โรคกล้ามเนื้อและกระดูก : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

ในกลุ่มเด็ก จนถึงวัยเรียน วัยรุ่น เป็นวัยที่ยังไม่มีปัญหาเรื่องการเจ็บป่วยด้วยโรคกลุ่มกล้ามเนื้อและกระดูก เพราะปัจจัยเสี่ยงในการที่จะทำให้เจ็บป่วยยังน้อยอยู่

แต่เมื่ออายุย่างเข้าสู่ “วัยทำงาน” การดิ้นรนทำมาหากิน ต้องควบคู่ไปกับการเอาใจใส่ดูและส่งเสริมสุขภาพ เพื่อป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ ตามหลัก 3 อ. 3 ลด เน้นเรื่อง อ.ออกกำลังกาย วันละ 30 นาที 3-4 วันต่อสัปดาห์ อ.อาหาร ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ลดอาหารหวานจัด มันจัด เค็มจัด ทานอาหารเน้นผัก ผลไม้ และอาหารโปรตีนในพืช เช่น ถั่วต่างๆ อ.อารมณ์ การมีอารมณ์ดี ยิ้มแย้ม สดใส สวดมนต์ ไหว้พระ ปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ วันละ 15-30 นาที ทุกวัน รวมถึงการ ลด ละ เลิก : เหล้า บุหรี่ สารเสพติด และลดอ้วน ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงไขมันในเลือดสูง ทำให้เกิดเบาหวาน ความดันโลหิตสูง รวมทั้งโรคแทรกซ้อน 3 โรคอันตราย ได้แก่ โรคหัวใจขาดเลือด โรคเส้นเลือดในสมองแตก ตีบ (อัมพาต) และโรคไตวาย

ซึ่งเรามีมาตรการใช้เครื่องมือเฝ้าระวัง ควบคุมป้องกันโรคเบาหวานความดันด้วย “ปิงปองจราจรชีวิต 7 สี” ใช้โดย อสม./หมออนามัย พยาบาล ในระดับ รพ.สต. โดยชุมชนเพื่อชุมชน นอกจากลดโอกาสเกิดโรคกลุ่มกล้ามเนื้อและกระดูก โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง แล้วยังรวมถึงโรคไม่ติดต่ออื่นๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคจิตประสาท เป็นต้น

ทั้งนี้ โรคที่พบบ่อยๆ จากพฤติกรรมการใช้กล้ามเนื้อและกระดูกไม่ถูกต้อง ได้แก่

Advertisement

1.ปวดกล้ามเนื้อหลัง

โรคนี้พบได้บ่อยในวัยรุ่น วัยทำงาน และผู้สูงอายุ ทั้งสองเพศ ชายและหญิง จะมาหาหมอด้วยเรื่องปวด เป็นภาวะที่ไม่มีอันตราย และมักจะหายได้เอง แต่อาจจะเป็นๆ หายๆ เรื้อรังได้

สาเหตุ : มักจะเกิดจากการทำงานก้มๆ เงยๆ ยกของหนัก นั่ง ยืน นอน หรือยกของในท่าไม่ถูกต้อง ใส่รองเท้าส้นสูงมากเกินไป หรือนอนในที่นอนนุ่มเกินไป ทำให้เกิดแรงกดตรงกล้ามเนื้อสันหลังส่วนล่าง ซึ่งจะมีอาการกล้ามเนื้อเกร็งตัว (Spasm) ทำให้เกิดอาการปวดหลังส่วนล่างได้คนที่อ้วนๆ หรือหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ก็อาจจะมีอาการปวดหลังได้เช่นกัน ส่วนคนผู้สูงอายุ เนื่องจากกระดูกเสื่อม กล้ามเนื้อหย่อนยาน ไม่ตึงกระชับเหมือนสมัยหนุ่มสาว หากยกของหนักเกินพิกัด หรือเอี้ยวตัวผิดท่าก็อาจจะเกิดอาการปวดหลังส่วนล่างได้ง่ายกว่าคนหนุ่มๆ สาวๆ เป็นแล้วจะเรื้อรังเป็นๆ หายๆ

Advertisement

อาการ : ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดตรงกลางหลังส่วนกลาง (ตรงบริเวณกระเบนเหน็บ) ซึ่งอาจจะเกิดฉับพลัน หรือค่อยๆ เป็นทีละน้อย อาการปวดอาจจะเป็นอยู่ตลอดเวลา หรือปวดเฉพาะในท่าบางท่า หรือสัมพันธ์กับการไอ จาม หรือบิดตัว เอียงตัวทำให้รู้สึกปวดมากขึ้นโดยทั่วไปผู้ป่วยจะแข็งแรงดี และไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย

