ภาพเก่าเล่าตำนาน จัณฑาล ที่กลายเป็นพระเจ้าเดินดิน…ในอินเดีย โดย : พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก

เรื่องจริงที่แสนเจ็บปวดสำหรับมนุษยชาติ ที่ถูกหยามเหยียดราวกับสัตว์มาตั้งแต่เกิดจนตาย ถูกกดขี่มานับพันปี มนุษย์ผู้หนึ่งขอพลีชีพ แหวกวงล้อมออกมาช่วยคนที่เหลือนับล้านในอินเดียให้พ้นจากนรก

อินเดีย… ดินแดนเก่าแก่ของโลก แผ่นดินนักปราชญ์ มีฤษี มีเทพเจ้า เรื่องเล่าอภินิหาร มีเวทย์มนต์มายากล มีศาสนาเยอะแยะ รักษาประเพณี ดำรงความเชื่อ มีวิธีคิดในบางเรื่อง แบบคาดเดาไม่ได้ ดินแดนแห่งอารยธรรมแห่งนี้สร้างวรรณคดีที่ มีรัก มีรบกัน ตั้งแต่สวรรค์ชั้นฟ้า ไล่ล่าลึกลงไปใต้บาดาลยาวนานมากว่า 5,000 ปี

อินเดีย หรือที่เรียกกันว่า ชมพูทวีป เป็นดินแดนเชื่อมต่อก่อกำเนิดศาสนาพุทธ (ตะวันออกเฉียงเหนือ) เป็นแหล่งกำเนิดพิธีกรรม
ที่เป็นเอกลักษณ์ เฉพาะตัว ที่คนทั่วโลกให้ความสนใจ มีอิทธิพลทางความคิดแพร่กระจายมายังเมียนมา ไทย กัมพูชา

ตั้งแต่อดีตสมัยสุโขทัย เรารับเอาพิธีกรรม ความเชื่อจากดินแดนอินเดีย มาเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตของคนไทยเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา แต่พิธีกรรมที่แทรกตัวเข้ามาปะปนในชีวิตประจำวันของคนไทยส่วนใหญ่มาจากศาสนาพราหมณ์

Advertisement

ในสมัยอยุธยา มีการค้นพบเทวรูป พระนารายณ์ พระอิศวร พระพรหม พระแม่อุมา พระหริหระ ซึ่งส่วนมากนิยมหล่อสำริด พิธีแช่งน้ำ พระราชพิธีจองเปรียง (ลอยกระทง) พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (พืชมงคล) พระราชพิธีตรียัมปวาย (โล้ชิงช้า) ล้วนเป็นอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์ที่มาจากอินเดีย

ประเทศอินเดีย ในสมัยพุทธกาลเรียกกันว่า ชมพูทวีป ซึ่งแปลว่า “ทวีปแห่งไม้หว้า”เพราะมีต้นหว้าเกลื่อนกลาดสุดสายตาในดินแดนแห่งนี้

คําว่า “อินเดีย” เป็นการออกเสียงในภาษาเปอร์เซีย ซึ่งเรียกแม่น้ำสินธุ ว่า “ฮินดู” เนื่องจากแขกเปอร์เซียรู้จักอินเดียโดยเข้ามาทางลุ่มน้ำนี้เมื่อราว 3,000 กว่าปีมาแล้ว ต่อมาเมื่อชาวกรีกเริ่มเข้ามา ได้ออกเสียงคำว่า ฮินดู เพี้ยนไปเป็น “อินโดส” และเพี้ยนออกไปเป็น “อินดุส” และเพี้ยนเป็น “อินเดีย” ตามลำดับ แต่สำหรับชาวอินเดียแล้ว นิยมเรียกประเทศตัวเองว่า “ภารตะ”

Advertisement

ชาวภารตะเป็นนักคิดเพื่อมุ่งแสวงหาสัจธรรม การดำเนินชีวิต และหาวิธีการที่จะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

หลักคำสอนของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ทำให้ชนเผ่าในอินเดียแบ่งคนด้วยกันออกเป็น 4 วรรณะ คือ (ดูภาพประกอบ)

1 วรรณะพราหมณ์ (Brahmins) เกิดจากพระโอษฐ์ของพระพรหม มีเครื่องแต่งกายสีขาว หมายถึงความบริสุทธิ์ มีหน้าที่สวดมนต์ ให้คำปรึกษากับกษัตริย์ พวกที่เป็นนักบวชก็ทำหน้าที่สอนไตรเพทและประกอบพิธีทางศาสนา ปัจจุบันอาจตีความไปถึงนักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์และนักการเมือง สีเครื่องแต่งกายประจำวรรณะคือสีขาว

2 วรรณะกษัตริย์ (Kshatriyas) เกิดจากพระอุระของพระพรหม ได้แก่ ข้าราชการ สืบเชื้อสายมาจากพระอาทิตย์ สีเครื่องแต่งกายประจำวรรณะ คือสีแดง เช่น นักรบ ทำหน้าที่รบเพื่อป้องกันอาณาจักร รวมทั้งพระเจ้าแผ่นดิน นักปกครอง

3 วรรณะแพศย์ (Vaishyas) เกิดจากพระเพลาของพระพรหม สีเครื่องแต่งกายประจำวรรณะคือ สีเหลือง พ่อค้า คหบดี เศรษฐี และเกษตรกร

4 วรรณะศูทร (Shudras) เกิดจากพระบาทของพระพรหม ได้แก่ ผู้ใช้แรงงาน ชาวนา กรรมกร และคนยากจน สีเครื่องแต่งกายคือ สีดำ หรือสีอื่นๆ ที่ไม่มีความสดใส

ตามหลักความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ โดยถือว่าวรรณะทั้ง 4 เกิดจากอวัยวะของพระพรหมที่มีระดับต่างกัน จึงถือว่าระบบวรรณะได้ถูกกำหนดไว้ตายตัวโดยพระผู้เป็นเจ้า การเปลี่ยนแปลงสถานภาพทางสังคมโดยยกชนชั้นของตนเองให้สูงขึ้นจึงเป็นไปไม่ได้

สังคมฮินดูในอินเดีย วรรณะสุดท้ายที่ต่ำตมที่สุดในความเป็นมนุษย์ที่ต้องถูกปกครอง ต้องรับใช้คนในวรรณะที่สูงกว่า เป็นกลุ่มคนอันไม่พึงประสงค์ คือ จัณฑาล หรือเรียกชื่อใหม่ว่า ดาลิต ซึ่งเป็นชนชั้นที่ถูกกีดกัน ผลักไส ไม่มีใครยอมรับในสังคมอินเดีย

จัณฑาล หมายถึง คนที่มีพ่อและแม่เป็นคนต่างวรรณะมาแต่งงานกัน จึงเกิดมาเป็นคน “นอกวรรณะ” และมีสถานะทางสังคมต่ำยิ่งกว่าวรรณะศูทร ในอดีตจนถึงปัจจุบัน จัณฑาลดิ้นรนต่อสู้ขอเข้าไปมีส่วนในระบบการเมืองการปกครองของอินเดียตลอดมา

ในช่วงที่อังกฤษเข้าปกครองอินเดีย อังกฤษต้องตะลึงกับการแบ่งวรรณะในอินเดีย และให้ความหมายของจัณฑาลว่า “untouchable” หมายถึงบุคคลพวกนี้ ผู้มิควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว ไม่ควรไปคบค้าสมาคม มนุษย์ที่เกิดมาเป็นจัณฑาล จะถูกกดขี่ กลั่นแกล้ง รังแก จากสังคมในทางอ้อมเสมอ

