ดีป้า-กูเกิล จับมือจัดหลักสูตรออนไลน์สร้างพลเมืองดิจิทัล รับเศรษฐกิจและสังคมยุคใหม่4.0

นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า นโยบายหลักของรัฐบาลที่จะพาประเทศไทยไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีให้เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม เพื่อวางรากฐานเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก ซึ่งรัฐบาลได้ลงทุนสร้างโครงข่ายเน็ตเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างทักษะดิจิทัลให้แก่ประชาชนให้สามารถเข้าถึง เรียนรู้ และได้ประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างปลอดภัย กระทรวงฯ โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) และ บริษัท กูเกิล ประเทศไทย จึงได้จัดทำหลักสูตร “การพัฒนาทักษะและการเป็นพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizenship – ดิจิทัลซิติเซ่นชิป )” เพื่อสร้างพลเมืองดิจิทัลที่รู้จักใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างสร้างสรรค์  รู้เท่าทัน และมีความรับผิดชอบต่อสังคม อีกทั้งยังเป็นการพัฒนากำลังคนให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล    และยังช่วยสร้างโอกาสเสริมศักยภาพใน การสร้างเศรษฐกิจสร้างรายได้ การศึกษา การสาธารณสุข การเกษตร การค้าขายออนไลน์ ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีทั่วถึงเท่าเทียมกัน

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า ยุคนี้ผู้ที่มีความสามารถทางด้านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลย่อมเป็นผู้ได้เปรียบ ดีป้าจึงพยายามส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถทางด้านการใช้ดิจิทัลให้กับประชาชนเพื่อลดช่องว่างทางดิจิทัลระหว่างคนในชุมชนเมืองและชุมชนห่างไกล ดีป้าจับมือกับพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญอย่างกูเกิล สำหรับการอบรมหลักสูตรดิจิทัลซิติเซ่นชิป ในปีแรกจะมุ่งเน้นไปที่ผู้นำชุมชนดิจิทัล  (Digital Community Leader) เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจและสังคมระดับฐานราก ให้กับชุมชนที่มีความพร้อม จำนวน 4 ครั้งทั่วประเทศในพื้นที่ยุทธศาสตร์ ประกอบไปด้วย พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) , พื้นที่สมาร์ทซิตี้เชียงใหม่ ขอนแก่น และภูเก็ต หลังจากผู้นำชุมชนมีทักษะพลเมืองดิจิทัลจากการอบรมแล้ว สามารถถ่ายทอดให้กับคนในชุมชน ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ www.thaidigizen.com เพื่อทำหน้าที่ขยายผลต่อไปยังประชาชนทุกคนในชุมชน  และที่สำคัญสามารถต่อยอดองค์ความรู้เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ท้องถิ่น โดยขอรับการช่วยเหลือหรืออุดหนุนจากดีป้าในเรื่องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อชุมชนในชนบท (depa Digital Transformation Fund for Community) เพื่อนำไปพัฒนาชุมชนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลสูงสุดไม่เกิน 500,000  บาทต่อโครงการ โดยปัจจุบันดีป้าได้นำร่องจำนวน 22ชุมชน  ผ่านกิจกรรม depa Digitized Community Boot Camp 2018 เดินสายทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการเปิดประสบการณ์ให้ชุมชนนำปัญหาและจุดอ่อนมาแชร์ให้กับสตาร์ทอัพแล้วร่วมกันคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่แก้ไขปัญหาและสร้างประโยชน์ร่วมกัน ทั้งหมดนี้คือแนวทางเพื่อสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเข้าไปขับเคลื่อนพัฒนาสังคมเศรษฐกิจในชุมชน พร้อมกลไกสนับสนุนจะช่วยสร้างและยกระดับธุรกิจนวัตกรรมในเชิงสังคมอย่างเป็นรูปธรรม

นายเบน คิง หัวหน้าฝ่ายธุรกิจ กูเกิล ประเทศไทย กล่าวว่า ดีป้าและกูเกิล จะเริ่มโครงการฝึกอบรมดังกล่าว ให้กับผู้นำชุมชนเพื่อส่งเสริมให้เกิดความเจริญเติบโตของชุมชนชนบททั่วประเทศไทย จำนวน 3,000 แห่งในโครงการเน็ตประชารัฐ และภายในอีก 1 ปีข้างหน้าผู้นำเหล่านี้จะสามารถไปฝึกอบรมผู้คนได้ถึง 24,700 หมู่บ้าน เมื่อได้รับการเชื่อมต่อสัญญาณ ไวไฟไร้สายความเร็วสูงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กูเกิลเชื่อว่าเทคโนโลยีจะสามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนได้อย่างมหาศาล ดังนั้น ไม่เพียงแต่จะมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีประโยชน์ต่อการสร้างความสำเร็จจากแพลตฟอร์มดิจิทัลเท่านั้น แต่กูเกิลยังจะมุ่งมั่นในการให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้งานซึ่งนับว่าเป็นหัวใจหลักของธุรกิจเรา โดยบทบาทสำหรับโครงการนี้ กูเกิลได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรในการพัฒนาหลักสูตรที่ครอบคลุมเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะและการเป็นพลเมืองดิจิทัลให้กับผู้นำชุมชน ด้วยการจัดวิทยากรฝึกอบรม จัดโปรแกรมฝึกอบรมความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับวิธีใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีประโยชน์ต่อชุมชน สร้างความรู้และความเข้าใจในบทบาทและหน้าที่ของพลเมืองดิจิทัลที่ดี สร้างเว็บไซต์ที่นำเสนอเนื้อหาและการใช้วีดิโอส่งเสริมการขายเพื่อใช้สร้างโอกาสทางธุรกิจ โดยความรู้เหล่านี้นับเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการเป็นผู้นำชุมชนที่มีคุณภาพ  ที่พวกเขาสามารถนำไปใช้ในการเปลี่ยนแปลงสร้างรายได้ให้กับชุมชนของพวกเขาเอง  โดยเฉพาะสามารถใช้งานจากเน็ตประชารัฐที่ให้บริการ ไวไฟสาธารณะฟรี ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดตามนโยบายของรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายไว้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image