ประชาธิปไตย กับการเลือกตั้งกัมพูชา

Cambodian Prime Minister Hun Sen waves to supporters during his Cambodian People's Party's campaign in Phnom Penh, Cambodia, Saturday, July 7, 2018. The official campaigning period for July 29 general election began with Hun Sen's ruling party virtually assured victory after the only credible opposition party was dissolved last year. (AP Photo/Heng Sinith)

กัมพูชากำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้งในวันที่ 29 กรกฎาคมนี้ เป็นการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าไปเพื่อจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศไปอีก 5 ปี

เป็นการเลือกตั้งที่นักสังเกตการณ์ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า คาดเดาผลลัพธ์กันได้ล่วงหน้าว่าพรรคไหนจะได้ครองเสียงข้างมาก หรือทั้งหมด และใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี

ฟันธงกันตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้นช่วงหาเสียงอย่างเป็นทางการว่า พรรคประชาชนกัมพูชา (ซีพีพี) นอนมาแน่นอน และ สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน ก็จะดำรงตำแหน่งต่อไปอีก 5 ปีหลังจากที่ปกครองกัมพูชามาต่อเนื่องตลอด 33 ปีที่ผ่านมา

ตามตำรา การเลือกตั้งเป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งในการปกครองระบอบประชาธิปไตยและเป็นเครื่องบ่งชี้ความเป็นประชาธิปไตยประการหนึ่ง

Advertisement

แต่หลายคนบอกว่า การเลือกตั้งในกัมพูชาหนนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย หรืออย่างน้อยที่สุด การเมืองการปกครองในกัมพูชาก็เป็นประชาธิปไตยแต่เพียงในนาม เนื้อหานั้นไม่ใช่เด็ดขาด

เสียงบอกกล่าวเช่นนี้ดังมากขึ้นตามลำดับ หลังจากที่มีการฟ้องร้องกล่าวหา เก็ม โสคา ประธานพรรคกู้ชาติกัมพูชา (ซีเอ็นอาร์พี) ในข้อหาทรยศ สมคบกับต่างชาติล้มล้างรัฐบาล ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ แล้วข้อกล่าวหาเดียวกันนั้น ก็เป็นเหตุให้ศาลสั่งยุบพรรคซีเอ็นอาร์พี พรรคฝ่ายค้านสำคัญเพียงพรรคเดียวที่ทำผลงานได้ดี ใกล้เคียงที่สุดที่จะเอาชนะซีพีพีได้ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เมื่อปี 2013

ก่อนหน้านั้นฮุน เซน และสมัครพรรคพวกก็กล่าวหาเล่นงาน สม รังสี อดีตประธานพรรคและผู้ร่วมก่อตั้งพรรคซีเอ็นอาร์พี ด้วยคดีการเมืองหลายคดีจนต้องหนีออกนอกประเทศ ไปใช้ชีวิตลี้ภัยอยู่ในกรุงปารีส

Advertisement

คนที่ช่างสังเกตบอกว่า จริงๆ แล้ว หลังเกือบแพ้เลือกตั้งครั้งที่แล้ว ฮุน เซน ทำทุกอย่าง ทุกวิถีทางเพื่อให้แน่ใจว่าเรื่องเช่นนั้นต้องไม่เกิดขึ้นอีก

สิ่งแรกที่ทำก็คือการปิดปาก ตัดเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ตัวบุคคลในรัฐบาล และในพรรคซีพีพี ออกไปจนหมด ไล่ตั้งแต่วิทยุ เรื่อยไปจนถึงหนังสือพิมพ์และสื่อใหม่ทั้งหลาย

มาตรการนั้นกล่าวหากันว่ามีตั้งแต่การปั้นหลักฐานเท็จกล่าวหาจับเข้าคุก เรื่อยไปจนถึงการเอาชีวิต กรณีของ เก็ม เลย ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์โยงใยของนายกรัฐมนตรีกับคนในตระกูลกับธุรกิจมูลค่าเป็นพันล้านดอลลาร์ได้ 2 วันก็ถูกยิงเสียชีวิต คือตัวอย่างที่ดีที่สุด

