จุดตัด จุดหักเลี้ยว ‘ประชามติ’ 7 สิงหาคม เพื่อไทย และ ปชป.

หากประเมินจากความเชื่อมั่นของ “คสช.” ความเชื่อมั่นของ “รัฐบาล” ความเชื่อมั่นของ “สนช.” ความเชื่อมั่นของ “สปท.” และความเชื่อมั่นของ “กรธ.” ที่ว่า

ร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง “ผ่าน” ประชามติแน่นอน

เมื่อวัดจาก “ฐานที่มา” ซึ่งสามารถสัมผัสได้จากนายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษก กรธ.มาเป็นเหมือนกับ “สินค้าตัวอย่าง”

ก็จะรับรู้ได้ ไม่มีอะไร “ซับซ้อน”

Advertisement

“จากการที่มีการสำรวจความคิดเห็นเป็นระยะและประเมินจากคนใกล้ชิดรวมถึงผลสำรวจต่างๆ มั่นใจว่าร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติแน่นอน”

เท่ากับยืนยันว่ามี “การสำรวจ” อย่างต่อเนื่อง

การสำรวจในที่นี้มิได้อยู่ที่ “โพล” สำนักต่างๆ อันเป็นตัวเปิด หากแต่น่าจะมาจากโพลของทางราชการในลักษณะ “ปิดลับ”

Advertisement

ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานสถิติแห่งชาติ

ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงาน “ความมั่นคง” ทั้งในระดับกองทัพภาค หน่วยปฏิบัติการจิตวิทยา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.)

ถึงที่สุดแล้วก็ “มั่นใจ” และวางใจใน “อำนาจรัฐ”

เคยมี สปท.ประเภทไอ้ห้อย ไอ้โหนบางคนออกมาให้ความมั่นใจกับ คสช.และรัฐบาลว่า สถานการณ์การเมืองของรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 ดีกว่าของรัฐประหารเดือนกันยายน 2549

โดยเฉพาะในห้วงแห่งการทำ “ประชามติ”

เป็นการมองผ่านกระบวนการ “กระชับอำนาจ” ไม่ว่าโดย พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ไม่ว่าโดยผ่านมาตรการป้องปรามหลักสูตร “ปรับทัศนคติ”

ยิ่งเห็นท่าทีนายบรรหาร ศิลปอาชา ยิ่งอุ่นใจ

ยิ่งเห็นท่าทีนายอนุทิน ชาญวีรกูล ยิ่งมากด้วยความพร้อมที่จะเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการประชามติด้วยความคึกคักเข้มข้น

สัมผัสได้ถึงลักษณะ “กระหาย” ต่อ “การเลือกตั้ง”

ความคาดหมายด้วยความมั่นใจว่าร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงจะต้องผ่าน “ประชามติ” ค่อนข้างฉลุยมาจากฐานความคิดที่มีความมั่นใจในความเป็นผู้กุมกลไกอำนาจรัฐของ คสช. มาจากฐานความคิดที่ตกผลึกอย่างยิ่งว่า นักการเมืองต้องการเลือกตั้ง ประชาชนต้องการเลือกตั้ง

ในที่สุดแล้วก็เชื่อด้วยว่า แม้แต่ภายในพรรคเพื่อไทย และแม้แต่ภายในพรรคประชาธิปัตย์ ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ต้องการเลือกตั้ง ฝากความหวังว่ากระบวนการเลือกตั้งจะนำไปสู่มิติและพัฒนาการใหม่ในทางการเมืองที่ไม่เหมือนเดิม

ป็นบทสรุป “ใหม่” อันดำรงอยู่ภายใต้ฐานความเชื่อ “เดิม”

สถานการณ์ของรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 กับสถานการณ์เมื่อเดือนกันยายน 2549 อาจเหมือนในบางส่วน แต่ก็ดำเนินไปอย่างมีพลวัตร

ทุกอย่างเป็นไปตามกฎแห่ง “อนิจจัง” ไม่หยุดนิ่ง

ระยะเวลาจากเดือนตุลาคม 2549 ถึงเดือนธันวาคม 2550 เพียง 1 ปีเศษ สั้นเป็นอย่างยิ่งกระทั่งไม่เหลือความทรงจำอะไรไว้

ตรงกันข้าม ระยะเวลาจากเดือนพฤษภาคม 2557 ไปยังเดือนสิงหาคม 2559 รวมแล้วเท่ากับ 2 ปี 3 เดือน ยาวนานมากกว่า ทำให้การทบทวนเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เป็นการทบทวนในเรื่อง “ผลงาน” และ “ความสำเร็จ”

หาก “สำเร็จ” ก็เป็นผลดี แต่หาก “ล้มเหลว” ก็เป็นผลเสีย

ขณะเดียวกัน เมื่อเดือนตุลาคม 2550 พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคร่งเครียดกับประชามติมากนักเพราะสามารถแก้ไขได้ไม่ยาก ขณะที่พรรคพลังประชาชนแม้จะคัดค้านแต่ก็มั่นใจว่าจะได้ชัยชนะจากการเลือกตั้งอย่างแน่นอน

การเลือกตั้งเดือนธันวาคม 2550 ก็เป็นเช่นนั้น แต่ฤทธิ์จากรัฐธรรมนูญก็ทำให้พรรคพลังประชาชนเดี้ยง

แม้จะเข้าสู่กระบวนการต่อสู้ในปี 2552 และปี 2553 ก็ล้มเหลว

แม้จะได้ชัยชนะจากการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2554 แต่ก็ลงเอยด้วยรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 นี่คือบทเรียนอันสำคัญและทรงความหมาย

บทเรียนนี้คือแนวโน้มใหม่ กระบวนการใหม่

แนวโน้มใหม่ กระบวนการใหม่ มิได้สรุปแต่เพียงพรรคเพื่อไทย หากพรรคประชาธิปัตย์ก็สรุป

พรรคเพื่อไทยไม่มีการเคลื่อนไหวเหมือนเมื่อปี 2552 และเมื่อปี 2553 พรรคประชาธิปัตย์ร่วมขบวนไปกับการปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง

นี่คือจุดตัดอย่างสำคัญสำหรับ “ประชามติ” เดือนสิงหาคม 2559

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image