แบงก์ชาติหนุนใช้สกุลท้องถิ่นซื้อขายลดเสี่ยงค่าเงินผันผวน คาดสัดส่วนใช้เพิ่มขึ้นดันมูลค่าการค้าโต

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานสัมมนาการส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่น จัดโดย ธปท. ว่า อัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มที่ผันผวนสูงต่อเนื่องในระยะข้างหน้า ผลจากการดำเนินนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลักที่ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินทั่วโลก เช่น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในช่วงที่ผ่านมาและจะยังปรับขึ้นอีกในช่วงที่เหลือของปีนี้ต่อเนื่องปีหน้า มาตรการกีดกันทางการค้าและการตอบโต้ทางการค้า เป็นต้น ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจจะต้องมีการบริหารความเสี่ยงอย่างเท่าทัน โดย ธปท.มีการส่งเสริมและผ่อนคลายเกณฑ์การป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ อาทิ การซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (ฟอร์เวิร์ด) บัญชีเงินฝากสกุลเงินต่างประเทศ (เอฟซีดี) การตกลงซื้อสิทธิที่จะซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศในอนาคต (ออปชั่น) และการส่งเสริมให้ใช้สกุลท้องถิ่นในการซื้อขายมากขึ้น เนื่องจากพบว่ามูลค่าการค้าทั้งหมดของไทยกว่า 50% เป็นการค้าขายในภูมิภาคในกลุ่มอาเซียน ญี่ปุ่น และจีน ขณะที่การค้าขายกับสหรัฐมูลค่าราว 9% แต่มีการค้าขายโดยใช้ดอลลาร์สหรัฐเป็นตัวกลางซื้อขายกว่า 80% ทำให้เมื่อจะค้าขายระหว่างกันแต่ละประเทศต้องนำเงินสกุลท้องถิ่นไปแลกดอลลาร์สหรัฐและนำกลับมาแลกเป็นเงินท้องถิ่นอีกครั้ง ทำให้ต้องรับความเสี่ยงจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่ผันผวนและเกิดเป็นต้นทุนที่ไม่จำเป็น สำหรับการที่ผู้ประกอบการเลือกใช้เงินสกุลท้องถิ่นจะช่วยลดความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนสกุลหลักที่ผวนผวนสูง และช่วยลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นได้ โดยควรเลือกใช้สกุลเงินให้เหมาะสมกับตนเองและประเทศคู่ค้า ซึ่งพบว่าการซื้อขายโดยใช้สกุลท้องถิ่นมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

นายวิรไทกล่าวว่า ปัจจุบัน ธปท.ได้มีความร่วมมือกับภูมิภาคเพื่อกันร่วมมือกันขับเคลื่อนการใช้สกุลเงินท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นประโยชน์ธุรกิจ รวมทั้งยังมีการแสดงอัตราแลกเปลี่ยนโดยตรงระหว่างบาทและสกุลต่างๆ เช่น บาท-หยวนของจีน บาท-เยนของญี่ปุ่น บาท-ริงกิตของมาเลเซีย บาท-รูเปียห์ของอินโดนีเซีย เป็นต้น 

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ความต้องการใช้ดอลลาร์สหรัฐในภูมิภาคจะมีความสำคัญน้อยลง โดยสกุลที่จะมีความสำคัญในภูมิภาคมากขึ้น คือ หยวน และบาท ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยให้ความสำคัญกับกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม (ซีแอลเอ็มวี) มากขึ้น เนื่องจากการค้าระหว่างกันขยายตัวต่อเนื่องตามอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของซีแอลเอ็มวีเฉลี่ยกว่า 7.5% ประเมินว่าหากมีการสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นจะมีผลต่อมูลค่าการค้าไทยและซีแอลเอ็มวีให้เพิ่มขึ้น 20% และจะส่งผลดีต่อจีดีพีของไทยด้วย ซึ่งขณะนี้การเชื่อมโยงการค้าไทยและซีแอลเอ็มวี กับกัมพูชา มีการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมเกษตร คือ มะม่วง มูลค่าการค้าในซัพพลายเชนอยู่ที่ราว 2 หมื่นล้านบาท หากมีการยอมรับบาท-เรียลของกัมพูชาระหว่างกันมากขึ้นของทั้งสองประเทศ คาดว่ามูลค่าจะเพิ่มเป็น 4 หมื่นล้านบาท ขณะที่ลาวมีการส่งออกโคเนื้อไทย คือ โพนยางคำปัจจุบันมูลค่า 5 พันล้านบาท คาดว่าจะเพิ่มเป็น 2 หมื่นล้าน ทั้งนี้ การเชื่อมโยงอุตสาหกรรมสมุนไพรทางภาคเหนือ คือ ไพล และทานาคา ปัจจุบันมูลค่า 40 ล้านบาท คาดว่าจะเพิ่มเป็น 100 ล้านบาทได้ นอกจากนี้ มีการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมประมงในทางภาคกลางและใต้กับเมียนมา มูลค่าปัจจุบันที่ 2 แสนล้าน คาดว่าจะขยายตัวไปถึง 1.5 ล้านล้านบาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image