นพ.วิชัย เทียนถาวร : การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองท่ามกลางบรรยากาศ‘รัฐประหาร’ (1)

การรัฐประหาร ปี พ.ศ.2490

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีรัฐบาลบริหารประเทศมาหลายรัฐบาลจนมาถึงรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งบริหารประเทศในสมัยที่ 2 ก็ถูกคณะทหารก่อรัฐประหารยึดอำนาจในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 มีสาเหตุเนื่องมาจาก 7 ประการ คือ

1) ความเดือดร้อนของประชาชนอันเนื่องมาจากขาดแคลนข้าวสำหรับบริโภค เนื่องมาจากข้อตกลงสมบูรณ์แบบที่ทำไว้กับอังกฤษ 2) ภาวะเศรษฐกิจเสื่อมโทรมภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อ สินค้าราคาแพงมาก 3) ปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศภายหลังสงครามยุติลง เกิดโจรผู้ร้ายชุกชุมทั้งในพระนครและต่างจังหวัด 4) กรณีรัชกาลที่ 8 สวรรคต ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 ในสมัยรัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งรัฐบาลยังสอบสวนไม่ได้ผลกระจ่างชัด

5) รัฐบาลบริหารงานหย่อนสมรรถภาพเกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวงในวงการรัฐบาลและในหมู่นักการเมือง 6) เกิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลไทย พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน ทำให้ภาพพจน์รัฐบาลเสียหาย 7) ทหารบกไม่พอใจที่ถูกลดบทบาทหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่น ทหารถูกปลดออกจากราชการเป็นจำนวนมาก ในขณะที่สมาชิกขบวนการเสรีไทย ได้รับการยกย่องเป็นผู้ช่วยรักษาอธิปไตยของชาติ แต่ทหารถูกมองว่าเป็นผู้นำประเทศเข้าสู่สงครามและประสบความพ่ายแพ้ การรัฐประหารคราวนี้มีนายทหารนอกประเทศเป็นหัวหน้า เช่น พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ พ.อ.สวัสดิ์ สวัสดิ์รณชัย เป็นต้น

Advertisement

ภายหลังการยึดอำนาจแล้วคณะนายทหารได้มอบหมายให้นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาลเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 เพื่อให้ประเทศมหาอำนาจตะวันตก เช่น สหรัฐ อังกฤษ ให้การรับรอง เพราะขณะนั้นบรรดาประเทศพันธมิตรตะวันตกต่างพากันรังเกียจรัฐบาลเผด็จการ แต่แล้วนายควง อภัยวงศ์ ก็ถูกคณะทหารบีบบังคับให้ลาออกในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2491 หลังจากนั้นจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ได้รับเชิญจากคณะรัฐประหารให้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบไป

จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศ จาก พ.ศ.2491 ไปจนถึง พ.ศ.2500 ในช่วงเวลาเหล่านี้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องเผชิญกับศัตรูทางการเมืองอย่างมากมาย จนกระทั่งรัฐบาลต้องใช้กำลังเข้าจับกุมปราบปรามอย่างรุนแรง

การรัฐประหาร ปี พ.ศ.2500

Advertisement

จอมพล ป. พิบูลสงคราม เข้าบริหารประเทศในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งแต่ พ.ศ.2491 ต่อเนื่องกันมาจนถึง พ.ศ.2500 ก็เกิดรัฐประหารยึดอำนาจจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500 โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก การรัฐประหารนี้ ในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500 มีสาเหตุสืบเนื่องมาจาก : 1) ประชาชนเสื่อมความนิยมจนถึงขีดสุด เพราะพฤติกรรมของรัฐบาลเอง เช่น การทุจริตการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 ทำให้รัฐบาลประสบชัยชนะ ซึ่งเป็นที่สงสัยในหมู่ประชาชนว่า พรรครัฐบาลโกงการเลือกตั้งและฉ้อราษฎร์บังหลวงในหมู่นักการเมืองและข้าราชการ เป็นต้น 2) ความแตกแยกระหว่างผู้นำรัฐบาลกับกลุ่มทหารที่ให้การสนับสนุนผู้บัญชาการทหารบก ด้วยเรื่องผลประโยชน์และอำนาจทางการเมือง 3) การเปิดอภิปรายทั่วไปของพรรคฝ่ายค้าน เพื่อซักฟอกรัฐบาล ทำให้ประชาชนไม่พอใจรัฐบาลมากขึ้น

ดังนั้น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก จึงได้ทำการรัฐประหารอำนาจรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500 หลังจากนั้นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เชิญนายพจน์ สารสิน อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตันและเลขาธิการองค์การสนธิสัญญาป้องกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างสุจริตและยุติธรรม

นายพจน์ สารสิน เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ.2500 และได้ดำเนินการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2500 ผลปรากฏว่าการเลือกตั้งดำเนินไปด้วยความสุจริตยุติธรรม หลังจากนั้นนายพจน์ก็ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และ “พล.ท.ถนอม กิตติขจร” รองผู้บัญชาการทหารบกได้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากนายพจน์ สารสิน

การรัฐประหาร ปี พ.ศ.2501

พล.ท.ถนอม กิตติขจร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ไม่ทันครบปีก็ต้องเผชิญปัญหาทางการเมืองที่สะสมมาอย่างต่อเนื่องหลายประการ เช่น ความขัดแย้งเกี่ยวกับการแต่งตั้งเลขานุการรัฐมนตรี ซึ่งรัฐมนตรีบางคนไม่ยอมรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นเลขานุการ แต่จะตั้งเลขานุการจากบุคคลภายนอก การฉ้อราษฎร์บังหลวงของรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล การเรียกร้องสิทธิพิเศษและผลประโยชน์จากรัฐบาลของบรรดาสมาชิกสภาเพื่อแลกกับการให้การสนับสนุนรัฐบาล ทำให้ พล.ท.ถนอม กิตติขจร ไม่สามารถจะบริหารราชการแผ่นดินต่อไปได้ จึงได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2501 และในคืนวันที่ 20 ตุลาคมนั้นเอง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ พล.อ.ถนอม กิตติขจร ก็ร่วมมือกันยึดอำนาจการปกครอง พร้อมทั้งประกาศยุบสภา ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยกเลิกพรรคการเมือง และจัดตั้งรัฐบาลเผด็จการทหารขึ้นมาแทน