สื่อวิทยุที่นำเนื้อหาที่เป็นอิสระจากบีบีซี, วีโอเอ และอาร์เอฟเอ มาออกอากาศ ก็ถูกยึดเวลาออกอากาศคืนบ้าง ถูกถอนใบอนุญาติบ้าง

หนังสือพิมพ์อิสระ ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมากๆ อย่าง แคมโบเดีย เดลี วันดีคืนดีก็ถูก กรมสรรพากร ยื่นเก็บภาษีย้อนหลังหลายสิบล้านดอลลาร์ ไม่มีเงินจ่ายก็ต้องปิดตัวไป ที่น่าสังเกตก็คือ อธิบดีกรมสรรพากรกัมพูชา เป็นกรรมการกลางพรรคซีพีพี

พนมเปญ โพสต์ หนังสือพิมพ์อิสระที่เหลือเพียงฉบับเดียว หลังสุดก็ถูกซื้อกิจการ นักธุรกิจชาวมาเลเซียที่มาซื้อคือหนึ่งในเพื่อนต่างชาติของท่านผู้นำ

รัฐบาลกัมพูชา พยายามจะบอกกับโลกว่า ถึงไม่มีซีเอ็นอาร์พี เลือกตั้งของกัมพูชาก็ยังเป็นประชาธิปไตย ยังเป็นระบบหลายพรรค ไม่ใช่ซีพีพีเป็นผู้ผูกขาด

ข้อเท็จจริงก็คือ การเลือกตั้งครั้งนี้มีพรรคส่งคนลงสมัครรวม 20 พรรค แต่อีก 19 พรรคนั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นพรรคการเมืองหน้าใหม่ ที่เอ่ยชื่อไปไม่รู้จักกันทั้งนั้น

มีพรรคเก่าแก่อยู่บ้าง อย่างเช่น พรรคฟุนซินเปก ของเจ้ารณฤทธิ์ หรือ พรรคสันนิบาติเพื่อประชาธิปไตย (แอลดีพี) แต่ก็เสื่อมความนิยมไปมาก ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มีคนกัมพูชาลงคะแนนให้เพียง 3.6 เปอร์เซ็นต์และ 1 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ กับอีกบางพรรคอย่างเช่น พรรคยุวชนกัมพูชา (ซีวายพี) ของ พิช สรส ก็เห็นได้ชัดว่าเป็นพรรคที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนซีพีพี

จริงๆ แล้ว ซีวายพีคือพรรคที่หยิบเรื่องซีเอ็นอาร์พีมาฟ้องจนเป็นที่มาของการยุบพรรคนั่นแหละ
ที่เหลือส่วนใหญ่แล้วก่อตั้งพรรคขึ้นมาเมื่อไม่นานมานี้ มีอายุแค่เพียงเดือนเศษๆ ก่อนถึงเลือกตั้งเท่านั้น และแทบทั้งหมดมีงบประมาณใช้ในการเลือกตั้งเพียงแค่ 1 ใน 7 หรือน้อยกว่านั้นเมื่อเทียบกับซีพีพี

เหล่านี้คือเหตุปัจจัยโดยคร่าวๆ ที่ทำให้สหรัฐอเมริกา และ สหภาพยุโรป ประกาศยกเลิกการสนับสนุนทางการเงินต่อการเลือกตั้งหนนี้ และไม่ถือว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีความชอบธรรม

โรห์นา สมิธ ทูตพิเศษประจำกัมพูชาของสหประชาชาติ ยืนยันเช่นกันว่า ไม่ว่าจะอ้างอย่างไร การเลือกตั้งกัมพูชาครั้งนี้ก็ไม่มีความชอบธรรม และไม่เป็นประชาธิปไตย

แม้จะพยายามทำเปลือกนอกให้สวยหรูอย่างไรก็ตามที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image