สินค้าการเมือง!

ปัญหายางพาราตกต่ำ เรื่องแก้ไม่ตกในขณะนี้ รัฐบาลอาจจำเป็นต้องเลือกแนวทางใดแนวทางหนึ่ง ซึ่งแต่ละวิธีมีผลดี-ผลเสียด้วยกันทั้งสิ้น

ดูจากปากคำนายกรัฐมนตรี มีแนวโน้มความเป็นไปได้อย่างมาก รัฐบาลอาจปล่อยตามสภาพการณ์นั่นคือ ไม่รับเงื่อนไข ข้อเรียกร้อง จ่ายชดเชยราคาให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง

แต่ยืนยันมั่นคง ในแนวทางที่เชื่อว่า น่าจะเป็นการแก้ปัญหายั่งยืน ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ

ยางพาราเป็นสินค้าการเมือง เช่นเดียวกับพืชผลเกษตรอื่นๆ อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย

Advertisement

แต่พิเศษกว่า สินค้าการเมืองอื่นๆ ตรงที่พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดปักษ์ใต้ ฐานเสียงสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์

อย่างไรก็ตาม การชุมนุมประท้วง การเคลื่อนไหวเรียกร้องต่างๆ นั้น เกิดจากพื้นฐานเกษตรกรเดือดร้อนจริงๆ อย่างเช่นที่มีข้อเรียกร้องให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือด้านราคาอยู่ในเวลานี้ มิได้เกิดจากการบิดเบือนข้อมูล แต่เป็นการต่อสู้โดยมีตัวเลข-พื้นฐานความเป็นจริงรองรับ

ปัญหายางพาราตกต่ำ เป็นเรื่องกลไกการตลาด ว่าด้วยดีมานด์ และซัพพลาย ผูกโยงอิงอยู่กับราคาน้ำมัน และภาวะเศรษฐกิจโลก

Advertisement

ยางพาราไม่จำเพาะเจาะจง ว่าจะสูงลิ่ว กิโลละ 80-90-100 หรือตกต่ำ 3 โลร้อย 4 โลร้อย ในสมัยใด

จะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ เมื่อตัวแปร ปัจจัยความต้องการบริโภคลดลง สวนทางกับปริมาณการผลิต

เพียงแต่ ในยุคสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ กับรัฐบาลอื่นๆ

การที่ราคาเพิ่มขึ้น หรือลดลง อาจถูกมองด้วยสายตาต่างกัน

มีการนำข้อเท็จจริงของราคายาง มาใช้เป็นประโยชน์ในทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่ง

กรณีราคาสูง การอวดอ้างฝีมือบริหารจัดการ มักเข้ามาต่อยอดเป็นผลงาน เป็นความสำเร็จ โดยมิพักพูดถึงดีมานด์ ซับพลาย

ตรงกันข้ามหากราคาดิ่ง คำอธิบายเรื่องกลไกตลาดจะกลับมาหัวข้อหลักทันที

อย่างไรก็ตาม สิ่งอันจริงแท้แน่นอนอีกประการก็คือ ไม่ว่าราคายางจะตกต่ำในยุคสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์เพียงใด เมื่อมีการเลือกตั้งปักษ์ใต้ยังเป็นพื้นที่ยึดครอง ผูกขาดที่นั่งของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์อย่างมั่นคง ยากเป็นอย่างยิ่งที่พรรคอื่นจะรุกคืบกินแดนได้

ขณะที่หากราคาสูง ประชาธิปัตย์ก็ไม่อาจขยายพื้นที่เลือกตั้ง เพิ่มเก้าอี้ ส.ส.ขึ้นมาได้ในภาคอื่น

ข้อน่าสังเกตก็คือ เมื่อใดก็ตามราคายางตกต่ำ อยู่ในยุคการบริหารของรัฐบาลที่มิใช่พรรคประชาธิปัตย์ การเป็นตัวแทนปากเสียงชาวบ้านเกษตรกรของสมาชิกพรรค จะคึกคัก เข้มแข็ง

นำการต่อสู้ ยกระดับความเดือดร้อน ขึ้นมาเป็นวาระการเมือง สาดโคลนเลือกที่รัก มักที่ชัง ไม่ช่วยเหลือชาวสวนตกระกำลำบาก

ถึงขั้นปิดถนน ชัตดาวน์ก็เคยปรากฏมาแล้ว

แต่กระนั้นก็เป็นการเคลื่อนไหว สร้างคะแนนนิยม โจมตีรัฐบาลไม่ได้เรื่อง ในฐานะตัวแทนปากเสียง ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความจริง ′ราคายางตกต่ำ′

ราคาตกต่ำ ที่เกิดจากโอเวอร์ซัพพลาย มิได้เกิดจากว่ามีใครกลั่นแกล้ง ลงโทษพื้นที่ใด

ยางพาราขึ้นได้-ลงได้ ตามกลไกตลาด

100 ประยุทธ์ 1,000 ยิ่งลักษณ์ 10,000 ประชาธิปัตย์

ก็ไม่สามารถกำหนดราคาได้เอง

แต่เมื่อเกิดปัญหา ใครมาเป็นรัฐบาล ก็ต้องแก้ไข ไม่ว่ารัฐบาลนั้น จะมีที่มาอย่างไรก็ตาม ยิ่งเป็นรัฐบาลประชาธิปัตย์ก็ยิ่งจำเป็นต้องแก้ไข รักษาพื้นที่ฐานเสียงเอาไว้ ไม่นิ่งดูดายคิดว่าเป็นของตาย รัฐบาลเพื่อไทยก็ต้องหามาตรการช่วย เพราะหาไม่แล้วจะถูกโจมตีว่า เลือกปฏิบัติ

มองจากมุมประชาธิปัตย์ มองจากมุมเพื่อไทย ในที่สุดแล้วเหตุผลบังคับทางการเมือง จะขมวดปมไปสู่เจตนารมณ์ การรับใช้-การแก้ปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร ชาวสวน

เป็นความยึดโยง-ผูกพันข้อดีของการเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ในระบอบการปกครอบแบบประชาธิปไตยที่ได้ชื่อว่าเลวน้อยที่สุด

รัฐบาลที่มิต้องคำนึงถึงคะแนนนิยม แต่มีเดิมพันสูงไม่แพ้กัน จะมีวิธีบริหารจัดการ แก้ปัญหาอย่างไร

คำตอบที่จะปรากฏในไม่ช้า จะชี้ให้เห็นความเหมือนความต่างในระบบที่ยึดโยง และไม่ยึดโยงประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image