กนง.ส่งซิกใกล้ขยับดอกเบี้ย ห่วงสงครามการค้าเสี่ยงกระทบเศรษฐกิจ-ส่งออก

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะ เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผย รายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือนมิถุนายน 2561 ว่า กนง.เห็นว่าความจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะเริ่มลดลง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสร้างขีดความสามารถในการดาเนิน นโยบายการเงินในอนาคตจะมีความสำคัญมากขึ้น หากเศรษฐกิจยังคงมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่องและอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ในกรอบเป้าหมายได้ชัดเจนขึ้นในระยะต่อไป ซึ่งที่ผ่านมา กนง. มีการพูดคุยเรื่องนี้ แต่การประชุมในรอบที่ผ่านมามีการพูดคุยกันกว้างขวางมากขึ้น

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง การส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวยังดีต่อเนื่อง แนวโน้มรายได้ภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรจากผลผลิตและค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นส่งผลดีต่อการบริโภค ด้านลงทุนเอกชนขยายตัวได้และโครงการลงทุนภาครัฐทยอยออกมาทั้ง เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) และโครงการร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชน(พีพีพี) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อถูกกระทบจากปัจจัยเชิงโครงสร้างเป็นไปได้ว่าอัตราเงินเฟ้ออาจจะไม่ปรับเพิ่มขึ้นเร็วเมื่อเทียบกับการเร่งตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องไปศึกษาปัจจัยที่มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อในระยะต่อไป

“ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยมากที่สุดคือสงครามการค้าและการตอบโต้จากประเทศคู่ค้า เพราะอาจจะทำให้บรรยากาศการค้าโลกและปริมาณการค้าโลก อย่างไรก็ตาม ผลกระทบปีนี้คาดว่าจะมีผลกระทบไม่มากนักโดยได้ประมาณการผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราภาษีของสหรัฐในวันที่ 6 กรกรฎาคมนี้ไว้แล้ว แต่ยังต้องติดตามผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ในปี 2562 ต่อทั้งกรณีผลกระทบโดยตรงและผลกระทบทางอ้อมจากกรณีที่ไทยเป็นห่วงโซอุปทานให้ประเทศที่ถูกกีดกันทางการค้า รวมทั้งกรณีที่ประเทศที่ถูกกีดกันทางการค้าส่งออกไม่ได้จะต้องหาตลาดใหม่ในการขายสินค้า อาจจะมาแย่งตลาดกับสินค้าไทยและเกิดการทุ่มตลาดได้จะทำให้กระทบกับภาคการส่งออกไทย ดังนั้น ปัจจัยการลงทุนและการใช้จ่ายของภาครัฐจะต้องมีบทบาทมากขึ้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยปีหน้ามากขึ้น ทั้งนี้ ความเสี่ยงอื่น คือ ความผันผวนของตลาดการเงิน ความเข้มแข็งของการบริโภคที่มีแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนสูงและการลงทุนในประเทศที่จะออกมาต่อเนื่องหรือไม่ การเบิกจ่ายภาครัฐที่ล่าช้ากว่าที่ประเมินไว้ คุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงของครัวเรือนรายได้ต่ำและธุรกิจขนาดกลางปละขนาดย่อม และยังที่ต้องติดตามซัพพลายโครงการคอนโดมิเนียมราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทที่คงค้างจำนวนมาก และพบว่าอัตราการขายนานขึ้น ปัจจุบันอยู่ที่ราว 26 เดือน” นายจาตุรงค์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image