สิ่งตรวจพบ : มักตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติอะไร บางรายอาจพบอาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ (Spasm) ตรวจคลำกล้ามเนื้อหลังจะพบกล้ามเนื้อเกร็งแข็งเป็นก้อนได้

การรักษา : 1.ซักประวัติให้ละเอียดต้นเหตุจากอะไร มีความสัมพันธ์กับอะไร สำคัญมากแล้วแก้ไขเสีย โดยหลักแล้วแก้ที่ต้นเหตุ เช่น ถ้าปวดหลังตอนตื่นนอนตอนเช้า ก็อาจจะเกิดจากที่นอนบุ๋มไป หรือนอนเตียงสปริง ก็แก้ไขโดยนอนที่นอนแข็งและเรียบแทน ถ้าปวดหลังตอนเย็นๆ ก็มักจะเกิดจากการนั่งผิดท่านานๆ เช่น อาจงอตัวเอียง หรือใส่รองเท้าส้นสูงเกินไป ก็อาจพยายามนั่งให้ถูกท่า หรือเปลี่ยนรองเท้าธรรมดา ถ้าอ้วนไปควรพยายามลดน้ำหนัก นั่งนานเกินไปก็ให้มีการขยับตัว หรือเปลี่ยนอิริยาบถทุก 20-30 นาทีต่อครั้ง จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ดีมาก

2.ถ้ามีอาการปวดมากๆ ให้นอนหงายบนพื้นเรียบแล้วใช้เท้าทั้งสองข้างพาดบนเก้าอี้ให้งอเข่าเป็นมุมฉากสักครู่หนึ่ง ก็อาจจะทุเลาได้ หรืออาจจะใส่ยาหม่อง หรือน้ำมันระกำทานวด หรือใช้น้ำอุ่นจัดๆ ประคบก็ได้ ถ้าไม่หาย ก็อาจใช้ยาแก้ปวด เช่น แอสไพริน พาราเซตามอน ครั้งละ 1-2 เม็ด จะกินควบกับไดอะซีแพม ขนาด 2 มิลลิกรัม ด้วยก็ได้เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

ถ้ายังไม่หายอาจให้ยาคลายกล้ามเนื้อ เช่น เมโทคาร์บามอล คาริโซม่า ครั้งละ 1 เม็ด ซ้ำได้ทุก 6-8 ชั่วโมง ผู้ป่วยควรนอนที่นอนแข็ง และมั่นฝึกการบริหารกล้ามเนื้อหรือให้แข็งแรง 3.ถ้าเป็นเรื้อรัง : หรือมีอาการปวดร้าวลงมาที่ขา หรือชาที่ขา หรือขาไม่มีแรง อาจจะเกิดจากสาเหตุอื่นร่วมด้วย ควรแนะนำผู้ป่วยให้ไปโรงพยาบาล อาจต้องเอกซเรย์ และมีการตรวจพิเศษ และให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ

ข้อแนะนำ : 1.อาการปวดหลังแบบนี้เป็นสิ่งที่พบได้บ่อยในกลุ่มชาวไร่ชาวนา กรรมกรที่ทำงานหนัก และในหมู่ที่ทำงานนั่งโต๊ะนานๆ ซึ่งมักจะเข้าใจผิดว่าเป็นอาการของโรคไต โรคกษัย และชอบซื้อยาชุด ยาแก้กษัย หรือยาแก้โรคไตกินอย่างผิดๆ ซึ่งบางครั้งอาจทำให้เกิดโทษได้ ดังนั้น จึงควรแนะนำชาวบ้านพี่น้องของเราให้เข้าใจจริงๆ ว่าสาเหตุของอาการปวดหลังคืออะไร? การหลีกเลี่ยงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนั่ง นอน ยืน เดิน ก็หายได้เอง และควรพึ่งยาเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

2.โดยทั่วไปอาการปวดหลัง เนื่องจากกล้ามเนื้อจะปวดตรงกลางหลัง (บริเวณกระเบนเหน็บ) ส่วนโรคไตมักจะปวดที่สีข้าง (มักเป็นข้างเดียวข้างใดข้างหนึ่ง) และอาจมีไข้ หนาวสั่น หรือมีปัสสาวะขุ่นหรือสีแดงเป็นน้ำล้างเนื้อร่วมด้วย

การป้องกัน : โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยนั่งให้ถูกท่า ยกของเบาๆ อย่าให้หนักเกินกำลัง ระวังรักษาอิริยาบถ (ท่านอน ท่านั่ง ท่ายืน ท่ายกของ) ให้ถูกต้อง หมั่นออกกำลังกายกล้ามเนื้อทุกส่วนโดยเฉพาะกล้ามเนื้อหลังเป็นประจำ และนอนบนที่นอนแข็งจะช่วยเฝ้าระวังปวดหลังได้ดี

2.รากประสาทถูกกด/หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน (Herniated Intervertebral disks)

