มองข้ามปี 2561ไปยังปีหน้า ตลาดหุ้นไทยยังสดใสหรือไม่?

แฟ้มภาพ

สวัสดีครับ พบกันอีกครั้งในคอลัมน์ “คิด เห็น แชร์” รอบนี้ตามสัญญา เริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์แนวโน้มตลาดหุ้นไทย หลังจากที่มีความคืบหน้าเรื่องสำคัญ 2 เรื่องที่ผมทิ้งท้ายไว้ในการพบกันครั้งล่าสุดคือ 1) ประเด็นสงครามการค้าสหรัฐ-จีน และ 2) ประเด็นความคืบหน้าเรื่องการเลือกตั้งทั่วไปของไทย

มาที่ประเด็นแรกคือเรื่องสงครามการค้าสหรัฐ-จีน กันก่อน ล่าสุดทางสหรัฐและจีนตัดสินใจออกมาตรการทางภาษีตอบโต้กัน ซึ่งทางฝ่ายวิจัย บล.เคจีไอ ประเทศจีน และไต้หวัน ประเมินผลกระทบต่อ GDP สหรัฐและจีนในปี 2562 เท่ากับ 0.55% และ 0.85% ตามลำดับ (GDP ปี 2562 ของสหรัฐและจีนในประมาณการของ IMF ก่อนที่จะมีประเด็นสงครามการค้าเท่ากับ 2.66% และ 6.41% ตามลำดับ)

ดังนั้น ในกรณีที่ทั้ง 2 ประเทศไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใดๆ ออกมาชดเชย หรือไม่สามารถหาข้อสรุปผ่านทางการเจรจาการค้าได้ อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกรวมถึงไทยด้วย (ล่าสุดที่ประชุม กนง. ปรับลดประมาณการมูลค่าส่งออกของไทยปี 2562 ลง เป็น 4.3% จากเดิมคาดไว้ที่ 5.0%)

อย่างไรก็ดี ภายหลังการออกมาตรการทางภาษีของทั้ง 2 ประเทศ ตลาดหุ้นโลกรวมทั้งไทยกลับดีดตัวขึ้น คาดเป็นผลจากอัตราการเก็บภาษีเป็นไปตามที่ตลาดคาดไว้ก่อนหน้า ทำให้เกิดแรงซื้อคืนหุ้น (เป็นกรณี ตรงข้ามกับการขายหุ้นเมื่อข่าวดีประกาศ หรือที่เรียกว่า “Sell on fact” ดังนั้น ในกรณีนี้อาจ
เรียกว่าเป็นการ “Buy on fact”)

Advertisement

ประเด็นที่สอง คือ ความคืบหน้าการเลือกตั้งทั่วไปของไทย ที่ทยอยคลายล็อกแล้วทีละประเด็น เป็น Sentiment บวกต่อสถานการณ์การลงทุนในตลาดหุ้นไทย เมื่อถ่วงน้ำหนักทั้ง 2 ประเด็นแล้วจะเห็นได้ว่า ยังคานกันอยู่ทั้งปัจจัยลบและบวก

ผมยังคงประเมินว่าขณะนี้ “Valuation” ตลาดหุ้นไทย “ไม่ถูก” โดยหากพิจารณากำไรของบริษัทจดทะเบียนใน SET index ปี 2561 ปัจจุบันที่ 108 บาท/หุ้น (ลดลงจากคาดการณ์ตอนต้นปี 2561 ที่ 110 บาท/หุ้น) เร่งตัวขึ้นไม่ทันอัตราดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้น (แม้ว่าล่าสุดที่ประชุม กนง.จะยังมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ แต่อัตราผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาลไทย 5 ปี ที่เป็นตัวแทน Risk Free หรืออัตราผลตอบแทนจากการลงทุนโดยปราศจากความเสี่ยง ปรับขึ้นมาแล้วมากกว่า 0.25% ล่าสุดตอนนี้อยู่ที่ 2.35%) ส่งผลให้ส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นกับพันธบัตรรัฐบาล หรือ “Earnings yield gap” ลดลง อยู่ในระดับ 3.82% (ใช้ดัชนี SET index ที่ 1,750 จุดในการคำนวณ) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลังตั้งแต่ปี 2553-ปัจจุบัน ที่ 4.45% (แปลความหมายได้ว่า ตอนนี้อัตราผลตอบแทนในหุ้นมีความน่าสนใจลดลงเมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาล หรือ Valuation ตลาดหุ้นไทยขณะนี้ “ไม่ถูก”)

