซิน (Aleksandr Solzhenitsyn) นักประพันธ์ชาวรัสเซียในงานรับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษก่อน

ชีวิตมนุษย์สั้นเพียงพริบตาเดียวเทียบกับอายุจักรวาล การรับรู้ (sensory) ใต้ขีดจำกัดของผัสสะทั้งห้าก็เป็นเพียงเสี้ยวของความจริงทั้งมวล วิทยาศาสตร์ขยายขอบเขตการรับรู้ของเราออกไป มอบเครื่องมือสังเคราะห์รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และเปิดทางเข้าถึงอดีตแสนไกลหรืออนาคตที่ยังมาไม่ถึง ศิลปะเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้ เป็นภาพวาด ประติมากรรม การร้องรำ สูตรอาหาร ฯลฯ ทวีคูณประสบการณ์ที่หนึ่งชีวิตเราจะได้รับ

วิทยาศาสตร์เตือนว่ามนุษย์ไม่ใช่ศูนย์กลางของทุกสิ่งแต่เป็นฟันเฟืองเล็กๆของธรรมชาติ ศิลปะชวนเราเปลี่ยนมุมมองผ่านประสบการณ์ของสิ่งรอบตัวที่มีจิตวิญญาณ (spirit) รับรู้ จดจำ และตอบสนองเราได้ เรารับประสบการณ์ที่เราไม่เคยใช้ผ่านชีวิต ไรน้ำ ราเมือก หนอนไหม และปลาทองของ Metaphorest, ผ่านต้นไม้ใบหญ้าของ Weed day, ผ่านขวัญตามเรื่องเล่าของผดุง หรือผ่านปัญญาประดิษฐ์แบบของเวฟและพีพี

ทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะเล่าถึงประสบการณ์ร่วมข้ามเส้นแบ่งของระยะทางและห้วงเวลา คอนเซ็ปต์ของ “เกลียว (spiral)” ที่ปรากฏมาซ้ำๆในงาน BioArt คราวนี้ไม่ได้เป็นเพียงตัวแทนของดีเอ็นเอภาษาสากลของการสืบทอด ส่งต่อและวิวัฒนาการ แต่ยังรวมไปถึงวัฏจักรและจังหวะที่เชื่อมต่อสิ่งทั้งหลายไว้ด้วยกัน

แด่ Sensory, Spirit & Spiral สามบทเรียนจากงาน BioArt ที่อาจนำเราหวนคืนใกล้ชิดธรรมชาติอีกครั้ง

เอกสารอ้างอิงคลิก

———————————————-

โปรดอย่าลืมกดติดตามเพจของ MIC ได้ที่ : Facebook MatichonMIC

__________________________________________________

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image