โรคนี้พบได้บ่อยในคนอายุ 16-60 ปี พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ประมาณ 2 เท่า มักพบในคนที่มีอาชีพหรือชอบยกของหนักๆ หรือได้รับบาดเจ็บบริเวณหลัง หรือในคนสูงอายุที่มีหมอนรองกระดูกเสื่อมตามวัย

สาเหตุ : เกิดจากหมอนรองกระดูก หรือดิสก์ (Disk) ซึ่งเป็นกระดูกอ่อนทับรากประสาท (never root) ที่ไปเลี้ยงแขนหรือขาทำให้มีอาการปวดเสียว หรือชาของแขน หรือขาส่วนนั้น ทั้งนี้ อาจเนื่องจากได้รับบาดเจ็บการกระแทกกระทั้น หรือเกิดจากความเสื่อมตามอายุขัย ส่วนมากมักเกิดตรงบริเวณกระดูกหลัง ทำให้มีการกดทับรากประสาทไซอาติก (Sciatic) ที่ไปเลี้ยงขา เรียกโรคนี้ว่า “โรคไซอาติกา” (Sciatica) ส่วนน้อยอาจเกิดที่กระดูกคอ ทำให้การกดทับรากประสาทบริเวณคอ มีอาการปวดเสียวชาที่แขน

อาการ : ผู้ป่วยอาจมีอาการเกิดขึ้นฉับพลันทันที (เช่น หลังจากได้รับบาดเจ็บหรือยกของหนัก) หรืออาจจะค่อยๆ เป็นทีละน้อยก็ได้ ในรายที่มีการกดทับรากประสาทขา จะมีอาการปวดตรงกระเบนเหน็บ ซึ่งจะมีอาการปวดร้าวลงมาที่สะโพก ต้นขา น่อง หรือปลายเท้า อาการปวดจะเป็นมากขึ้นภายหลังจากการเดินมากๆ หรืออาจปวดมากเวลาก้ม นั่ง ไอ จาม หรือเบ่งถ่าย ในรายที่เป็นมากๆ เท้าจะไม่ค่อยมีแรงและชา อาจถ่ายปัสสาวะไม่ได้ หรือกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ มักพบเป็นข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น นอกจากในรายที่เป็นมากๆ อาจจะพบว่าเป็นทั้งสองข้าง จะมีอาการบริเวณต้นคอ ปวดร้าวและชาลงมาที่ไหล่ แขน และปลายมือ มักมีอาการชาเวลาแหงนคอไปด้านหลัง หรือหันเปลี่ยนไปข้างที่เป็น ถ้าเป็นมากแขนและมืออาจมีอาการอ่อนแรง

สิ่งที่ตรวจพบ : ในรายที่มีการกดทับรากประสาทขา สามารถทำการตรวจวินิจฉัย โดยให้ผู้ป่วยนอนหงาย และจับเท้าข้างที่สงสัยค่อยๆ ยกขึ้นโดยให้หัวเข่าเหยียดตรง จะพบว่าผู้ป่วยไม่สามารถยกเท้าเหยียดตรงได้ 90 องศา เช่นคนปกติ หรือได้น้อยกว่าเท้าอีกข้างหนึ่ง เพราะรู้สึกปวดเสียวตามหลังเท้าจนทนไม่ได้ วิธีนี้เรียกว่าการทดสอบเหยียดขาตรงตั้งฉาก (Straight leg raising test/SLRT)

1) ใช้เข็มแทงที่หลังเท้าและน่องในรายที่เป็นมากจะรู้สึกเจ็บน้อยกว่าอีกข้างหนึ่ง

2) ให้ผู้ป่วยออกแรงเหยียดหัวแม่เท้าชนต้านแรงกดของนิ้วมือ ผู้ตรวจในรายที่เป็นมากจะพบว่ามีแรงอ่อนกว่าหัวแม่เท้าข้างที่ปกติ

3) การตรวจรีเฟล็กซ์ของข้อเข่าและข้อเท้า (tendon reflex) จะพบน้อยกว่าปกติ ส่วนในรายที่มีการกดทับรากประสาทในบริเวณคอ ในระยะแรกอาจตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจนในระยะที่เป็นอาจพบกล้ามเนื้อแขนมีอาการชาหรืออ่อนแรง รีเฟล็กซ์ของข้อศอกและข้อมือน้อยกว่าปกติ

การรักษา : หากสงสัยควรส่งไปโรงพยาบาล อาจต้องเอกซเรย์กระดูกสันหลัง ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ถ้าจำเป็นอาจต้องทำการเอกซเรย์พิเศษที่เรียกว่าไมอีโลกราฟฟี (Myelography) และ/หรือ ตรวจพิเศษอื่นๆ ถ้าเป็นไม่มาก การนอนพักผ่อนอย่างเต็มที่ให้ยาแก้ปวดและไดอะซีแพม และใช้น้ำหนักถ่วงดึงอาจช่วยให้ทุเลาได้ บางรายอาจต้องใส่ “เสื้อเหล็ก” หรือ “ปลอกคอ” ถ้ารักษาด้วยวิธีดังกล่าวไม่ได้ผล อาจต้อง “ผ่าตัด” ในที่สุด

