ท.ทหาร ฟังเสียงเด็ก โดย : สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน, พจนา อาภานุรักษ์

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 จนถึงปัจจุบัน เราปฏิเสธไม่ได้ว่าพื้นที่บริเวณ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นพื้นที่ที่ยังคงถูกจับตามองในเรื่องสถานการณ์ความไม่สงบมากว่า 15 ปี ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรง ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่มาจากการสูญเสียพ่อแม่ การพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รัก การได้รับบาดเจ็บจนถึงขั้นพิการ ตลอดจนการสูญเสียชีวิต

จากการรวบรวมข้อมูลสถิติของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พบว่าเด็กกว่า 200 คน ต้องสูญเสียชีวิตพร้อมพ่อหรือแม่จากเหตุการณ์ความรุนแรง เด็กกว่า 1,000 ได้รับบาดเจ็บซึ่งส่วนใหญ่มาจากการวางระเบิด และเด็กกว่า 5,000 ต้องกลายเป็นเด็กกำพร้าจากการสูญเสียพ่อหรือแม่ ซึ่งนอกจากปัญหาจากสถานการณ์ความรุนแรงแล้ว พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ยังพบปัญหาภาวะทุพโภชนาการ ความยากจนและความเหลื่อมล้ำ อนามัยของแม่และเด็ก อัตราการเสียชีวิตของมารดาสูงในการให้กำเนิดบุตร ตลอดจนปัญหาด้านการศึกษาที่ไม่สามารถตอบสนองต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรม คุณภาพการศึกษาอยู่ในระดับต่ำสุดของประเทศ

กำแพงภาษา ความเชื่อทางศาสนา ความคิดเรื่องการแบ่งแยกดินแดน ต่างถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างในการสร้างอคติและภาพบังตา ที่ทำให้เชื่อว่าคนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้นั้นแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ที่เรียกตัวเองว่าเป็น “คนไทย” ในทุกๆ วัน ภาพสถานการณ์ความรุนแรงยังคงถูกผลิตซ้ำแล้วซ้ำเล่าผ่านสื่อแทบทุกช่องทาง ซึ่งเป็นเหตุสำคัญให้กระแสการไหลเวียนของคนในพื้นที่ตอนบนสู่พื้นที่ด้ามขวานเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทำความเข้าใจกันในฐานะมนุษย์ การปะทะสังสรรค์เชิงวัฒนธรรมในพื้นที่จึงแทบจะไม่เกิดขึ้น ความหวาดกลัวกริ่งเกรงความรุนแรง การสูญเสียเกิดขึ้นจนแทบไม่มีใครกล้าลงไป หรือแม้กระทั่งเด็กในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เอง เมื่อได้เข้ามาเรียนรวมกับเพื่อนวัยเดียวกันในเขตเมือง บางส่วนก็ยังถูกทำให้รู้สึกว่าตนเองแตกต่างและแปลกแยกจากเด็กคนอื่นๆ คำถามสำคัญคือจะทำอย่างไรให้เกิดการเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนระหว่างคนต่างวัฒนธรรม ให้ได้เข้ามาทำความเข้าใจ ศึกษา เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันฉันท์เพื่อนมนุษย์ได้ในสังคมพหุวัฒนธรรมที่น่าจะเป็นความคิดหลักมากกว่าการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จดังที่มีอยู่

อคติอีกอย่างหนึ่งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ถูกทำให้เกิดขึ้น และอาจกล่าวได้ว่าเป็นสถานการณ์ร่วมกันของเยาวชนทั้งประเทศ แต่มีความรุนแรงและซับซ้อนกว่าในพื้นที่นี้ คือ เด็กกว่า 90% ที่ตกหล่นจากระบบการศึกษากับการถูกจับตามองในฐานะเป้าหมายของการรวมกลุ่มเพื่อก่อความไม่สงบในพื้นที่ ด้วยพฤติกรรมการเป็นเด็กแว้นซิ่งมอเตอร์ไซค์ ปัญหายาเสพติด และการทะเลาะวิวาทในที่สาธารณะ ทำให้ขาดการยอมรับและการได้รับโอกาสที่ดีในการพัฒนาตัวเอง ใช้ชีวิตล่องลอยอยู่ในแต่ละชุมชนอย่างไร้จุดหมายไปในแต่ละวัน

