ธปท.เรียกความเชื่อมั่น! แนะแบงก์ลงทุนไอทีเพิ่มป้องกันภัยไซเบอร์-โมบายแบงกิ้งล่ม

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สถาบันการเงินมีความตื่นตัวด้านเทคโนโลยี เช่น การพัฒนาระบบพร้อมเพย์ ด้านเทคโนโลยีบล็อกเชนที่สถาบันการเงินหลายแห่งอยู่ระหว่างการร่วมมือกันพัฒนาระบบเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ ซึ่งความท้าทายคือการที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วและมีความเสี่ยงใหม่ด้านภัยทางไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้น ต้องมีมาตรการป้องกันและเมื่อเกิดเหตุต้องตอบสนองและแก้ไขได้รวดเร็ว ซึ่งเรื่องสำคัญคือกฎหมายที่เกี่ยวข้องต้องเท่าทันและยืดหยุ่นเพื่อให้รองรับ ทั้งนี้ ภาคการเงินต้องเชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจจริงอื่นๆ และเชื่อมโยงผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โทรคมนาคม เพราะปัจจุบันมีการทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงกิ้งมากขึ้น และโมบายแบงกิ้งมีความสำคัญเทียบเท่าสาขาของสถาบันการเงิน ซึ่ง ธปท.ได้มีการทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการกิจการกระจายเสียง กิจการ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชี้ นอกจากนี้ ยังมีการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ

นายวิรไทกล่าวว่า กรณีที่สถาบันการเงิน 2 แห่งถูกแฮกข้อมูลนั้น ภัยทางไซเบอร์ถือเป็นความเสี่ยงรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่เฉพาะกับสถาบันการเงินเท่านั้น ดังนั้น จะต้องรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ จากกรณีดังกล่าวไม่มีความเสียหาย โดยสถาบันการเงินได้เข้าไปแก้ไขอุดช่องโหว่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายและได้เข้าไปตรวจระบบภาพรวม ทั้งยังได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับสถาบันการเงินอื่นๆ เพื่อให้มีการป้องกันว่ามีการแฮกเข้ามาอย่างไร หรือมัลแวร์ตัวไหน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปเร็วภาคส่วนอื่นๆ ก็ต้องให้ความสำคัญและมีการป้องกันความเสี่ยงด้วย

“ธปท.ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์โดยที่ผ่านมา ได้มีการประชุมร่วมกับผู้บริหารของสถาบันการเงินว่าต้องให้ความสำคัญเรื่องนี้ คณะกรรมการของธนาคารต้องมีคนที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านไอที ทั้งนี้ ควรมีการประเมินความเสี่ยงและบูรณาการแผน นอกจากนี้ ทั้งสถาบันการเงิน และบริษัทเนชั่นแนลไอทีเอ็มเอ็กซ์ที่เป็นผู้ดูแลระบบชำระเงิน จะต้องมีการลงทุนด้านไอทีเพื่อป้องกันความเสี่ยงและเพื่อรองรับการบริการใหม่และทำธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นจากจำนวนลูกค้าเปลี่ยนมาใช้งานช่องทางอิเล็กทรอนิกส์หลังจากธนาคารยกเลิกการคิดค่าธรรมเนียมทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้การทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงกิ้งอาจจะมีการติดขัดหรือปริมาณธุรกรรมกระจุกตัวในบางเวลาอย่างในสัปดาห์ที่ผ่านมา” นายวิรไทกล่าว

นายวิรไทกล่าวในงานสัมมนาวิชาการในหัวข้อ “Innovative Finance for Future Growth” จัดโดย ADBI และ ธปท. ว่า ในระยะต่อไปจะเห็นการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็วของเทคโนโลยีที่จะมีผลต่อการเงินซึ่งถือเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน  บริการทางการเงินไม่ทั่วถึงและมีต้นทุนสูง เช่น ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ภาคเกษตร เป็นต้น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะต้องอาศัยความร่วมมือภาครัฐและเอกชน  รวมทั้งต้องมีการบริหารความเสี่ยงจากเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามา ดังนั้น การออกแบบรูปแบบการให้บริการทางการเงินจะต้องประสานกันระหว่าง 3 หน่วยงาน คือ 1.ผู้กำกับดูแล เช่น ธปท. กลต. คปภ. กระทรวงการคลัง 2.ผู้ให้บริการการเงิน หรือสถาบันการเงินและผู้บริหาร และ 3.นักวิชาการ 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image