กรุงไทยเผยบาทผันผวนสูง เปิดแข็งค่า32.70บาทต่อดอลล์

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันที่ 12 ตุลาคม เปิดแข็งค่าที่ระดับ 32.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจาก 32.75บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน เป็นการแข็งค่าตามดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง ทั้งนี้ ในคืนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงผันผวนต่อ ดัชนี S&P500 ปรับตัวลงอีก 2.06% ดัชนี Nasdaq ก็ปรับตัวลง 2.13% เช่นเดียวกับดัชนี Stoxx50 ของยุโรปที่ปรับตัวลง 1.77% ชี้ว่านักลงทุนยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk Off) ขณะที่ฝากเศรษฐกิจ เงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐ (Core CPI)ในเดือนล่าสุด ปรับตัวสูงขึ้น 2.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน น้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ ขณะที่ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานในสหรัฐ (Initial jobless claim) ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7 พันตำแหน่งมาที่ 2.1 แสนตำแหน่ง แย่กว่าที่ตลาดคาดเช่นกัน สะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐที่มีความร้อนแรงลดน้อยลง ในช่วงสั้นจึงต้องกลับมารอดูผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐเพื่อหาทิศทางการลงทุนต่อไป

นายจิติพล กล่าวว่า ภาวะดังกล่าวส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร(บอนด์ยิลด์) สหรัฐอายุ 10 ปีที่ปรับตัวลงมาที่ระดับ 3.15% แม้จะยังอยู่ในระดับสูงแต่ก็แสดงให้เห็นว่า ความกังวลทั้งเรื่องเงินเฟ้อที่เร่งตัว และความตึงเครียดของนโยบายการเงินได้ลดลงแล้ว ฝั่งตลาดเงิน มีความเคลื่อนไหวเรื่องที่กระทรวงการคลังสหรัฐ (US Treasury) ได้แจ้งกับรัฐมนตรีว่าไม่สามารถจัดค่าเงินหยวนเป็นสกุลเงินที่ถูกแทรกแซง (Manipulated currency) ได้ด้วยมาตรฐานปัจจุบัน และให้ความเห็นว่าความพยายามที่จะแปะป้ายเงินหยวนให้เป็นสกุลเงินที่ถูกแทรกแซง อาจส่งผลลบกับทิศทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนมากขึ้นอีก โดยรายงานดังกล่าวจะถูกเผยแพร่ในช่วงสัปดาห์หน้า

นายจิติพล กล่าวว่า ตลาดการเงินไทยเจอกับแรงขายของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลง 2.26% และมีแรงขายต่างชาติที่ระดับหมื่นล้านในวันทำการก่อน แต่จุดเด่นของเงินทุนเคลื่อนย้ายในไทยรอบนี้ คือยังคงมีเงินทุนไหลเข้าในฝั่งตราสารหนี้ช่วยไว้ ส่งผลให้เงินบาทไม่ได้อ่อนค่ามาก อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทค่อนข้างมีความสูง โดยปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 33.05 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ปัจจุบันค่าเงินบาทแข็งค่าจากช่วงเปิดตลาดมาอยู่ที่ 32.65 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เปลี่ยนแปลงเร็วถึง 0.50 สตางค์ ทำให้พบว่าขณะนี้มีผู้ประกอบการที่ค้าขายกับต่างประเทศเข้ามาทำประกันรวามเสี่ยงค่าเงิน(เฮดจิ้ง) เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

“ในระยะสั้นเมื่อบอนด์ยิลด์สหรัฐปรับตัวลง และตลาดหุ้นหาที่พักฐานได้ ก็อาจไม่มีแรงส่งให้เงินบาทอ่อนค่ากลับไปแตะระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ดี แนะนำให้จับตาการเคลื่อนไหวของตลาดทุนโลกอยู่ เนื่องจากเป็นปัจจัยหลักที่จะส่งผลให้ความผันผวนอยู่ในระดับสูง คาดกรอบค่าเงินบาทวันนี้ที่ 32.67-32.87บาท” นายจิติพล กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image