Advertisement

แต่จากการลงพื้นที่ศึกษาดูงานที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาและสภาเด็กและเยาวชนที่อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ติดกับชายแดนมาเลเซีย ทีมศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว ได้พบกับแสงไฟในชายแดนใต้ผ่านรูปแบบการทำงานของสภาเด็กฯ ที่ให้เด็กนอกระบบการศึกษากลุ่มสกอเปียนเป็นฝ่ายบริหารและเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนการทำงานในพื้นที่ น้องๆ ที่นี่เล่าให้เราฟังว่า พวกเขาเป็นเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป ทั้งเหตุผลที่ว่าด้วยพ่อแม่ไม่เชื่อว่าการเรียนในระดับที่สูงขึ้นจะช่วยให้พวกเขามีชีวิตและเศรษฐฐานะที่ดีขึ้นได้ จะดีกว่าหากออกมาช่วยพ่อแม่ทำงานหลังจากจบมัธยมศึกษาตอนต้น และเหตุผลที่ว่าบางคนอยู่ในกลุ่มนางฟ้า ซึ่งเป็นกลุ่ม LGBT หรือกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเมื่อต้องใช้ชีวิตในสังคมที่มีค่านิยมและความเชื่อที่ยังไม่ได้ยอมรับคนที่มีอัตลักษณ์เช่นนี้ ยิ่งทำให้ถูกกดทับในด้านของโอกาสและการมีที่ยืนในสังคม เป็นเหตุให้ชีวิตประจำวันของพวกเขาก่อนเข้ามาร่วมกิจกรรมสภาเด็กฯ จึงหมดไปกับการใช้เวลาเที่ยวเล่นสนุกกับกลุ่มเพื่อนเสียเป็นส่วนใหญ่

ด้วยความซับซ้อนของปัญหาด้านเด็กและเยาวชนในพื้นที่นี้ ทั้งในมิติที่มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย และมิติด้านค่านิยมและความเชื่อ การขาดพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อแสดงศักยภาพ ช่องทางสภาเด็กและเยาวชนจึงเป็นทางออกในการพัฒนาและสร้างตัวตนให้กับกลุ่มเด็กนอกระบบการศึกษา น้องๆ ที่นี่ได้เข้าร่วมโครงการการศึกษาและพัฒนานวัตกรรมทางสังคมเพื่อขับเคลื่อนสุขภาวะโดยการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน : กรณีศึกษานำร่องสภาเด็กและเยาวชนระดับจังหวัด โดย ผศ.ชานนท์ โกมลมาลย์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยได้รับการสนับสนุนจาก สสส. สำนัก 4 ทำให้เกิดโครงการ Life Change 3D ของกลุ่มสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดยะลา ที่ตั้งต้นจากสภาพปัญหาของกลุ่มเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ที่ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมและถูกลดทอนคุณค่าภายในตนเอง โดยทำงานร่วมกับเด็กในระบบโรงเรียน รวมกลุ่มกันลงพื้นที่ทำงานจิตอาสา ทั้งงานพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น การช่วยซ่อมแซมถนน การช่วยงานชุมชนเมื่อมีเทศกาลและงานสำคัญๆ และนอกจากนี้ยังมีโครงการพื้นที่สร้างสรรค์ กิน เล่น เรียนรู้ ที่มีการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมทาสีและปรับภูมิทัศน์โรงเรียนในชุมชน การถ่ายทอดวัฒนธรรมแสดงพื้นบ้านดีเกฮูลูให้กับเด็กๆ กิจกรรมอาซูรอสานสัมพันธ์ที่เป็นการถ่ายทอดวัฒนธรรมการทำขนมมุสลิม กิจกรรมสภากาแฟที่เป็นการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ของกลุ่มแม่บ้านและสตรีในชุมชนร่วมกับเด็กและเยาวชน ซึ่งด้วยการทำกิจกรรมเหล่านี้ ทำให้กลุ่มเยาวชนในอำเภอยะหาได้มีโอกาสในการแสดงตัวตนในเชิงสร้างสรรค์ สานสัมพันธ์กับคนต่างวัย รวมถึงค่อยๆ ลดอคติและเปลี่ยนมุมมองของผู้ใหญ่ที่มีต่อพวกเขาได้

