“ศิริ”สั่งสนพ.ดูแลแอลพีจี หลังกองทุนฯเหลือเงินน้อยไม่พออุดหนุน

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.)ได้มอบหมายให้สำนักนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)ไปศึกษาทบทวนมาตรการการดูแลราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี)ภาคครัวเรือน ที่ก่อนหน้านี้กบง.ได้กำหนดตรึงราคาไว้ไม่เกิน 363 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม(กก.) ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อให้สอดรับกับทิศทางราคาแอลพีจีตลาดโลกและฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงบัญชีแอลพีจี ซึ่งปัจจุบันเงินยังไม่หมดแต่มีไม่มากนักจึงต้องระมัดระวัง

” ยืนยันว่าจะยังสามารถรักษาระดับราคาแอลพีจีที่ 363 บาทต่อถัง15กก.ไว้ต่อ โดยยังไม่ได้ยกเลิกนโยบาย แต่มอบให้สนพ.พิจารณาแนวทางการดำเนินงานและความเหมาะสมถึงมาตรการ ที่จะรองรับกรณีที่หากเงินหมดและรวมถึงราคาตลาดโลกในช่วงต่อไปจะเป็นอย่างไรด้วย แล้วนำกลับมาเสนอในการประชุมกบง.ครั้งหน้า”นายศิริ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงล่าสุด ณ วันที่ 1 กรกฏาคม 2561 สุทธิอยู่ที่ 30,242 ล้านบาทแบ่งเป็นบัญชีแอลพีจีเหลือเงินอยู่ที่ 99 ล้านบาท และบัญชีน้ำมัน อยู่ที่ 30,143 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมา กบง.ใช้เงินจากกองทุนฯชดเชยราคาขายปลีกแอลพีจีที่ระดับ 4.03 บาทต่อกิโลกรัม หรือเดือนละ 346 ล้านบาท หากไม่มีมาตรการใดเข้ามาบริหารจัดการอาจส่งผลให้เงินในบัญชีแอลพีจีหมดลง

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา นายศิริเคย ระบุถึงแนวทางบริหารจัดการหากเงินในบัญชีแอลพีจีหมดลง สามารถโยกเงินจากบัญชีน้ำมันมาดูแลได้ แต่จะไม่ใช่การอุดหนุนข้ามประเภทแบบถาวรเหมือนในอดีตจนกองทุนฯมีภาระถึง 8 หมื่นล้านบาท แต่อาจเป็นลักษณะการยืมเงินบัญชีน้ำมันฯมาบริหาร ก่อนจากนั้นค่อยทยอยจ่ายคืนภายหลังเมื่อราคาแอลพีจีตลาดโลกลดลง

Advertisement

ขณะที่ สนพ.เคยศึกษาแนวทางรองรับไว้ อาทิ 1.วิธีการเหนียวหนี้ เป็นการชะลอการจ่ายเงินให้โรงกลั่นและโรงแยกฯ 2.ยืมเงินกองทุนน้ำมันมาชดเชยบัญชีแอลพีจีซึ่งแนวทางนี้จะไม่มีภาระดอกเบี้ย และ3.กู้เงินจากสถาบันการเงินต่างๆมาอุดหนุนราคา

นายสุรศักดิ์ อยู่คงพัน นายกสมาคมผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) กล่าวว่า สมาคมฯได้หารือกับสนพ.และกรมการค้าภายใน เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการตรึงราคาแอลพีจี 363 บาทต่อถัง(15กก.) โดยสมาคมฯต้องการให้ประกาศเป็นราคาแนะนำหน้าร้านเพื่อความชัดเจน เนื่องจากราคาดังกล่าวหากเป็นราคาควบคุมทำให้ร้านค้าส่วนใหญ่ต้องบวกค่าขนส่งไปถึงผู้บริโภค เพราะราคาควบคุมมีต้นทุนสูงขึ้นมากไม่คุ้มกับค่าการตลาดที่ได้รับ นอกจากนี้ ต้องการให้กระทรวงพลังงานทบทวนการประกาศราคาแอลพีจี กลับไปเป็นรายเดือนเพราะราคาที่ประกาศอ้างอิงตลาดโลกรายสัปดาห์ ในทางปฏิบัติมีความยุ่งยาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image