พณ.จับมือศุลกากร-เอกชน ป้องสวมสิทธิเหล็กไทยไปสหรัฐ

นายวันชัย วราวิทย์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมอยู่ระหว่างการตรวจสอบการสวมสิทธิเหล็กไทยเพื่อส่งออกไปตลาดสหรัฐ หลังจากที่สหรัฐได้ใช้มาตรการ 232 กฎหมายการค้า Trade Expansion Act ปี 1962 ขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากทั่วโลก รวมถึงไทย โดยได้มีการหารือกับกรมศุลกากรขอให้ตรวจสอบสินค้าเหล็กที่นำเข้ามาในประเทศ และที่ส่งออกไปสหรัฐว่าเป็นแหล่งของไทยจริงหรือไม่ และให้เน้นเฉพาะเหล็กที่เป็นรายการอ่อนไหวที่สหรัฐขึ้นภาษีเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันไม่ให้มีปัญหาการสวมสิทธิเหล็กไทยเกิดขึ้น เพราะสหรัฐอาจจะเพ่งเล็งไทยเพิ่มขึ้น และกระทบต่อการส่งออกเหล็กของไทยได้

ทั้งนี้ กรมยังได้ดึงสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้เข้ามาช่วยดูแลผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกด้วย เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น และยังมีแผนที่จะนัดหารือกับตัวแทนกรมศุลกากรของสหรัฐในสัปดาห์นี้ เพื่อสอบถามข้อมูลให้ชัดเจนว่าสหรัฐขึ้นภาษีสินค้าเหล็กรายการใดบ้าง และมีความกังวลเหล็กชนิดใดเป็นพิเศษที่จะทะลักเข้าสหรัฐ และถ้ามีความกังวลจะมีมาตรการแก้ไขยังไง เพื่อร่วมมือกันในการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการสวมสิทธิเกิดขึ้น

“เบื้องต้นมีข้อมูลจากสหรัฐว่ามีสินค้าที่เข้าข่ายต้องสงสัยว่าจะมีการสวมสิทธิเป็นสินค้าไทยแล้วส่งออกไปสหรัฐ เช่น ใบเลื่อย ไม้แขวนเสื้อ และตะปู ซึ่งเป็นสินค้าที่สหรัฐใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) กับประเทศต่างๆ โดยขณะนี้ กรมอยู่ระหว่างการตรวจสอบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากพบเอกชนรายใดกระทำผิดจะขึ้นบัญชีดำ และจะระงับออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O) ในการส่งออกสินค้านั้นๆ ทันที ” นายวันชัยกล่าว

นายวันชัยกล่าวว่า สำหรับการขอให้สหรัฐยกเว้นการเก็บภาษีเป็นรายสินค้า กรมขอแนะนำให้ผู้ประกอบการไทยไปหารือกับผู้นำเข้าเพื่อให้ยื่นขอยกเว้นกับกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ โดยมีหลักสำคัญ คือ สินค้านั้นต้องเป็นสินค้าที่สหรัฐผลิตไม่ได้ หรือไม่ผลิต เพราะถ้าไปยื่นขอยกเว้น จะไม่มีใครมาโต้แย้ง โดยสินค้าที่มีโอกาสสูง เช่น ท่อเหล็ก แต่ก็ยังไม่มีใครยื่นโดยใช้กรณีนี้ มีแต่ยื่นกรณีอื่น ได้แก่ ทำสัญญามาก่อนที่สหรัฐจะใช้มาตรการ
ส่วนการขอยกเว้นเป็นรายประเทศ ขณะนี้ น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์กำลังอยู่ระหว่างการเดินทางไปสหรัฐ และได้มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นหารือกับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐแล้ว ซึ่งต้องรอผลว่าเป็นยังไง แต่กรมมองว่า ไม่ว่าจะได้รับการยกเว้นกรณีเป็นรายสินค้าหรือรายประเทศ หากทำได้ ก็ถือว่ามีผลดีต่อไทย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image