Science Insights : Light Pillar – เสาแสงสุดสวย โดย ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ

ปรากฏการณ์ทางแสงแปลกตาที่มีการแชร์กันเป็นระยะในโลกออกไลน์ มีลักษณะเป็นลำแสงหลากสีสันพุ่งขึ้นจากพื้นจำนวนมาก เรียกว่าเป็นการแสดงแสงสีที่ตระการตามากทีเดียว 

ผมนำภาพที่เป็นปรากฏการณ์ทำนองเดียวกันมาให้ชม เพื่อให้คุณผู้อ่านลองตั้งชื่อปรากฏการณ์นี้ และลองใช้จินตนาการดูว่า ภาพแสงสีที่เห็นเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? บอกใบ้เล็กน้อยว่า บริเวณที่เกิดปรากฏการณ์นี้ อากาศหนาวเย็นจัด (ให้เวลาคิด 1 นาทีครับ…ติ๊กต่อกๆๆ ^^)

หมดเวลาครับ ต่อไปนี้เป็นเฉลย….ปรากฏการณ์นี้ฝรั่งเรียกตรงไปตรงมาว่า “Light Pillars” แปลสั้นๆ ง่ายๆ ว่า “เสาแสง” 

ประเด็นสำคัญกว่าคือ แล้ว “เสาแสง” นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?  

Advertisement

ลองดูเงื่อนไขที่บอกใบ้ไว้นะครับ คือ อากาศหนาวเย็นจัด ผลก็คือ ไอน้ำในอากาศเปลี่ยนสถานะเป็นผลึกน้ำแข็งโดยตรง 

ผลึกน้ำแข็งเหล่านี้ล่องลอยอยู่ในอากาศ โดยอาจอยู่ตั้งแต่บริเวณใกล้ผิวพื้น และอยู่สูงขึ้นไปพอสมควร

ผลึกน้ำแข็งที่ล่องลอยใกล้ผิวพื้นนี้ บางทีฝรั่งก็เรียกง่ายๆ ว่า ice fog หรือ หมอกน้ำแข็ง แต่ถ้าเป็นศัพท์ทางวิชาการ ก็จะเรียกอย่างไพเราะว่า diamond dust หรือ ฝุ่นเพชร

Advertisement

ลองดูกรณีอุดมคติสักหน่อย สมมติว่าผลึกน้ำแข็งที่เกิดขึ้นมีรูปร่างเป็นแผ่นแบนๆ หน้าตัดหกเหลี่ยม ผลึกเหล่านี้ล่องลอยอยู่สูงบ้างต่ำบ้าง ใกล้แหล่งกำเนิดแสงก็มี ใกล้คนที่กำลังมองปรากฏการณ์เสาแสงอยู่ก็มี อยู่ตรงกลางๆ ระหว่างแหล่งกำเนิดแสงและคนที่กำลังมองก็มี

diagram-Light_Pillars-Les_Cowley
แผนภาพแสดงการเกิดเสาแสง / ภาพโดย Les Cowley

จากแผนภาพแสดงการเกิดเสาแสง จะเห็นแสงสีเหลืองจากหลอดไฟพุ่งขึ้นไปสะท้อนผิวล่างของผลึกน้ำแข็งรูปแผ่น จากนั้นก็จะพุ่งลงสู่พื้น แต่เฉพาะผลึกน้ำแข็งที่อยู่กึ่งกลางพอดีระหว่างหลอดไฟกับคนทางขวาเท่านั้นที่แสงจะพุ่งเข้าสู่ตาของคนนั้น คราวนี้ลองเปลี่ยนเป็นหลอดไฟสีอื่นที่อยู่อีกที่ไม่ไกลนัก ก็จะเข้าใจได้ว่าเหตุใดเสาแสงจึงมีหลากสีสัน

ในความเป็นจริง แผ่นผลึกน้ำแข็งอาจเอียงตัวสะเปะสะปะ ทำให้ผิวหน้าไม่ขนานเป๊ะๆ กับพื้น ผลก็คือ ผลึกที่อยู่ใกล้ๆ กึ่งกลางระหว่างหลอดไฟกับคน ก็อาจสะท้อนแสงเข้าสู่ตาคนมองได้เช่นกัน

การที่เส้นรังสีทั้งหลายที่พุ่งออกจากหลอดไฟไปตกกระทบผิวล่างของแผ่นผลึกไม่ได้ขนานกัน อีกทั้งแผ่นผลึกอาจเอียงตัวดังที่ว่ามาแล้ว ทำให้เราเห็นเสาแสงเป็นเส้นค่อนข้างยาว

 

บางครั้งเสาแสงดูอาจแหว่งในบางช่วงได้เช่นกัน สาเหตุอาจเป็นเพราะว่าที่ระดับความสูงต่างๆ มีผลึกน้ำแข็งแตกต่างกัน บางระดับอาจไม่มีผลึกน้ำแข็งที่เหมาะสมอยู่ (หรือมีอยู่น้อย) หรือบางระดับอาจมีผลึกน้ำแข็งที่จัดเรียงตัวในลักษณะพิเศษต่างจากระดับอื่นๆ ที่เหลือ เป็นต้น

ถึงตรงนี้ อาจมีคุณผู้อ่านสังเกตว่า ถ้าเราอยู่ใกล้แหล่งกำเนิดแสงและผลึกมากๆ ก็จะเห็นเสาแสงอยู่ใกล้ๆ เราด้วย และขอแถมว่าเรายังมีสิทธิ์ลุ้นเห็นปรากฏการณ์ทรงกลด (halo phenomena) รูปแบบอื่นๆ นอกจากเสาแสงเป็นของแถมด้วย (ในทางวิชาการ เสาแสงจัดเป็นการทรงกลดรูปแบบหนึ่งด้วยเช่นกัน)

diagram-Light_Pillars-Height-Les_Cowley
แผนภาพอธิบายระดับความสูงของเสาแสง

ในประเทศไทย ก็อาจเกิดเสาแสงได้เช่นกัน โดยผลึกน้ำแข็งในเมฆซีร์โรสเตรตัสเป็นตัวสะท้อนแสง หากสนใจชมภาพอ่านเพิ่มเติม ข่าวนี้ไปครับ 

เสาแสงจะเห็นสูงแค่ไหนอะไรกำหนด?  คำตอบคือ ยิ่งผลึกน้ำแข็งอยู่สูง ก็ยิ่งเห็นเสาแสงอยู่สูงตามไปด้วย 

ในกรณีสุดโต่ง หากผลึกน้ำแข็งอยู่สูงมาก และแหล่งกำเนิดแสงอยู่ใกล้ เราอาจเห็นเสาแสงหลายเส้นอยู่เหนือศีรษะพุ่งลู่เข้าสู่จุดยอดฟ้า (zenith) ซึ่งน่าจะเป็นภาพประทับใจอย่างยิ่งทีเดียวครับ

Lights_pillars_to_the_zenith-Lauri_Kangas
เสาแสงหลายเส้นพุ่งลู่เข้าสู่จุดยอดฟ้า / ภาพโดย Lauri_Kangas

โปรดอย่าลืมกดติดตามเพจของ MIC ได้ที่ : Facebook MatichonMIC

ที่มาภาพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image