สำนักข่าวอัลจาซีราเคยได้รายงานเปิดเผยชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในหมู่บ้านชนบทแสนห่างไกลที่ชื่อว่า คุบูล ซึ่งเป็นที่ตั้งของกลุ่มที่เรียกว่า มุซาฮาร์ แปลว่า กินหนู พวกเขากินหนูเป็นอาหารที่หลายชั่วอายุคนจนถูกนำมาตั้งเป็นชื่อ กลุ่มมุซาฮาร์ ตั้งอยู่ทางตะวันออกของรัฐพิหารในอินเดียมากว่า 150 ปีแล้ว เป็นกลุ่มที่อยู่ในวรรณะ “มหาจัณฑาล” (Maha Dalit) เป็นวรรณะต่ำสุดของอินเดีย ปัจจุบันก็ยังคงดำรงชีวิตด้วยการจับหนู หอยทาก ปลา เนื่องจากความยากจนแสนแร้นแค้น พวกเขาไม่มีโอกาสแม้แต่จะประกอบอาชีพ ในขณะที่ หมู่บ้านรอบๆ มีไฟฟ้าใช้และสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานแต่หมู่บ้านของจัณฑาลไม่มี

เรื่องจริงที่กลายเป็นตำนานระดับโลกเป็นเรื่องของชีวิตชาวจัณฑาลในอินเดีย ที่มีการแหวกม่านประเพณี ความเชื่อ ภาพเก่า…เล่าตำนาน ตอนนี้ผมขอนำเรื่องราวที่คนไทยไม่ค่อยได้ยินมาแบ่งปัน เล่าสู่กันฟังดังนี้ครับ

เด็กชายพิม (Bhim) ชื่อเต็มๆ คือ บาบาสาเฮบ พิมเรา รามจิ อัมเบดการ์ (Babasaheb Bhimrao Ramji Ambedkar) เกิดเมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ.2434 ในวรรณะจัณฑาลที่แสนยากจนในรัฐมหาราษฏระของอินเดีย เป็นบุตรชายคนที่ 14 และคนสุดท้องของนายรามจิกับนางพิมมาไบ พ่อแม่ต้องอดมื้อกินมื้อ ทำงานหนักเป็นกรรมกรเพื่อส่งเสียให้เด็กชายพิมได้ไปโรงเรียน

ที่โรงเรียน…เด็กชายพิมก็ต้องกัดฟันทนพฤติกรรมหยามเหยียดของครูและเพื่อนร่วมชั้นซึ่งเป็นคนในวรรณะสูงกว่า ครูและนักเรียนรังเกียจกระทั่งไม่ยอมให้เขานั่งเก้าอี้ พิมต้องไปปูกระสอบนั่งเรียนกับพื้นอยู่มุมห้องเรียน ต้องแยกออกไปทานอาหารเด็ดขาด เพราะกลัวว่าเสนียดของพิมจะไปติดอาหารของพวกเขา เวลาที่พิมกระหายน้ำเขาก็ดื่มน้ำจากแก้วตรงๆ ไม่ได้ ต้องวิงวอนขอความเห็นใจจากเพื่อนให้คอยเทน้ำลงในปากของเขา

ที่โรงเรียน… ครูทุกคนล้วนแล้วแต่เป็นคนในวรรณะพราหมณ์ ไม่ว่าเด็กชายพิมจะเดินไปทางไหน นักเรียนจะหนีห่างออกเป็นช่อง พิมรู้สึกเหมือนอยู่ในนรก พิมจึงเตือนตนเองอยู่เสมอว่า

“สักวันหนึ่ง เราจะต้องพ้นจากภาวะอันต่ำต้อยนี้ให้ได้ และมีวิธีเดียวเท่านั้น คือจะต้องตั้งใจเรียนให้ถึงที่สุด การศึกษาเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่จะทำให้คนจัณฑาลได้รับการยอมรับ”

เป็นเรื่องจริงนะครับ เมื่อสั่งสอนกันมาแบบนี้ ทุกคนในสังคมก็ต้องทำแบบนี้เพราะถ้าไม่ทำแบบนี้ คือ ทำผิด-ทำบาป

