คลอดแผนพัฒนา “คุ้งบางกะเจ้า” ระยะ 5ปี สู่แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ รองผู้อำนวยการ รักษาการผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าสู่ความยั่งยืน ครั้งที่ 1/2561 มี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นประธานการประชุม ได้เห็นชอบแผนการดำเนินงานส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตามที่ อพท. นำเสนอประกอบด้วย 5 แนวทาง คือ สร้างความรู้และความเข้าใจของชุมชนท้องถิ่น, สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน, ใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชน, ส่งเสริมความเข้มแข็งโดยใช้กลไกบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว ,การช่วยสร้างและกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวให้เกิดอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

“ ปัจจุบันคุ้งบางกะเจ้า เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คนทั่วไปรู้จักกันดีอยู่แล้ว สิ่งที่ อพท. จะเข้าไปดำเนินการคือการนำองค์ความรู้ที่ อพท. มีอยู่ไปพัฒนาศักยภาพให้กับชุมชน เพื่อให้มีความเข้าใจในเรื่องของการบริหารจัดการฐานทรัพยากร ทุนทางวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่มีอยู่นั้นให้เกิดการสืบทอดอย่างยั่งยืน ที่สำคัญคือเรื่องของการร่วมรับผลประโยชน์ที่ทุกชุมชนในคุ้งบางกะเจ้าต้องได้รับร่วมกันอย่างทั่วถึง” นายทวีพงษ์กล่าว

นายทวีพงษ์กล่าวว่า ทั้งนี้ ตามแผนดำเนินงานใน 5 แนวทางดังกล่าว เป้าหมายเพื่อพัฒนาคุ้งบางกะเจ้า ให้เกิดการขับเคลื่อนด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตามโครงการ “OUR Khung Bang Kachao” ระยะ 5 ปี ซึ่ง อพท. จะต้องลงพื้นที่ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดทำแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในทุกระดับ ตามเกณฑ์พัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ GSTC จัดทำกลไกการบริหารจัดการท่องเที่ยวที่มีความเข้มแข็ง และมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนและทุกระดับ จัดทำข้อตกลงร่วมกันให้กับชุมชน ในการใช้ทรัพยากรการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สร้างความสามัคคีผ่านกิจกรรมรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ชุมชนเกิดความรัก ความเป็นเจ้าของ หวงแหนท้องถิ่น และมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยว เป้าหมายสุดท้ายคือผลจากการดำเนินงาน ชุมชนต้องมีความสุขจากการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

นายทวีพงษ์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การทำงานของ อพท. เรามุ่งนำองค์ความรู้ด้านการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่ อพท. พัฒนาขึ้นมาจากเกณฑ์พัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก ไปมอบให้ท้องถิ่นและชุมชน โดยมีเป้าหมายว่าการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับแนวนโยบายของรัฐบาล ด้านความสะดวก สะอาด ปลอดภัย และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งภายหลังที่ประชุมเห็นชอบแผนดำเนินงานแล้วนั้น อพท. จะเริ่มดำเนินงานต่อไป

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image