อย่างไรก็ดี หากผมเลื่อนการใช้ข้อมูลกำไรของบริษัทจดทะเบียนใน SET index เป็นปี 2562 (ข้อมูลจาก Bloomberg consensus) ที่ 118.4 บาท/หุ้น (เติบโต +9.6% YoY) เมื่อเทียบกับอัตราผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาลจะได้ ส่วนต่างหรือ Earnings yield gap ที่สูงขึ้นเป็น 4.42% ขึ้นมาใกล้เคียงค่าเฉลี่ยย้อนหลัง และประกอบกับการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 น่าจะเป็นตัวช่วยให้เม็ดเงินลงทุนต่างชาติกลับมาตลาดหุ้นไทยได้ ซึ่งจะทำให้มีโอกาสที่ PE ของตลาดหุ้นไทยกลับสู่ระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยได้ (ปัจจุบัน PE ปี 2561 และ 2562 ของ SET index อยู่ที่ 16.2 เท่า และ 14.8 เท่า ตามลำดับ ขณะที่ค่าเฉลี่ย Forward PE ในอดีตย้อนหลังตั้งแต่ปี 2553-ปัจจุบัน อยู่ที่ 14.2 เท่า) ดังนั้น โดยสรุปเรายังเชื่อว่าการลงทุนในตลาดหุ้นไทยยังมีโอกาสสำหรับการลงทุน ถ้าสถานการณ์ต่างๆ เป็นไปตามคาด

Advertisement

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังอยู่ในเดือน ก.ย.2561 และยังมีประเด็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ที่หากไม่มีการเจรจาการค้า อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และรวมไปถึงกำไรของบริษัทจดทะเบียนอีกด้วย (เราเชื่อว่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่ทำประมาณการปี 2562 ยังไม่ได้ประเมินถึงผลกระทบจากประเด็นสงครามการค้าในประมาณการ) ดังนั้น หากใช้ข้อมูลประมาณการปี 2562 มาใช้ในการประเมิน Valuation ในขณะนี้ จึงอาจจะเร็วเกินไป จากประสบการณ์ของผมที่เป็นนักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานและปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์ด้านกลยุทธ์การลงทุน โดยปกตินักวิเคราะห์และนักลงทุนจะเริ่มใช้ข้อมูลปี 2562 ในการประเมินราคาเหมาะสม และคำแนะนำการลงทุน ภายหลังการรายงานงบการเงินไตรมาสที่ 3 ซึ่งจะเริ่มทยอยรายงานในเดือน ต.ค.2561 จนถึงกลางเดือน พ.ย.2561 ผมจึงแนะนำว่า การที่ตลาดหุ้นไทยผันผวนในขณะนี้ (เดือน ก.ย.) จึงเป็นโอกาสในการสะสมเพื่อการลงทุนระยะกลาง หรือ 3-6 เดือน เนื่องจากเชื่อว่าในระยะสั้น ตลาดหุ้นไทยจะยังคงผันผวนอยู่บ้าง

พบกันครั้งถัดไป คาดว่าจะเริ่มมีข้อมูลการ “Preview” หรือคาดการณ์แนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 3 แล้ว ซึ่งจะทำให้เริ่มเห็นภาพแนวโน้มของแต่ละอุตสาหกรรมในปี 2562 ได้ชัดเจนขึ้น และอาจเป็นตัวชี้ว่าตลาดหุ้นไทยปี 2562 มีโอกาสที่จะโดดเด่นกว่าตลาดหุ้นประเทศอื่นในเอเชียได้หรือไม่

สุโชติ ถิรวรรณรัตน์
ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์
เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image