โชคดีที่โลกวัยเยาว์ของพิมไม่ได้มีแต่คนใจดำ ครูคนหนึ่งในวรรณะพราหมณ์มีเมตตาต่อเด็กชายพิม ครูคนนี้คอยหาโอกาสแบ่งอาหารให้เขารับประทาน ครูผู้นี้ทราบสาเหตุข้อหนึ่งที่เด็กชายพิมถูกรังเกียจ กีดกันตลอด คือ การที่มีนามสกุล “สักปาล” ซึ่งบ่งบอกความเป็นอธิศูทร คือ วรรณะจัณฑาล

ครูผู้เมตตาจึงไปขอแก้ในทะเบียนชื่อ-สกุลที่โรงเรียน เปลี่ยนให้พิมใช้นามสกุลของตนคือ “อัมเบดการ์” นามสกุลใหม่นี้ทำให้ผู้คนในสังคมเข้าใจได้ทันทีว่า พิมเป็นคนในวรรณะพราหมณ์ ซึ่งช่วยลดแรงเสียดทาน ความขมขื่นที่เขาต้องประสบลงได้บ้าง

เด็กชายพิมบากบั่นเล่าเรียนจนจบชั้น ม.6 จากโรงเรียนเอลฟิสโตน (Elphistone) เมืองบอมเบย์ ด้วยผลการเรียนดีเด่น ในวันที่สำเร็จการศึกษา ท่านกฤษณชิ อรชุน เกลุสการ์ ได้มอบหนังสือ เรื่อง “พุทธจริต” เป็นเหตุให้ท่านได้รู้จักประวัติของพระพุทธเจ้าและความสำคัญของพระพุทธศาสนา

นักสังคมสงเคราะห์พาพิมเข้าเฝ้ามหาราชาแห่งเมืองบาโรดา ซึ่งพระองค์ประสงค์จะสนับสนุนการศึกษาให้แก่คนอธิศูทร พระราชาพระราชทานเงินทุนจนพิมเรียนจบปริญญาตรีสาขาภาษาเปอร์เซียและอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยบอมเบย์ และหลังจากนั้นก็ส่งเขาไปเรียนต่อปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา

ชีวิตนักศึกษาที่อเมริกาเหมือนได้ขึ้นมาจากนรก พิมได้สัมผัสชีวิตที่แปลกใหม่ แบบอิสระ เท่าเทียมเป็นครั้งแรก

ไม่มีใครแสดงอาการรังเกียจความเป็นอธิศูทรของเขาเหมือนอย่างในอินเดีย เมื่อเรียนจบ พิมเดินทางกลับอินเดียด้วยความมุ่งมั่นว่าจะต่อสู้เพื่อคนในวรรณะจัณฑาล จะสร้างสังคมอินเดียที่เสมอภาค

พ.ศ.2461 พิมเข้าเป็นอาจารย์ในวิทยาลัยซิดนาห์ม บอมเบย์ (ปัจจุบันคือ มุมไบ) ต่อมาย้ายไปเป็นข้าราชการในเมืองโครักขปุระตามคำเชิญของมหาราชา ชาหุที่ 1 ผู้ทรงสนับสนุนสิทธิของคนอธิศูทร มหาราชาพระองค์นี้ยังออกทุนให้เขาเขียนและตีพิมพ์วารสารรายสัปดาห์ชื่อ มุขนายก (ผู้นำพลังเงียบ) ในบอมเบย์

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2463 บัณฑิตจัณฑาล ชื่อพิม ใช้วารสารฉบับนี้เป็นเครื่องมือในการส่งเสียงติติงความเชื่อ แนวคิดการกดขี่คนวรรณะต่ำ

การทำงานของเขาได้รับการสนับสนุนจากพระราชา

ด้วยเงินที่ยืมจากมหาราชาและเพื่อนๆ…พิมกลับไปเรียนที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (LSE : London School of Economics) ในอังกฤษ ซึ่งเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงระดับโลก พิมใช้ชีวิตในอังกฤษอย่างแร้นแค้น มุมานะจนเรียนจบปริญญาโทอีก 1 ใบ และต่อปริญญาเอก พ.ศ.2460

