‘สศช.’ เผยบริโภคเอกชนแรง!-ส่งออกดันจีดีพีQ2โต4.6% มั่นใจทั้งปีโต 4.5% (ชมคลิป)

 

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ขยายตัว 4.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยแรงหนุนสำคัญจากการบริโภคเอกชนที่ขยายตัวสูง 4.5% สูงสุดรอบ 21 ไตรมาสและสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ การส่งออกขยายตัวต่อเนื่องที่ 12.3% การลงทุนที่ขยายตัวดีขึ้นทั้งเอกชนที่ 3.6% และการลงทุนภาครัฐที่ 4.9% การอุปโภคภาครัฐขยายตัว 1.4%ขณะที่ไตรมาสแรกที่ได้ปรับตัวเลขจีดีพีใหม่เป็นขยายตัว 4.9% จาก 4.8% จากการปรับตัวเลขที่เพิ่มขึ้นของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ปรับตัวเลขการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรปรับผลผลิตการเกษตรเพิ่มขึ้น และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปรับการขยายตัวด้านการผลิตสูงขึ้น ทำให้ช่วงครึ่งปีแรกจีดีพีขยายตัว 4.8% โดยแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังยังขยายตัวต่อเนื่องคาดจีดีพีทั้งปีขยายตัวในกรอบประมาณการ์เดิมที่ 4.2-4.7% หรือค่ากลางที่ 4.5% สูงกว่าการขยายตัวเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะขยายตัว 4.1%

“การขยายตัวเศรษฐกิจเริ่มลงมาถึงฐานรากแล้วสะท้อนจากตัวเลขรายได้ภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นเรื่องที่สภาพัฒน์หวังที่จะเห็นมานาน ทั้งการบริโภคเอกชนไตรมาสนี้ที่ขยายตัวดี
รายได้เกษตรดีขึ้นจากผลผลิตภาคเกษตรที่ออกมาจำนวนมากและราคาสินค้าเกษตรหลายรายการดีขึ้นและราคาสูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ผ่านมา ด้านการจ้างงานดีขึ้นตามการลงทุนรวมที่เพิ่มขึ้นทำให้ตัวเลขผู้มีงานทำขยายตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาสในภาคเกษตร และการจ้างงานภาคอุตสาหกรรม ในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ไตรมาส ทั้งนี้ การจ้างงานในโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวดีตามการท่องเที่ยว การจ้างงานภาคการก่อสร้างเดือนกรกำาคมกลับมาขยายตัวครั้งแรกใน 20 เดือน ทั้งนี้ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอีเริ่มปรับดีขึ้น มีแรงหนุนจากมาตรการภาครัฐดูแลผู้มีรายได้น้อย ขณะที่มาตรการรถยนต์คันแรกผลกระทบสิ้นสุดลงและมีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ทำให้ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ไตรมาสนี้สูงสุดสูงสุดในรอบ 5 ปี ซึ่งการตัดสินใจซื้อรถยนต์สะท้อนความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้น“ นายทศพร กล่าว

นายทศพร กล่าวว่า สำหรับอัตราการขยายตัวจีดีพีที่ 4.5% คาดว่าการบริโภคเอกชนขยายตัวเพิ่มเป็น 4.1% จากประมาณการเดิมในเดือนพฤษภาคมที่ 3.7% การลงทุนเอกชนทรงตัวที่ 3.9% แต่ปรับลดการลงทุนภาครัฐลงมาอยู่ 7.3% จากเดิม 8.3% และการบริโภคภาครัฐขยายตัว 2.2.% จากเดิม 3.0% ท้ังนี้ ปรับมูลค่าการส่งออกรวมขยายตัว 10.0% จากเดิมที่คาดขยายตัว 8.9% อย่างไรก็ตามคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงอยู่ที่ 38.8 ล้านคน จาก 39 ล้านคน ผลจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงในช่วงเทศกาลบอลดลก ส่วนผลกระทบจากเรือล่มที่จ.ภูเก็ตคาดว่าจะกระทบในระยะสั้น ทั้งนี้ ปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ ปัญหาอุทกภัยที่ยังต้องติดตามผลกระทบต่อเนื่อง อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกที่จะส่งผลต่อความผันผวนในตลาดการเงิน และสงครามการค้าที่มีทั้งปัจจัยบวกและลบ แต่ปีนี้ยังกระทบไทยไม่มากนัก

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image