กรมส่งเสริมเกษตรเผยเกษตรกรเดือดร้อนจากภัยพิบัติแล้ว23จว.กว่าแสนราย

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากประกาศเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยาเรื่องพายุเซินตีญที่อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันและเคลื่อนผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม และเตือนอย่างต่อเนื่องถึงคลื่นลมแรงบริเวณภาคใต้ และฝนตกหนักบริเวณประเทศไทยตอนบน ในช่วงนี้ที่ประเทศไทยยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่น จึงต้องระวังผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนตกสะสมที่ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน กรมส่งเสริมการเกษตรจึงเตรียมรับมือป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตร และเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่อาจได้รับความเดือดร้อนในครั้งนี้

นายสมชายกล่าวว่า จากรายงานสถานการณ์ล่าสุด พื้นที่การเกษตรประสบอุทกภัย จำนวน 23 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดที่ประกาศเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน แล้ว 10 จังหวัด ได้แก่ น่าน ตาก แพร่ อุตรดิตถ์ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด สกลนคร นครพนม ยโสธร กาญจนบุรี และพื้นที่การเกษตรที่ประสบอุทกภัยแต่ยังไม่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน อีก 13 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ พะเยา พิษณุโลก ลำปาง ลำพูน มุกดาหาร อุบลราชธานี อำนาจเจริญ บึงกาฬ หนองคาย และตราด มีเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนรวมทั้งสิ้นจำนวน 101,032 ราย พื้นที่การเกษตรประสบภัย 654,325.25 ไร่ จำแนกเป็นข้าว 581,540.75 ไร่ พืชไร่ 64,517.25 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 8,267.25ไร่ โดยภาคอีสานได้รับผลกระทบมากที่สุด 10 จังหวัด รวมกว่า 598,337.75 ไร่ เกษตรกรได้รบผลกระทบ 85,548 ราย ภาคเหนือ 11 จังหวัด ผลกระทบกว่า 5 หมื่นไร่ ซึ่งข้าวได้รับความเสียหายมากที่สุด รวมกว่า 581,540.75 ไร่ พืชไร่เสียหายกว่า 64517.25 ไร่ พืชสวนและอื่น ๆ เสียหายกว่า 8,267.25 ไร่ ตามลำดับ ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหายอย่างต่อเนื่อง (ข้อมูล ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2561)

นายสมชายกล่าวว่า สำหรับมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ กรมส่งเสริมการเกษตรยึดหลักปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 โดยมีหลักเกณฑ์ช่วยเหลือเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรไว้ก่อนเกิดภัย ตามจำนวนพื้นที่จริงที่ได้รับความเสียหาย รายละไม่เกิน 30 ไร่ ได้แก่ ข้าว อัตราไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ อัตราไร่ละ 1,148 บาท และพืชสวนและอื่น ๆ อัตรา ไร่ละ 1,690 บาท ทั้งนี้ เมื่อเกิดภัยพิบัติ และผู้ว่าราชการจังหวัดจะประกาศเขตพื้นที่การให้ความช่วยเหลือฯ เกษตรกรต้องยื่นแบบความจำนงขอรับการช่วยเหลือ (กษ 01) โดยให้ผู้นำท้องถิ่นรับรอง ก่อนจะมีการตรวจสอบทะเบียนเกษตรกร และพื้นที่เสียหายจริง เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามขั้นตอนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image