ในความยากลำบากของชีวิตในอังกฤษ พิมยังสอบผ่านเนติบัณฑิตของอังกฤษ ตอนนี้เด็กชายพิม คนในวรรณะจัณฑาลพัฒนาก้าวไกลเป็น ดร.อัมเบดการ์ ซึ่งจะเป็นเรื่องแสนง่ายหาก ดร.อัมเบดการ์ คิดจะหนีออกจากอินเดีย ทำงานและใช้ชีวิตในอังกฤษตลอดชีวิต

พิมนึกถึงพี่น้องของเขาในวรรณะจัณฑาลอีกนับล้านในอินเดีย จึงตัดสินใจกลับมาทำงานเป็นทนายความในศาลสูงของบอมเบย์

ความแหลมคมของสติปัญญา ความกล้าหาญ ทำให้ ดร.อัมเบดการ์วิจารณ์ เขียนบทความวิจารณ์นักการเมืองในอินเดียอย่างเผ็ดร้อนตรงไปตรงมา เพื่อเรียกร้องสิทธิของคนจัณฑาล

ในช่วงเวลานั้น คนอินเดียกำลังส่งเสียงขัดขืนการปกครองของอังกฤษ โดยมี มหาตมะคานธี เป็นผู้นำทางความคิดชาวอินเดีย เพื่อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ

ในปี พ.ศ.2475 ดร.อัมเบดการ์ได้รับความชื่นชอบจากชาวอินเดียร่วมวรรณะเพิ่มขึ้นล้นหลาม เขาได้รับเชิญไปร่วมงานเสวนาโต๊ะกลมเกี่ยวกับอนาคตของอินเดียที่กรุงลอนดอน

ดร.อัมเบดการ์เป็นตัวแทนของกลุ่มคนจัณฑาล ไปกล่าวเรียกร้องว่าชาวจัณฑาลควรมีสิทธิเลือกผู้แทน (ส.ส.) ของตนแยกต่างหากเพื่อเข้าไปนั่งในสภา การแสดงจุดยืนเพื่อชาวจัณฑาลครั้งนี้เป็นก้าวย่างที่สำคัญยิ่งนัก

คานธี (Gandhi) ซึ่งเป็นฮินดู ในวรรณะที่สูงกว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของ ดร.อัมเบดการ์ เพราะเห็นว่าชาวมุสลิมและชาวซิกข์จะเรียกร้องสิทธิเลือก ส.ส.ของตนอีก และเกรงว่าจะก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคมฮินดูรุ่นหลัง

จัณฑาลเป็นแนวทางของศาสนาฮินดู ในอินเดียยังมีประชากรมุสลิมและชาวอินเดียที่นับถือศาสนาซิกข์ (Sikhism) และศาสนาอื่นๆ อีกมากมายหลากหลายเผ่าพันธุ์

รัฐบาลอังกฤษกระโดดเข้าสนับสนุน ดร.อัมเบดการ์ เห็นว่าจัณฑาลควรมีสิทธิเลือกผู้แทนของตน คานธีปลุกระดม เรียกร้องต่อชาวฮินดูทั้งมวลในอินเดียที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของอินเดีย ขู่จะอดอาหารจนตาย มวลชนฮินดูลุกขึ้นมาในอินเดียสนับสนุนคานธี เพราะไม่ต้องการให้จัณฑาลมี ส.ส.ในรัฐสภา

การอดอาหารประท้วงของคานธี เพื่อกีดกันจัณฑาลไม่ให้สะเออะมามีสิทธิทางการเมือง

ผู้นำทุกระดับในอินเดียขอเจรจากับ ดร.อัมเบดการ์ เพื่อขอให้ยกเลิกข้อเรียกร้องเรื่องการมี ส.ส.วรรณะจัณฑาลในสภา