บทเรียนอย่างหนึ่งที่เราเห็นได้จากกรณีการทำงานพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่อำเภอยะหา คือการให้เจ้าของพื้นที่โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้มีสิทธิมีเสียงในการตัดสินใจเลือกกิจกรรมที่จะใช้ในการพัฒนาชุมชนของพวกเขา โดยไม่ต้องให้ใครมาบังคับใช้อำนาจและออกคำสั่งให้ทำ จากตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยผ่านการทำรัฐประหารมา 2 ครั้ง เปลี่ยนผ่านมา 6 รัฐบาล แต่รูปแบบที่ใช้ในการพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้กลับไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก แม้ว่ารัฐจะมีความพยายามในการระดมทรัพยากรจากหลากหลายช่องทาง ทั้งจากกองทัพเอง มีการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจ หรือการสนับสนุนจากภาคเอกชนโดยการลงไปทำงานกับพื้นที่จากภาคประชาสังคม

Advertisement

แต่เหตุใดพื้นที่ใน 3 จังหวัดจึงยังไม่ได้รับการพัฒนาให้ไปไกลกว่าเดิมเหมือนกับพื้นที่ในภูมิภาคอื่นของประเทศ? อาจจะเป็นด้วยความแตกต่างทางด้านภาษาและวัฒนธรรมที่ยังไม่ได้ถูกมีการสื่อสารให้เข้าใจอย่างทั่วถึงในระดับสาธารณะ หรือด้วยนโยบายสั่งการจากด้านบน ที่มักถูกส่งตรงลงมาโดยไม่ได้ถามความต้องการของคนในพื้นที่และขาดการมีส่วนร่วมในระดับนโยบาย จึงทำให้เกิดรูปแบบการพัฒนาที่ไม่สามารถแทรกซึมเข้าไปในพื้นที่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังคงต้องหาคำตอบกันต่อไป และน่าจะยึดกระแสพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 ที่ทรงให้แนวทางไว้ เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา

ในภาวะที่มีข้อมูลเชิงสถิติปรากฏชัดแล้วว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้นั้น เป็นกลุ่มเด็กเสียส่วนใหญ่ คงถึงเวลาแล้วที่ ท.ทหาร ในฐานะรัฐบาลและเป็นผู้กำหนดนโยบายออกคำสั่งในการดูแลควบคุมพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ต้องหันมาทำงานโดยฟังเสียงของคนในพื้นที่เป็นหลัก โดยเฉพาะการฟังเสียงเด็กและเยาวชน เสริมพลังชีวอำนาจให้พวกเขาในฐานะคนรุ่นใหม่ได้เป็นเจ้าของงานพัฒนาชุมชน เรียนรู้ เปิดใจ ลดอคติ และมองเห็นคุณค่าภายในของพวกเขาในฐานะมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน เพราะหากยังคงมุ่งมั่นทำงานพัฒนาชุมชนแบบสั่งการ นำเสนอแต่ภาพผลงานการปราบปรามความรุนแรง งานที่ได้ก็จะเป็นไปแค่การตอบโจทย์การทำงานรัฐบาล แต่ยังคงทอดทิ้งคนและกักขังพื้นที่ชายแดนใต้ให้เป็นดินแดนแห่งความกลัวที่ไม่แตกต่างไปจากเดิม

ท้ายที่สุดนี้ การสร้างให้สังคมไทยโดยรวมรับรู้ภาพจำของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ในแง่บวกก็เป็นอีกโจทย์ที่สำคัญที่จำเป็นต้องสร้างให้เกิดขึ้นจริง เพราะคนเราจะเรียนรู้และเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้ก็ต่อเมื่อมีบรรยากาศที่ส่งเสริมให้คน “มีความกล้า” ที่จะลงไปสัมผัส สำรวจ ท่องเที่ยว และซึมซับวีถีชีวิตผู้คนที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ดี จงอย่าปล่อยให้มายาคติเรื่องความรุนแรงมาปิดกั้นโอกาสในการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกัน และจงเปิดรับผู้คนที่มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน น่าจะสันติสุขอย่างแท้จริงมิใช่หรือ

สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน
พจนา อาภานุรักษ์
ศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการ
ด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image