ข้อแนะนำ : 1.ผู้ป่วยควรฝึกบริหารกล้ามเนื้อหลังให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรือการเข็น หรือดันรถ และระวังรักษาอิริยาบถ (ท่านอน ท่านั่ง ท่ายืน และท่ายกของ) ให้ถูกต้องอย่าให้กระดูกสันหลังบิดเบี้ยว

2.ขณะที่มีอาการกำเริบควรนอนหงายนิ่งๆ บนที่นอนแข็งตลอดทั้งวัน (ลุกเฉพาะช่วงกินอาหารและเข้าห้องน้ำ) สัก 2-3 วัน การนอนจะช่วยลดแรงกดดันที่มีต่อหมอนรองกระดูกให้เหลือน้อยที่สุด จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ดี

3.กระดูกคองอกกดรากประสาท (Cervical Spondolysis)

เป็นโรคที่พบบ่อยในคนอายุมากกว่า 40 ปี เกิดจากกระดูกคอเสื่อมตามวัย และมีกระดูกงอกตรงบริเวณข้อต่อของกระดูกคอ ประกอบกับหมอนรองกระดูกเสื่อมและบางตัว ทำให้ช่องระหว่างข้อต่อแคบลงในที่สุด จึงเกิดการกดทับรากประสาทและไขสันหลัง

อาการ : ผู้ป่วยจะเริ่มต้นด้วยมีอาการปวดต้นคอ และมีอาการปวดร้าว และเสียวชาลงมาที่แขนและมือ ซึ่งมักจะเป็นเพียงข้างใดข้างหนึ่ง (ส่วนน้อยที่อาจจะเป็นพร้อมกัน 2 ข้าง) อาการจะเป็นมากเวลาเงยหน้า ถ้าปล่อยไว้นานๆ อาจจะมีอาการฝ่อตัวของกล้ามเนื้อบริเวณแขนและมือ และถ้าหากมีการกดทับของไขสันหลังก็อาจมีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อชาร่วมด้วยก็ได้

สิ่งที่ตรวจพบ : ระยะแรกอาจตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจนต่อมาจะพบว่ากล้ามเนื้อแขนและมือฝ่อตัวอ่อนแรง หรือมีอาการชา รีเฟล็กซ์ข้อศอกและข้อมือน้อยกว่าปกติ

การรักษา : หากสงสัย ควรรีบไปโรงพยาบาล อาจต้องเอกซเรย์ ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือถ้าจำเป็นอาจต้องตรวจพิเศษ ที่เรียกว่า ไมอีโลกราฟฟี (Myelograph) และหรือตรวจพิเศษอื่นๆ

– ผู้ป่วยส่วนมากจะมีอาการไม่มาก อาจรักษาด้วยการใส่ “ปลอกคอ” ให้ยาแก้ปวดและไดอะซีแพม

– ผู้ป่วยบางรายอาจต้องรักษาด้วยการใช้น้ำหนักถ่วงข้อต่อ

– ในรายที่เป็นมากๆ โดยเฉพาะถ้ามีการกด “ไขสันหลัง” (Spinal cord) อาจต้องผ่าตัดเพื่อขจัดการกดทับและป้องกันมิให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงมากขึ้น หลังผ่าตัดอาการปวดจะทุเลา และสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้

โดยสรุปแล้วทั้งสามโรคกล้ามเนื้อและกระดูกที่พบบ่อยๆ ซึ่งเป็นโรคไม่ติดต่อชนิดหนึ่ง (NCD) ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการใช้กล้ามเนื้อส่วนล่างและกระดูกที่สัมพันธ์กันนั้น รวมถึงพฤติกรรมการใช้อิริยาบถต่างๆ นานา โดยไม่มีการเคลื่อนไหว เคลื่อนไหวไม่ถูกท่าก็มีผลต่อการเจ็บปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะแผ่นหลังช่วงล่างก้นกบซึ่งหายเองได้ กินยาแก้ปวดเท่าที่จำเป็น ส่วนสองโรคหลังไม่ว่าจะเป็นรากประสาทถูกกด/หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน รวมทั้งกระดูกคองอกกดรากประสาท ต้องรีบตรวจวินิจฉัยโดยเร็วที่สุด

ท้ายสุดจะลงเอยด้วยการผ่าตัดแล้วอาการจากการกดทับ อาการชากล้ามเนื้ออ่อนแรงจะหายทันทีไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image