ดร.อัมเบดการ์เกรงว่าคนในวรรณะจัณฑาลจะตกเป็นเป้าความโกรธแค้น กลัวจัณฑาลนับล้านเดือดร้อน…จึงยอมถอย

ในความเห็นต่างมีทางออกเสมอ มหาบุรุษชื่อ คานธี มิได้แค้นเคืองอาฆาตที่จะกำจัด ดร.อัมเบดการ์ แต่อย่างใด

ในทางตรงข้าม คานธี นักกฎหมายและเนติบัณฑิตจากอังกฤษ กลับมองไปข้างหน้าเห็นว่า ดร.อัมเบดการ์จะเป็นเสาหลักต่ออนาคตของอินเดีย หลังจากที่อินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ สังคมอินเดียต้องมีทางออก มีโอกาสให้จัณฑาล จะกดขี่คนเยี่ยงสัตว์เช่นนี้ต่อไปไม่ได้

คานธีตัดสินใจรักษาประโยชน์ของส่วนรวมให้สงบสุข คานธีเลือกใช้ สติ ปัญญา ความแน่วแน่และความกล้าหาญแบบอารยชน

สถานการณ์ในขณะนั้น ดร.อัมเบดการ์ตกเป็นศัตรูทางการเมืองที่ควรจะต้องถูกกำจัดทิ้ง คานธีทำได้สบายมาก

แต่…คานธี กลับไปหว่านล้อม นายเยาวหราล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย ขอให้แต่งตั้ง ดร.อัมเบดการ์เป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม และเปิดโอกาสให้ ดร.อัมเบดการ์มามีบทบาทนำในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของอินเดีย เพื่อเป็นรูหายใจให้พวกจัณฑาลนับล้านคน

ร่างรัฐธรรมนูญที่ ดร.อัมเบดการ์มีส่วนร่างขึ้นนั้น ชัดเจนว่ามุ่งสร้าง “การปฏิวัติทางสังคม” ในอินเดียเหนือสิ่งอื่นใด รัฐธรรมนูญอินเดียประกันและคุ้มครองสิทธิพลเมืองนานัปการ ตั้งแต่เสรีภาพในการนับถือศาสนา การยกเลิกวรรณะจัณฑาล และประกาศให้การเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบเป็นพฤติกรรมที่ผิดกฎหมาย

ดร.อัมเบดการ์ยังเสนอให้ใช้โควต้าในระบบราชการ ในโรงเรียน และวิทยาลัย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ด้อยโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

รัฐธรรมนูญที่ ดร.อัมเบดการ์เป็นผู้นำทางแนวคิด ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2492

ก้าวต่อไปของ ดร.อัมเบดการ์ คือการเขียนกฎหมายกฎบัตรฮินดู (Hindu Code Bill) เพื่อแทนที่จารีตฮินดูซึ่งผู้หญิงตกเป็นเบี้ยล่างมาตลอด ด้วยกฎหมายที่มอบสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ผู้หญิงอย่างเท่าเทียมกับผู้ชาย โดยเฉพาะเรื่องมรดก การแต่งงาน และเศรษฐกิจ

ถึงแม้ว่า ดร.อัมเบดการ์จะได้รับการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรีเนห์รู ร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ถูกต่อต้านอย่างหนักจากนักการเมืองส่วนใหญ่ในสภาที่ยังไม่ต้องการ “เท่าเทียม” ความขัดแย้งส่งผลให้ ดร.อัมเบดการ์ตัดสินใจลาออกจากคณะรัฐมนตรี

ในปี พ.ศ.2494 ปีต่อมาเขาลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แต่แพ้การเลือกตั้ง ผู้นำอินเดียแต่งตั้งเขาเป็นสมาชิกวุฒิสภาในปีเดียวกัน และเป็นวุฒิสมาชิกจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

6 ธันวาคม 2499 ดร.อัมเบดการ์ได้ถึงแก่อนิจจกรรมที่บ้านพัก กรุงนิวเดลี และได้มีรัฐพิธีเผาศพ ที่เมืองบอมเบย์

