คพ.เฮ ชนะคดีฉ้อโกงสัญญา-ที่ดินคลองด่าน จ่อถกฝ่ายกฎหมายฟ้องแพ่งเรียกคืนค่าโครงการ 2 หมื่นล้าน

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวถึงกรณีศาลฎีกามีคำพิพากษากลับคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินและฉ้อโกงสัญญาก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ รวมมูลค่า 2.49 หมื่นล้านบาท ลงโทษตัดสินจำคุกจำเลย 18 รายที่มีทั้งบุคคลและนิติบุคคลนั้น ว่า ได้รับรายงานกรณีดังกล่าวแล้ว จากนี้ คพ.จะเรียกประชุมเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย เพื่อรวบรวมข้อมูลคำพิพากษาของศาลฎีกานำมาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจากผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยคาดการณ์ว่าน่าจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายของโครงการกว่า 2 หมื่นล้านได้คืนทั้งหมด และจะรายงานเรื่องนี้ให้พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรฯ และรัฐบาลทราบต่อไป

นายเฉลา ทับทิมทอง แกนนำชาวคลองด่าน กล่าวว่า ดีใจที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวออกมา จากนี้ก็เป็นเรื่องของ คพ.ที่ต้องเร่งฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทดแทนจากค่าโครงการที่กิจการร่วมค้าฯ เบิกจาก คพ. โดยต้องเร่งดำเนินการภายในระยะเวลา 1 ปีหลังศาลฎีกามีคำพิพากษาจะช้าไม่ได้เพราะคดีจะหมดอายุความ โดยชาวคลองด่านจะเข้าไปยื่นหนังสือในประเด็นนี้ต่อ คพ.ในเร็วนี้ๆ อย่างไรก็ตามชาวคลองด่านขอให้ คพ.มีการตรวจสอบการว่าจ้างผู้แลโครงการระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่านด้วยว่ามีความโปร่งใสหรือไม่ เบื้องต้นทราบว่ามีการว่าจ้างยามรักษาความปลอดภัยดูแลโครงการถึงปีละ 8 ล้านบาท แต่การดูแลรอบๆพื้นที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

นายเฉลา กล่าวว่า ที่สำคัญอยากให้ภาครัฐเร่งดำเนินการในเรื่องการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ก่อสร้างระบบโครงการระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ซึ่งองค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) ได้มารับฟังความเห็นของประชาชนไว้เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา โดยชาวชุมชนคลองด่านมีข้อเสนอ 6 ข้อ เช่น ขอให้อจน.ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล ตรวจสอบว่าสิ่งก่อสร้างใดไม่เป็นไปตามสัญญาและส่งข้อมูลให้ คพดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องต่อไป พื้นที่โครงการ 1,900 ไร่ ที่ผู้รับเหมานำมาขายให้รัฐนั้น ผู้รับเหมาใช้จริงเพียง 600 ไร่ ที่เหลือเป็นพื้นที่ป่าชายเลนสมบูรณ์ 1,300 ไร่ ขอให้เอากลับมาและพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศป่าชายเลน ในเรื่องสิ่งก่อสร้างที่สร้างทิ้งไว้ทับลำคลองสาธารณะประโยชน์ 6 แห่ง ขอให้รื้อออกและเอาคลองคืนมาเพื่อเป็นทางระบายน้ำออกสู่ทะเลในภาวะน้ำมากหรือน้ำท่วม ให้ท้องถิ่นจัดการพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยปรับอาคารเป็นจุดบริการเรือนำเที่ยวและส่วนหนึ่งให้จัดพื้นที่ไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ระบบน้ำเสียคลองด่าน เนื้อที่ตอนเหนือโครงการ ที่ผู้รับเหมาถมพื้นที่แล้ว ให้เอกชนเช่าปรับเป็นสวนสนุก สวนน้ำหรือพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ และ ขอให้รัฐบาลนำโครงการที่หน่วยงานต่างๆ ได้ศึกษาไว้แล้ว เช่น ของกระทรวงอุตสาหกรรมในฝั่งตะวันตก และกระทรวงมหาดไทย ฝั่งตะวันออกของจ.สมุทรปราการ มาดำเนินการต่อ เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image