‘กรมชลฯ’ เฝ้าระวัง ‘ลุ่มน้ำยม-เพชรบุรี’ พร้อมปรับแผนลดผลกระทบน้ำหลาก

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำในแม่น้ำยม บริเวณจ.แพร่ ที่เพิ่มสูงขึ้นหลังได้รับอิทธิพลจากพายุ เบบินคา ทำให้เกิดฝนตกหนัก และตกชุกในพื้นที่ภาคเหนือ ในตอนนี้พบว่าระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำ Y.20 อ.สองพี่น้อง จ.แพร่ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 210 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และปริมาณน้ำสูงสุดในแม่น้ำยมที่ไหลผ่านบริเวณสถานี Y.1C บ.น้ำโค้ง อ.เมืองแพร่ มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 890 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และไหลลงมาสู่สถานี Y.37 อ.วังชิ้น จ.แพร่ ในอัตรา 818 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งปริมาณน้ำสูงสุดได้ไหลผ่านไปแล้ว ทำให้ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ปริมาณน้ำดังกล่าวจะไหลต่อลงมายังสถานี Y.14 อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ส่งผลให้จะมีปริมาณน้ำที่ไหลผ่านสถานีสูงสุดประมาณ 768 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 3 เมตร ในช่วงวันที่ 22 ส.ค. 61

ทั้งนี้ การบริหารจัดการน้ำ เพื่อลดผลกระทบต่อตัวเมืองสุโขทัยนั้น ทางกรมชลประทาน ได้วางแผนในการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำยม โดยเมื่อปริมาณน้ำจากตอนบนไหลลงมาถึงบริเวณหน้าประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์(ปตร.) จะหน่วงน้ำไว้บริเวณหน้าปตร. และผันน้ำส่วนหนึ่งเข้าคลองยม-น่าน ผ่านทางประตูระบายน้ำหกบาท ก่อนจะผันน้ำลงแม่น้ำน่าน และแม่น้ำยมสายเก่าในอัตรา 100 และ 150 ลบ.ม./วินาทีตามลำดับ พร้อมกับควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านปตร.หาดสะพานจันทร์ ในอัตราสูงสุดไม่เกิน 650 ลบ.ม./วินาที จากนั้น จะผันน้ำเข้าคลองเล็กทั้ง 2 ฝั่ง ของแม่น้ำยม ในอัตราสูงสุดไม่เกิน 150 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำส่วนหนึ่งจะถูกส่งเข้าคลองตาดินและคลองบางแห่ง เพื่อไปเก็บกักไว้ในทุ่งทะเลหลวง รวมไปถึงแก้มลิงต่างๆ ที่ยังสามารถรับน้ำได้ เพื่อควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัย (สถานี Y.4) ในอัตราสูงสุดไม่เกิน 550 ลบ.ม./วินาที โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจ และชุมชนในเขตเทศบาลเมืองสุโขทัย

สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเพชรบุรี จ.เพชรบุรี ปริมาณน้ำจากเขื่อนแก่งกระจาน ปัจจุบัน มีปริมาณน้ำ 777 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 106% ระดับน้ำล้นทางระบายน้ำล้นสูงประมาณ 1.44 เมตร มีปริมาณน้ำไหลออกท้ายเขื่อนแก่งกระจานรวม 282 ลบ.ม./วินาที หรือประมาณวันละ 24.36 ล้าน ลบ.ม. กรมชลประทานได้ผันน้ำบริเวณหน้าเขื่อนเพชรเข้าระบบชลประทาน และคลองระบายน้ำ D9 รวมกันประมาณ 112 ลบ.ม./วินาที ไหลผ่านเขื่อนเพชรลงสู่แม่น้ำเพชรบุรี ในอัตราประมาณ 162 ลบ.ม./วินาที ต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 2.80 เมตร ไหลผ่านสถานีวัดน้ำ B.3A อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 0.22 เมตร และไหลมายังสถานี B.15 อ.เมือง จ.เพชรบุรี ระดับน้ำยังคงต่ำกว่าตลิ่ง 0.05 ม. ระดับน้ำในแม่น้ำเพชรโดยรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

นายทองเปลว กล่าวต่อว่า จากการดำเนินการบริหารจัดการน้ำที่เขื่อนเพชร เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่ระบายจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี ได้ขอระบายน้ำลงแม่น้ำเพชรบุรี ประมาณ 130–140 ลบ.ม./วินาที นั้น ทำให้กลางดึกของคืนวันที่ 20 ส.ค. 61 ที่ผ่านมา ได้เกิดน้ำกัดเซาะบริเวณคันคลองฝั่งขวาของคลองส่งน้ำสายใหญ่ 3 บริเวณที่ชาวบ้านฝั่งท่อระบายน้ำไว้ ทำให้มีน้ำบ่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่บริเวณฝั่งขวาของคลองส่งน้ำเป็นบริเวณกว้าง จึงจำเป็นต้องปรับลดปริมาณน้ำที่เปิดเข้าคลองส่งน้ำสายใหญ 3 เป็นการชั่วคราว เพื่อซ่อมแซมคันคลองในจุดที่ชำรุดดังกล่าว ซึ่งตอนนี้ได้ดำเนินการซ่อมแซมเสร็จเรียบร้อยแล้ว

Advertisement

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลทำให้มีปริมาณน้ำส่วนหนึ่งที่ไหลล้นผ่านเขื่อนเพชรลงแม่น้ำเพชรบุรีเกินปริมาณที่แจ้งไว้ โครงการฯจึงได้ปรับแผนเพิ่มปริมาณน้ำเข้าคลองส่งน้ำทั้ง 4 สาย ให้มากกว่าเดิม พร้อมปรับแผนการระบายน้ำลงแม่น้ำเพชรบุรีเป็นประมาณ 140–160 ลบ.ม./วินาที จนกว่าปริมาณน้ำสูงสุดที่ระบายจากเขื่อนแก่งกระจานจะลดลงอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อลดปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเพชรไปแล้วให้น้อยลง และเป็นการลดผลกระทบต่อพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเพชรบุรีให้น้อยที่สุดด้วย

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน ได้ร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการทำงานร่วมกันในการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมต่างๆ พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำเตรียมพร้อมระบายน้ำ หากเกิดน้ำท่วมขังในเขตชุมชน พื้นที่เศรษฐกิจ และพื้นที่การเกษตร รวมทั้ง การเตรียมพร้อมเครื่องจักรกล เครื่องมือต่างๆ และเจ้าหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ตลอด 24 ชั่วโมง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image