คนไทยและคนทั่วโลก ส่วนมากจะคุ้นชื่อของมหาตมะ คานธี ไม่ค่อยคุ้นชื่อของ ดร.อัมเบดการ์กันเท่าไหร่นัก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ คานธี เป็นคนในวรรณะแพศย์และเป็นคนของพรรคคองเกรส ซึ่งเป็นรัฐบาลปกครองอินเดียมาในยุคแรก จึงได้รับการยกย่องให้โดดเด่น ในขณะที่ ดร.อัมเบดการ์มีพื้นฐานมาจากคนชั้นต่ำสุด คือวรรณะจัณฑาล

ผมอ่าน เขียน แปล และเรียบเรียงบทความนี้…นึกไม่ถึงจริงๆ ว่า คานธีจะกล้าไปขอให้ ดร.อัมเบดการ์เป็น รมว.ยุติธรรม ซึ่งนายกฯเนรูห์ก็ “ใจกว้าง” ให้ตำแหน่งรัฐมนตรียุติธรรมเพื่อช่วยดูแลชาวจัณฑาลมิให้ถูกกลั่นแกล้ง สร้างความเป็นธรรม และยังให้เข้าไปช่วยร่างรัฐธรรมนูญของอินเดียอีกต่างหาก

ชีวิตอันขมขื่น ปวดร้าวในชีวิตของท่านและเพื่อนร่วมชาติชาวอินเดียนับล้านที่ต่ำต้อย ส่งผลให้ ดร.อัมเบดการ์ ประกาศตนขอนับถือศาสนาพุทธ ที่แทบไม่มีคนในอินเดียนับถือมานานแล้ว

พ.ศ.2499 ดร.อัมเบดการ์จัดพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ นับถือพระพุทธศาสนาอย่างเป็นทางการ ณ เมืองนาคปูร์ รัฐมหาราษฏระ พร้อมกับชาวอินเดียอธิศูทรประมาณ 500,000 คน ด้วยเหตุผลที่แทบไม่ต้องอธิบาย ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ไม่ปิดกั้นใคร มองคนทุกคนเสมอกันในความเป็นมนุษย์ ไม่แบ่งชนชั้นวรรณะ

ดร.อัมเบดการ์ คือ วีรบุรุษที่ลูกหลานคนอธิศูทรในอินเดียไม่มีวันลืม สิ่งที่คนในวรรณะจัณฑาลผู้นี้สร้างขึ้นมาด้วยชีวิต เป็นการช่วยชีวิตมนุษย์นับล้านที่ด้อยโอกาสได้พ้นจากขุมนรกบนโลกใบนี้ ชื่อของอัมเบดการ์ คือ สัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อลบล้างความ
อยุติธรรมในสังคมฮินดู

อินเดียคงไม่มีวันทะยานขึ้นเป็นมหาอำนาจใหม่ในศตวรรษที่ 21 ได้เลยหากปราศจากชายชื่อ อัมเบดการ์ ที่ช่วยเพื่อนร่วมชาติที่ถูกหยามเหยียด ดูหมิ่น ดูแคลนสืบมานานนับพันปี..

อินเดียกำลังก้าวสู่ความเป็นมหาอำนาจใหม่ของโลก อุตสาหกรรมไอทีที่เลื่องชื่อในเขตบังกาลอร์ อันเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกถึงความสามารถของชาวภารตะ สร้างรายได้จำนวนมหาศาลให้แก่ประเทศ อีกทั้งการศึกษาของประชากรในระดับนานาชาติก็มีสูงถึงร้อยละ 6 ของจำนวนประชากรทั้งหมด

ดร.อัมเบดการ์… แทบไม่น่าเชื่อว่า…มีคนแบบนี้อยู่จริงในโลก

พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก

ข้อมูลบางส่วนจาก https://www.culturalindia.net/reformers/br-ambedkar และ สฤณี อาชวานันทกุล http://www.fringer.org

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image