‘บิ๊กฉัตร’ ห่วงเขื่อนอุบลรัตน์-ห้วยหลวงน้ำน้อย เตรียมฝนหลวงรับมือหากฝนไม่มาตามนัด

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 29 สิงหาคม ที่สำนักงานชลประทานที่ 5 อุดรธานี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เดินทางติดตามการบริหารจัดการน้ำของเขื่อน 5 แห่ง ประกอบด้วย น้ำอูน , น้ำพุง , ลำป่าว , อุบลรัตน์ และห้วยหลวง โดยมีนายวิทยา จันทร์ฉลอง ผู้ว่าราชการ จ.สกลนคร นายสิทธิชัย จินดาหกลวง รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี นายจารึก วัฒนาโกสัย ผอ.ชลประทานที่ 5 นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานสถานการณ์ และรับมอบนโยบาย

ที่ประชุมรายงานว่า จากพายุฝนที่เกิดขึ้นในภาคอีสานตอนบนติดต่อกัน 2 ครั้ง ซึ่งมีทั้งพื้นที่ฝนตกลงมาซ้ำ และฝนยังไม่ตกลงมาเลย ทำให้เขื่อนและอ่างเก็บน้ำมีสถานการณ์ต่างกัน โดยที่เขื่อนน้ำอูนมีน้ำมากถึง 110% ต้องระบายน้ำออกวันละ 9.8 ล้าน ลบ.ม. เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ ที่ไม่ได้ทำการเกษตร และพื้นที่ลุ่มน้ำสงคราม ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง , เขื่อนน้ำพุงมีน้ำอยู่ 76% ระบายน้ำออกเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ลงไปในหนองหารสกลนคร

ส่วนเขื่อนลำปาวมีน้ำอยู่ 65% เพิ่มการระบายน้ำจากวันละ 10 ล้าน เป็น 15 ล้าน ลบ.ม. , เขื่อนอุบลรัตน์มีน้ำอยู่ 28% เท่านั้น และเขื่อนห้วยหลวงมีน้ำอยู่ 43% จากสถิติจะมีฝนอีก 2 เดือน แต่ปริมาณจะลดลง เขื่อนน้ำอูน และเขื่อนน้ำพุง สถานการณ์น้ำท่วมจะดีขึ้น ส่วนเขื่อนลำปาว เขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนห้วยหลวง จะมีน้ำไหลเข้าเขื่อนเพิ่มขึ้น แต่จะไม่เต็มระดับเก็บกัก น่าจะมีน้ำเพียงพอไปจนถึงฤดูแล้ง โดยภายในสิ้นเดือนจะมีความชัดเจน

พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า ฝนตกที่ผ่านมาแปลกประหลาด อีกทั้งมีพยากรณ์ว่าจะมีพายุอีก 1 ลูก และร่องมรสุมอาจจะลดลงไปเร็วขึ้น โอกาสที่ฝนจะไม่ตกปลายฤดูก็มี ทำให้เราต้องติดตามสถานการณ์ ทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง การประเมินสถานการณ์จะไม่เหมือนทุกปี ถ้าบริหารจัดการไม่ดีน้ำจะไม่พอใช้ โดยขอให้เร่งผลักดันน้ำ จากลำน้ำสาขาลงน้ำโขงเร็วขึ้น และให้ประเมินสถานการณ์ ถ้าฝนปลายฤดูมีตกลงมาตามสถิติ ในสถานการณ์เลวร้ายที่สุด เราจะต้องมีแผนจัดการน้ำอย่างไร โดยให้ สนง.ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ช่วยบูรณาการทั้งหมด และรายงานสถานการณ์ให้ผู้ว่าฯ 24 ชม.

Advertisement

พล.อ.ฉัตรชัยให้สัมภาษณ์ว่า มาติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่นี้ ที่มีพายุเข้ามามีอิทธิพลถึง 2 ลูกติดต่อกัน แม้จะไม่พัดเข้ามาประเทศไทยโดยตรง และก็ยังตกซ้ำลงมาที่เดิมทำให้อ่างเก็บน้ำบางอ่างมีน้ำสูง ขณะที่มีอ่างเก็บน้ำบางแห่งเช่น เขื่อนอุบลรัตน์ และอ่างห้วยหลวง มีปริมาณน้ำที่กักเก็บน้อยอยู่ ซึ่งก่อนหน้านี้ในการบริหารจัดการน้ำ ได้สั่งการให้กักเก็บน้ำในระดับรูเคิบ ก็สามารถดำเนินการไปได้ แต่จากนี้ไปเราต้องประเมินสถานการณ์ ว่าจะมีพายุหรือฝนเข้ามาอีกแค่ไหน

“ภาคอีสานยังเหลือเวลาฝนตกอีก 2 เดือน เราได้แบ่งการจัดการน้ำเป็นสองส่วน คือส่วนของน้ำอูนที่มีน้ำในปริมาณมากอยู่ ให้กรมชลประทานเร่งรัดระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขง ที่ยังสามารถระบายได้อยู่ ซึ่งตอนนี้กระทบอยู่ที่ อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม หรือที่น้ำพุงหากมีฝนตกลงมาอีก ต้องหยุดการระบายน้ำออกมา ไม่ให้ไปกระทบกับหนองหาน และเมืองสกลนคร ส่วนเขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนลำปาว มีระดับน้ำในรูเคิบอยู่ แต่เขื่อนอุบลรัตน์ค่อนข้างต่ำ ทั้งสองเขื่อนต้องบริหารร่วมกัน ไม่ให้กระทบกับลำน้ำชี” พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว

พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า มีความเป็นห่วงว่าถ้าฝนไม่มาเหมือนอดีต ก็จะส่งผลกระทบไปถึงแล้งหน้า โดยเฉพาะที่อ่างห้วยหลวง จ.อุดรธานี ปกติน้ำจะมาในปลายฤดู และถ้าไม่มีอ่างห้วยหลวง ต้องเริ่มบริหารจัดการน้ำตัวเอง น้ำอุปโภคบริโภคของเมืองอุดรธานีจะขาดไม่ได้ ถ้าเพียงพอแล้วก็ต้องดูน้ำเพื่อการเกษตร รอรับกับน้ำที่มีอยู่จริง และเมื่อน้ำไม่ไหลเข้ามา การเติมน้ำด้วย “ฝนหลวง” ต้องเข้ามาดำเนินการ พร้อมสั่งการไม่ให้มองเฉพาะแล้งนี้ แต่ต้องมองไปหลายปีข้างหน้าด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image