“แจ็คสันโฮล รีทรีท”การประชุมที่โลกจับตา

REUTERS/Osman Orsal

กองทุนสำรองแห่งรัฐ (เฟด) หรือธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา จัดการประชุมสัมมนาทางด้านเศรษฐกิจประจำปีขึ้นทุกปีมานับตั้งแต่ปี 1978 โดยยึดเอา “แจ็คสันโฮล ลอดจ์” ที่เมืองแจคสันโฮล เมืองเล็กๆ เชิงเขาในรัฐไวโอมิง ของสหรัฐอเมริกา เป็นสถานที่จัดเรื่อยมาตั้งแต่ปี 1981

โดยหลักๆ ก็คือการเชื้อเชิญบรรดาผู้ว่าการธนาคารกลางหรือ ผู้ว่าแบงก์ชาติของทุกประเทศทั่วโลกเข้าร่วม

แต่บางปีอาจมีรัฐมนตรีคลังได้รับเชิญเข้าร่วมงานสัมมนาด้วย ขึ้นอยู่กับว่าหัวข้อสัมมนาสำคัญที่เป็นหลักในปีนั้นๆ จะเป็นเรื่องใด

วัตถุประสงค์สำคัญของงานนี้ก็คือการร่วมกันแลกเปลี่ยนทัศนะและความรู้ความเข้าใจซึ่งกันและกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับตลาดโลกในเวลานั้น

Advertisement

สัญญาณที่ส่งออกมาจากการประชุมแจ็คสันโฮล จึงมีความหมายมากขึ้นในทุกครั้งที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของโลกไม่ปกติ เหมือนเช่นการประชุมปีนี้ที่จะมีขึ้นระหว่างวันศุกร์ที่ 24 และวันเสาร์ที่ 25 สิงหาคมนี้

แจ็คสันโฮล เคยเป็นสถานที่ถกวิกฤตสำคัญๆ ของโลกมาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่วิกฤต “ต้มยำกุ้ง” เมื่อปี 1997, ปีถัดมาก็เป็นวิกฤตพักชำระหนี้ของรัสเซีย บวกกับการล้มทั้งยืนของเฮดจ์ฟันด์ อย่าง ลอง-เทิร์ม แคปิตอล แมเนจเมนท์, อีก 10 ปีต่อมาก็เป็นเรื่องวิกฤตเลห์แมน บราเธอร์ส ที่ทำเอาสหรัฐอเมริกาและยุโรปตกระกำลำบากนานหลายปี

หัวข้อในปีนี้แน่นอน หนีไม่พ้นตุรกี ที่กำลังมีปัญหาหนี้ต่างประเทศระยะสั้น บวกกับสภาวะขาดดุลแฝด คือขาดทั้งดุลงบประมาณ และดุลบัญชีเดินสะพัด และปัญหาขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศกับสหรัฐอเมริกา

Advertisement

ยังไม่มีใครรู้ว่า สถานการณ์ในตุรกีจะลุกลามบานปลายออกไปมากกว่านี้หรือไม่ ในเมื่อผู้รับผิดชอบในประเทศยังคงดึงดัน ถูลู่ถูกังต่อไป ไม่ยอมแก้ปัญหาให้ถูกจุด

สหรัฐอเมริกาเอง กำลังสร้างปัญหาปวดหัวให้กับหลายประเทศในเอเชีย ด้วยการทำสงครามการค้าโต้ตอบกับจีนอย่างจริงๆ จังๆ ตามนโยบายบีบให้ประเทศคู่ค้าต้องมาเจรจาทำความตกลงการค้ากับสหรัฐฯเป็นรายประเทศด้วยเงื่อนไขที่สหรัฐอเมริกาพอใจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

นโยบายตั้งกำแพงภาษีที่ว่านี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อคู่ค้าของสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ยังสะเทือนไปถึง “พันธมิตร” ของสหรัฐหลายประเทศในเอเชียด้วย

