กนง.คงจีดีพีโต4.4% บริโภค-ลงทุนดีขึ้น ห่วงสงครามการค้ากระทบส่งออก

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท.ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า กนง. ยังคงประมาณการณ์อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ(จีดีพี) ปี 2561 ที่ 4.4% เท่ากับประมาณการณ์เดิมในช่วงเดือนมิถุนายน โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องตามแรงส่งจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ โดยปรับเพิ่มการบริโภคเอกชนเป็น 4.2% จาก 3.7% การลงทุนเอกชนขยายตัว 3.7% มูลค่าการส่งออกทรงตัวที่ 9.0% โดยประเมินว่าผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าต่อไทยยังมีผลกระทบไม่มากนักในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม การเบิกจ่ายและลงทุนภาครัฐชะลอตัวลง โดยการอุปโภคภาครัฐอยู่ที่ 2.3% จากเดิม 2.7% ส่วนการลงทุนภาครัฐลดลงมาที่ 6.1% จาก 8.9% จากการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่เลื่อนออกไป อาทิ โครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อนมิสซิ่งลิงค์ โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต เป็นต้น ส่วนมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 16.9% จาก 14.7% ทั้งนี้ การนำเข้าที่ขยายตัวมากขึ้น รวมทั้งการลงทุนเอกชนและการบริโภคเอกชนที่ขยายตัวดีทำให้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมที่ 4.0 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนการท่องเที่ยวยังขยายตัวดีคาดอยู่ที่ 38.3 ล้านคน ซึ่งผลกระทบจากเหตุการณ์เรือล่มที่จังหวัดภูเก็ตกระทบไม่มากนัก ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังทรงตัวที่ 1.1% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวเท่าเดิมที่ 0.7%

“ภาพรวมเศรษฐกิจแม้ว่าจะไม่ได้ปรับประมาณการณ์ขึ้นแต่ที่เห็นชัดเจนคือผลของการกระจายตัวเศรษฐกิจเริ่มส่งผลถึงการบริโภคมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในกลุ่มผุ้มีรายได้ระดับกลางและสูงเป็นหลัก ทั้งนี้หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงยังกดดันการบริโภค ส่วนการลงทุนเอกชนปรับดีขึ้นกว่าที่คาดและมีการย้ายฐานการผลิตเข้ามาในไทยส่งผลดีให้การจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกชะลอตัวลงบ้างจากกมาตรการกีดกันทางการค้า อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้ยังไม่ได้ประเมินผลดีจากความชัดเจนการเลือกตั้งที่จะเกิดในปี 2562 ” นายจาตุรงค์ กล่าว

นายจาตุรงค์ กล่าวว่า สำหรับปี 2562 ยังคงประมาณการณ์จีดีพีที่ 4.2% ผลจากการบริโภคเอกชนที่ขยายตัว 3.7% จาก 3.6% การลงทุนเอกชนขยายตัว 4.5% จากเดิม 4.4% การลงทุนภาครัฐขยายตัวเพิ่มจาก 6.5% ขึ้นมาที่ 7.7% แต่ข้อจำกัดด้านการเบิกจ่ายทำให้การอุปโภคภาครัฐขยายตัว 2.2% จาก 2.7% ส่วนการส่งออกปรับลดลงจาก 5.0% เป็น 4.3% เนื่องจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่ยังประเมินผลได้ยากว่าจะมีผลกระทบมากน้อยเพียงใดและจะมีผลกับธุรกิจไทยแตกต่างกันซึ่งสะท้อนจากการปรับลดประมาณการณ์ส่งออกลง หากไม่มีผลกระทบดังกล่าว การส่งออกปี 2562ประเมินว่าจะขยายตัวได้มากกว่า 5.0% อย่างไรก็ดีผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าจะมีผลมากในช่วงปี 2563-2564 ด้านมูลค่าการนำเข้าคาดขยายตัว 5.6% จาก 6.9% และประเมินดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 3.63 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐจากเดิมคาด 3.60 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จำนวนนักท่องเที่ยวยังขยายตัวดีที่ 40.6 ล้านคน จากเดิม 40.0 ล้านคน ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 1.1% จาก 1.2% ผลจากราคาอาหารสดที่ลดลงและส่งผลต่อเนื่องถึงราคาอาหารสำเร็จรูปด้วย เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ลดลงมาอยู่ที่ 0.8% จาก 0.9%

นายจาตุรงค์ กล่าวด้วยว่า ยังต้องติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด เพราะค่าเงินบาทมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลภูมิภาคจากเงินทุนไหลเข้า เพราะนักลงทุนต่างชาติมองว่าเงินบาทเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย (Safe Heaven) เมื่อเทียบกับประเทศเกิดใหม่อื่นจากฐานะต่างประเทศของไทยที่มีความแข็งแกร่ง ทั้งนี้ กรณีที่มีเงินทุนไหลออกค่าเงินบาทก็อ่อนค่าน้อยกว่าสกุลอื่น ทำให้ค่าเงินบาทอาจจะไม่สะท้อนพื้นฐานเศรษฐกิจจริงของไทย และพบว่าค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐปัจจุบันยังทรงตัวใกล้เคียงสิ้นปีก่อน แต่ดัชนีค่าเงินบาท(Neer) เทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่งแข็งค่าขึ้นจากสิ้นปี 2560 ถึงปัจจุบันถึง 4% ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image