การบริหารประเทศภายใต้นโยบายของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ภายใต้การบริหารประเทศของจอมพลสฤษดิ ์ ธนะรัชต์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ดำเนินไปด้วย “ระบอบเผด็จการโดยเฉียบขาด” แต่จอมพลสฤษดิ์ก็พยายามทุ่มเทความตั้งใจให้กับการพัฒนาประเทศทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจอย่างจริงจัง โดยขาดการพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยให้ก้าวหน้าสืบไป การจัดตั้งสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ สภาการศึกษาแห่งชาติ กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ คณะกรรมการการส่งเสริมการลงทุน การจัดตั้งมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาค การสร้างทางหลวงให้ติดต่อถึงกัน การปราบคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง การปราบอันธพาล เป็นต้น ล้วนแล้วแต่เป็นผลงานที่เกิดขึ้นในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทั้งสิ้น

นอกจากนี้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยังเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ความจงรักภักดีอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำให้เกิดการพัฒนาออกไปอย่างกว้างขวาง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ยกเว้นแต่ในทางการเมืองเท่านั้นที่ยังอยู่ในระบอบเผด็จการ กระทั่งถึงแก่อสัญกรรม ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2508

การรัฐประหารในปี พ.ศ.2514

กรณีจอมพลถนอม กิตติขจร ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2511 หลังจากนั้นก็มีการเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2512 พรรคสหประชาไทยของรัฐบาลได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล โดยมีจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี

หลังจากนั้น จอมพลถนอมปกครองประเทศไปชั่วระยะเวลาหนึ่งก็บังเกิดความยุ่งยากทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง เช่น ปัญหาการเสียเปรียบดุลการค้ากับต่างประเทศ ปัญหาคนว่างงาน ปัญหาพระราชบัญญัติงบประมาณไม่สามารถทำให้รายรับ-รายจ่ายสมดุลกันได้ จนรัฐบาลต้องเพิ่มภาษี การฉ้อราษฎร์บังหลวงและการทุจริตในวงราชการ การขัดแย้งในคณะรัฐมนตรี การต่ออายุราชการภายหลังเกษียณอายุของจอมพลถนอม กิตติขจร และพฤติการณ์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางกลุ่มเรียกร้องผลประโยชน์โดยมิชอบ หรือแลกเปลี่ยนกับการให้การสนับสนุนรัฐบาล

ปัญหาเหล่านี้แทนที่จอมพลถนอม กิตติขจร จะเลือกเอาวิธีลาออกหรือปรับปรุงคณะรัฐมนตรี แต่กลับใช้วิธีการก่อรัฐประหารยึดอำนาจ ในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2514 การยึดอำนาจดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดกรณี “14 ตุลาคม 2516” ในเวลาต่อมา

การชุมนุมเรียกร้องรัฐธรรมนูญและกรณีวันมหาวิปโยค พ.ศ.2516

กรณีจอมพลถนอม กิตติขจร ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจ ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 ยกเลิกพรรคการเมือง ยุบสภาและจัดตั้งรัฐบาลเผด็จการขึ้นบริหารประเทศได้สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันกับขบวนการนิสิตนักศึกษาก็สามารถรวมตัวกันได้ภายใต้องค์กรที่มีชื่อว่า… “ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย” เริ่มรณรงค์ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นจนกระทั่งมาถึงการต่อต้านพฤติกรรมอันมิชอบของบุคคลในวงการรัฐบาล

การรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นของบรรดานิสิตนักศึกษาได้นำไปสู่การเรียกร้องรัฐธรรมนูญของนิสิตนักศึกษาและอาจารย์มหาวิทยาลัย 13 คน เมื่อคณะบุคคลผู้รณรงค์เลือกร้องรัฐธรรมนูญออกเคลื่อนไหว ทางรัฐบาลก็ดำเนินจับกุมขบวนการนิสิตนักศึกษาและประชาชน ซึ่งชุมนุมประท้วงรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยบุคคลทั้ง 13 คน จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ได้บานปลายจนกลายเป็นการนองเลือดในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 อันเป็นที่รู้จักกันดีว่า… “วันมหาวิปโยค”

ด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้สถานการณ์คลี่คลายลงได้ในที่สุด จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด จอมพลประภาส จารุเสถียร รองนายกรัฐมนตรีและรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ลาออกจากตำแหน่งและเดินทางออกนอกประเทศ สถานการณ์จึงกลับคืนสู่ความสงบ

หลังจากนั้นได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมกันนั้นก็มีการจัดตั้ง “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” เพื่อทำหน้าที่พิจารณากฎหมาย ควบคุมการบริหารของรัฐบาล และร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยด้วย

ครั้นถึงวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2517 ก็ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2517 และรัฐบาลได้เปิดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2518 เกิดรัฐบาลประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2517 จัดตั้งรัฐบาล “สหพรรค” โดยมีนายกรัฐมนตรี คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช พรรคกิจสังคม มีสมาชิก 18 เสียงเท่านั้น ซึ่งจะกล่าวต่อไปในฉบับหน้า นะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image