14 ปี เงินกู้ช.พ.ค.”ครูหนี้บาน” 4 แสนล้าน ใครรวย??

“หนี้สินครู”เป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกตลอดช่วง10กว่าปีทีผ่านมา หลายรัฐบาลพยายามเข้ามาแก้แต่ก็ยังไม่เห็นผลเท่าไรนัก

ครูจำนวนมากมีหนี้สินขั้นวิกฤต เงินเดือนเหลือไม่พอใช้จ่าย

จากข้อมูลของ สำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู หรือ”สกสค.” มีครูกลุ่มนี้ จำนวน 3 หมื่นคน มีหนี้สินเฉลี่ยคนละ 2-3 ล้านบาท

ปีที่ผ่านมาสกสค.ทำโครงการนำร่องให้รวมหนี้สินที่ครูมีทั้งหมดเป็นก้อนเดียว สกสค.จะส่งเงินชำระหนี้ผ่านสหกรณ์ออมทรัพย์ครู โดยครูต้องมาทำสัญญากู้เงิน และผ่อนชำระที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครู โดยคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำไม่เกินร้อยละ 3.5 ต่อปี และห้ามครูก่อหนี้เพิ่ม เพื่อให้ครูมีระเบียบวินัยทางการเงิน

Advertisement

น่าเสียดายโครงการนี้ถูกได้ยกเลิกไปหลังมีเลขาธิการสกสค.คนใหม่

ปัจจุบันตัวเลขหนี้สินครูที่มีอยู่หลายแสนล้านบาทรวมกันเกือบทั้งหมดมาจากโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิกการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) หรือโครงการเงินกู้ช.พ.ค.

ย้อนไปเมื่อปี 2547 มีการปล่อยกู้โครงการสวัสดิการเงินกู้ช.พ.ค.1 โดยธนาคารกรุงไทย วงเงินกู้สูงสุด 2 แสนบาท มียอดกู้ 37,000 บัญชี จำนวนเงินรวม 7,000 กว่าล้านบาท

Advertisement

ก่อนธนาคารออมสินจะเข้ามาปล่อยกู้ในโครงการเงินกู้ช.พ.ค.2และ 3 วงเงินกู้เท่าเดิมในวันที่ 17 ต.ค.48 และ 1 ม.ย.49 ตามลำดับ โดยมียอดกู้ 183,974 บัญชี จำนวนเงิน 36,771 ล้านบาท

จากนั้นในวันที่ 1ก.พ.51 ได้ปล่อยกู้โครงการเงินกู้ช.พ.ค.4 วงเงิน 2 แสนบาท ยอดกู้ 47,987 บัญชี จำนวนเงิน 9,531 ล้านบาท

อย่างไรก็ดีได้มีการปรับเพิ่มเพดานสูงสุดในการกู้จาก 2แสนบาท เป็น 6แสนบาท ในโครงการเงินกู้ช.พ.ค.5 ในวันที่ 1มิ.ย.52 ทำให้มียอดกู้ 177,478 บัญชี จำนวนเงิน 102,113 ล้านบาท

ในโครงการเงินกู้ช.พ.ค.6 และ 7 ที่เกิดขึ้นในปี 53-54 ได้ปรับเพดานเงินกู้เพิ่มอีกเท่าตัว เป็น 1.2ล้านบาท และ 3ล้านบาท มีครูจำนวนมากยื่นกู้รวมกันกว่า 5 แสนบัญชี จำนวนเงิน 600,000 ล้านบาท

กว่า 14 ปี ตั้งแต่โครงการเงินกู้ช.พ.ค.1ถือกำเนิดจนถึงโครงการล่าสุด ปล่อยกู้ไปแล้ว 7 แสนกว่าล้านบาท ยอดหนี้คงเหลือ 4 แสนล้านบาท

แม้โครงการเงินกู้ช.พ.ค.ก่อกำเนิดเพื่อหาสวัสดิการเงินกู้ให้แก่ครูที่เป็นสมาชิก ช.พ.ค.กว่า 9 แสนคน เช่น การนำเงินไปซื้อหรือสร้างบ้าน การใช้จ่ายเพื่อการศึกษา การนำเงินไปลงทุนต่างๆ เป็นต้น

แต่ในอดีตที่ผ่านมามักมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลประโยชน์มหาศาล ที่มาพร้อมกับโครงการนี้ โยงหลายฝ่ายโดยเฉพาะอดีตผู้บริหารสกสค.

ที่เป็นประเด็นมากจนครูออกมาเรียกร้องให้ปรับเงื่อนไขการปล่อยกู้ในโครงการเงินกู้ช.พ.ค.5 ที่บังคับให้ผู้กู้ต้องทำ”ประกันสินเชื่อ”ทุก 9 ปี เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่บุตรหลานหากผู้กู้เสียชีวิต

ก่อนจะมีการปรับเงื่อนไขในเวลาต่อมาโดยหากไม่ต้องการทำประกันสินเชื่อต้องหาผู้ค้ำประกันมาเพิ่มตามวงเงิน

ถึงกระนั้นก็ยังยากในทางปฏิบัติที่จะหาคนค้ำประกันทำให้ส่วนใหญ่ต้องจำยอม ทำประกันสินเชื่อ

ทั้งนี้เงื่อนไขทำประกันสินเชื่อเริ่มมาตั้งแต่โครงการที่ 5-7 วงเงินกู้ 600,000-3,000,000 บาท เสียเบี้ยประกัน 9 ปี เริ่ม 33,480 – 186, 300 บาท

ประเมินคร่าวๆแล้วเม็ดเงินที่ครูต้องจ่ายไปกับการทำประกันส่วนนี้อาจมากถึง 4 หมื่นกว่าล้านบาท

จึงเกิดคำถามว่าเม็ดเงินส่วนนี้ใครได้ประโยชน์มากที่สุด

นอกจากกรณีดังกล่าวแล้วยังมีประเด็นอัตราดอกเบี้ย ตั้งแต่โครงการเงินกู้ช.พ.ค.1-7 ครูต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราใน MLR-MLR-0.85 มีข้อสงสัยว่าเหตุใด“สกสค.”ไม่เจรจาต่อรองเพื่อให้ได้ครูได้อัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่านี้

เพราะหากเทียบกับโครงการสวัสดิการเงินกู้ของภาครัฐ และเอกชนด้วยกันแล้ว หลายแห่งมีอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่านี้

เหล่านี้คือภาพรวม 14 ปี ของโครงการสวัสดิการเงินกู้ช.พ.ค. ที่มีเม็ดเงินสูงกว่างบประมาณทั้งปีของกระทรวงศึกษาธิการ

สิ่งที่สะท้อนภาพได้ชัดคือ ทุกอย่างการยังยึดโยงตัวเลขผลกำไร และผลประโยชน์

ครูในฐานะลูกหนี้รายใหญ่ หากยังไม่หยุดสร้างหนี้ก็ยากที่จะหลุดพ้นจากหนี้สินที่มีแต่จะเพิ่มพูนขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image