ตัวอย่างเช่นสิงคโปร์ เริ่มมีคำเตือนกันออกมาแล้วว่า ให้ระวังครึ่งหลังของปีนี้ เศรษฐกิจของประเทศคงไม่ราบรื่นเหมือนครึ่งปีแรกที่ผ่านมา

ที่เกาหลีใต้ พันธมิตรอีกรายของสหรัฐอเมริกา ปริมาณการส่งสินค้าออกที่เป็นรายได้หลักของประเทศก็ลดลงฮวบฮาบน่าใจหาย เช่นเดียวกับการใช้จ่ายเพื่อการลงทุน

แม้แต่ญี่ปุ่น ที่น่าจะได้ชื่อว่าเป็นพันธมิตรที่ดีที่สุดในเอเชียของสหรัฐอเมริกา ก็เจอหางเลขเข้าไปด้วย การส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนกรกฎาคม ลดลง 5.2 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ถ้านับเฉพาะรถยนต์ สินค้าออกสำคัญร่วงลงมากถึง 12.1 เปอร์เซ็นต์ ก่อนหน้าที่ ทรัมป์ จะเสนอขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์เป็น 25 เปอร์เซ็นต์ ด้วยซ้ำไป

ทรัมป์ ขัดแย้งแม้แต่กับ เจอโรม เพาเวลล์ ประธานเฟดของตัวเอง ว่าด้วยเรื่องของการขึ้นอัตราดอกเบี้ย

เพาเวลล์ เพิ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานเฟดได้ 6 เดือน ด้วยมาดหนักแน่น สุขุม แต่ในเวลาเดียวกันก็ยึดหลักการ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของเฟดมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม ครั้งหลังสุดเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี่เอง เพื่อทำให้ระดับอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐอเมริกาอยู่ในช่วงเป้าหมายระหว่าง 1.75 เปอร์เซ็นต์ถึง 2 เปอร์เซ็นต์ เพราะไม่ต้องการให้เศรษฐกิจร้อนแรงเกินพิกัดแล้วเกิดฟองสบู่ขึ้นอีกครั้ง

แต่กลับทำให้ทรัมป์ไม่พอใจ เพราะทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าสูงขึ้นมากและทำให้กำแพงภาษีของตนด้อยประสิทธิภาพลง

ทรัมป์ ทั้งทวีต ทั้งให้สัมภาษณ์แสดงความไม่พอใจต่อการขึ้นดอกเบี้ยของ เพาเวลล์ มาต่อเนื่องหลายครั้ง จนกลายเป็นข้อกังขาที่ทั่วโลกจับตามองว่า เฟด ที่เคยเป็นอิสระ ปลอดการเมืองแทรกแซงมาทุกยุคทุกสมัยจะเป็นอย่างไรต่อไปหลัง ผู้นำอย่างทรัมป์ แสดงท่าทีดังกล่าว

ในเวลาเดียวกัน การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ เมื่อบวกกับการที่ค่าดอลลาร์สูงขึ้น ก็ทำให้หลายประเทศที่ตกที่นั่ง “ขาดดุลแฝด” อยู่ในเวลานี้ บริหารจัดการเงินการคลังของตัวเองยากมากขึ้น

เหมือนอย่างที่กำลังเกิดขึ้นกับ อินเดีย, อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ อยู่ในเวลานี้

ทั้งเรื่องตุรกี เรื่องสงครามการค้า เรื่องดอกเบี้ยในสหรัฐ จะถูกหยิบยกขึ้นมาถกกันในเวทีสัมมนาครั้งนี้ว่า จะเป็นไปอย่างไร กระทบต่อเนื่องไปอย่างไร ควรรับมือกันอย่างไร

รวมทั้งปัญหาที่ว่าถึงที่สุดแล้ว เพาเวลล์จะกลายเป็น “เยส แมน” ของทรัมป์ไปหรือไม่ หรือก้มหน้าก้มตาทำหน้าที่ตัวเอง และเร่งรัดการขึ้นตอกเบี้ยให้เร็วขึ้นตามสถานการณ์ต่อไป

ทุกเรื่องมีความหมายต่อทั่วโลกทั้งสิ้น

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image