ขั้นตอน และสิทธิ ‘ทนายตั้ม’ หลังบอร์ดสภาทนายความชี้ ตั้งกก.สอบมรรยาท ปธ.กก.สงสัยร้องผิดขั้นตอน!!

นายษิทรา เบี้ยบังเกิด

เมื่อวันที่ 28 กันยายน  นายสุนทร ทรัพย์ตันติกุล  ประธานกรรมการมรรยาททนายความ ได้กล่าวถึงกรณีที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสภาทนายความ ฯ (บอร์ดชุดใหญ่) มีมติเอกฉันท์ให้ส่งเรื่องร้องเรียนนายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม เรียกรับเงินวิ่งเต้นคดีกลุ่มผู้ค้าส่งออกกุ้ง ให้ประธานกรรมการมรรยาทพิจารณาว่า ตนยังไม่ทราบรายละเอียดที่ชัดเจน ก็ต้องรอรับหนังสือจากบอร์ดบริหารสภาทนายฯ ก่อนว่าให้ดำเนินการอะไร อย่างไรบ้างจะให้รวบรวมข้อเท็จจริง หรือทำอะไร ซึ่งปกติแล้วการยื่นร้องเรียนเรื่องพฤติกรรมทนายความที่กระทำการเสื่อมเสียมรรยาทนั้นจะต้องร้องตรงที่สำนักงานมรรยาททนายความ สภาทนายความฯ และเป็นอำนาจของประธานกรรมการมารยาทจะพิจารณารับคำร้องไว้หรือไม่ หากรับคำร้องก็จะให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง 3 คนต่อไป มิใช่อำนาจโดยตรงของบอร์ดชุดใหญ่ในการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ส่วนการยื่นร้องต่อบอร์ดบริหารชุดใหญ่ที่บอร์ดจะมีอำนาจดำเนินได้เลยคือเรื่องการขาดคุณสมบัติทนายความ ดังนั้นขอดูรายละเอียดเกี่ยวกับมติบอร์ดชุดใหญ่ก่อน

เมื่อถามถึงขั้นตอนปฏิบัติการสอบมรรยาททนายความกับกรณีทั่วไป  นายสุนทร กล่าวว่า ถ้ามีคำสั่งรับเรื่องไว้สอบมรรยาทแล้ว ก็จะตั้งทนายความที่มีอาวุโส 10 ปีขึ้นในการปฏิบัติหน้าที่ทนายความ และเป็นผู้ไม่มีความประพฤติเสื่อมเสีย ไม่มีประวัติถูกร้องเรียนและไม่เคยถูกลงโทษหรือถูกลบชื่อ จำนวน 3 คนมาเป็นคณะกรรมการฯ สอบ ซึ่งระยะเวลาในการสอบสวนช้อเท็จจริงไม่มีกำหนดไว้ ก็จะเวลาเกิน 1 เดือนแน่ โดยต้องให้โอกาสทนายความที่ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงจนครบถ้วน และเรียกผู้เสียหายมาให้ข้อมูลด้วย โดยการสอบสวนข้อเท็จจริงนั้นต้องทำด้วยความรอบคอบแน่นอน และเป็นการรับฟังทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ใช่ข้อมูลเพียงฝ่ายเดียวและการสอบมรรยาทนั้นกระทำโดยคณะสอบสวนฯ ที่ตั้งขึ้นตามอำนาจประธานกรรมการมรรยาท และยืนยันว่าไม่มีส่วนใดที่เข้ามาแทรกแซงได้

“การสอบสวนก็จะเป็นไปตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีมรรยาททนายความ พ.ศ.2546 และเมื่อสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วก็จะทำความเห็นว่า การกระทำที่ถูกร้องเรียนนั้นเป็นการประพฤติตนไม่เหมาะสมผิดมรรยาททนายความหรือไม่ ถ้าผิดต้องลงโทษอย่างไร หนักเบาแค่ไหน หลังจากนั้นจะเสนอให้บอร์ดชุดใหญ่ทราบและพิจารณา โดยส่วนของผู้ถูกกล่าวหานั้น ถ้าถูกลงมติว่ากระทำผิดมรรยาททนายความ ก็ยังสามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ต่อสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความที่มี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ดำรงตำแหน่งอยู่ ซึ่งหาก รมว.ยุติธรรมเห็นชอบตามคำสั่งลงโทษเป็นเด็ดขาดแล้ว ผู้ถูกกล่าวหานั้นสามารถใช้สิทธิตามกฎหมาย ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษมรรยาททนายความ อันเป็นคำสั่งทางปกครองต่อไปได้”นายสุนทร กล่าว

ด้าน  ว่าที่ ร.ต.สมบัติ วงศ์กำแหง  โฆษกสภาทนายความฯ กล่าวย้ำว่า การประชุมของบอร์ดบริหารสภาทนายฯ ชุดใหญ่ วันนี้ เห็นว่าจะต้องรวบรวมเอกสารที่นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงษ์  ร้องเข้ามาให้ครบถ้วน ตรวจดูการลงชื่อของกลุ่มผู้ค้าส่งออกกุ้ง ที่เป็นผู้เสียหายให้ครบถ้วนแล้วส่งให้ประธานกรรมการมารยาททนายความพิจารณาและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image