อินฟราฟัน : เปิดทีโอดีสถานีรถไฟฝรั่งเศส : นายขันตี

การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟ เพื่อให้เชื่อมต่อการเดินทางได้สะดวก มีประสิทธิภาพ และทำให้มีรายได้เพียงพอที่จะบริหารจัดการระบบขนส่งสาธารณะโดยไม่สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน ถือเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้การมุ่งเน้นขยายรถไฟฟ้าให้ครอบคลุมไปในทุกพื้นที่ของประเทศ

สัปดาห์นี้อินฟราฟันจะพาไปดูสถานีรถไฟปารีส ประเทศฝรั่งเศส ว่ามีรูปแบบการดำเนินงานอย่างไรกันบ้าง

สถานีปารีส บริหารจัดการโดยบริษัท ทางรถไฟแห่งชาติฝรั่งเศส หรือแอสแอนเซแอ๊ฟ (SNCF) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรถไฟใหญ่สุดในฝรั่งเศส

Advertisement

ปัจจุบันให้บริการ 120 เมืองในฝรั่งเศส แบ่งเป็น รางรถไฟธรรมดา ระยะทาง 3 หมื่นกิโลเมตร (กม.) และรางรถไฟความเร็วสูง ระยะทาง 2,824 กม. (ให้บริการความเร็วสูงสุด 320 กม./ชั่วโมง (ชม.) และความเร็วสูงสุด 350 กม./ชม.)

มีจำนวนผู้โดยสาร 14 ล้านคนต่อวัน ให้บริการผู้โดยสาร 15,500 เที่ยว หรือ 420 ขบวน/วัน บริษัทนี้มีจุดเด่นในเรื่องของการซ่อมบำรุง โดยสามารถเปลี่ยนรางยาว 300 เมตรได้ภายในเวลา 1 ชม. รวมทั้งใช้โดรนในการมอนิเตอร์ระบบราง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการซ่อมบำรุงได้รวดเร็วมากขึ้น

Advertisement

ทันทีที่มองเห็นสถานีก็สะดุดตาด้วยรูปแบบอาคารที่เป็นเอกลักษณ์ตามสไตล์ของทางยุโรป ภายในโอ่โถง และมีส่วนที่เป็นหลังคากระจก ที่ออกแบบตกแต่งได้สวยงาม

สถานีแห่งนี้เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางด้วยรถระบบขนส่งสาธารณะหลายรูปแบบ ทั้งรถไฟและรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ที่มีศูนย์กลางโครงข่ายอยู่ที่ปารีส โดยสามารถเชื่อมต่อไปยังจุดหมายปลายทางต่างๆ ในฝรั่งเศสได้ถึง 1,400 แห่ง

จากการสอบถามผู้บริหารของบริษัททราบว่า นอกจากการเดินรถไฟแล้ว ยังบริหารจัดการพื้นที่ในสถานี และโดยรอบสถานีรถไฟ ซึ่งถือเป็นรายได้สำคัญที่ทำให้บริษัทมีรายได้นอกเหนือจากการขนส่งสินค้าและขนส่ง   ผู้โดยสารประมาณ 1 พันล้านยูโรต่อปี (อัตราแลกเปลี่ยน 1 ยูโร ประมาณ 38 บาท)

แต่ละสถานีจะมีลักษณะคล้ายกับศูนย์การค้า เพื่อให้ผู้โดยสารหรือประชาชนสามารถจับจ่ายใช้สอยเลือกซื้อสินค้าได้ ซึ่งนอกจากจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น ยังช่วยให้เกิดการจ้างงานในแต่ละพื้นที่ที่มีสถานีรถไฟ

นอกจากร้านจำหน่ายสินค้าในสถานีรถไฟที่มีประมาณ 1,500 ร้านทั่วประเทศแล้ว ทางบริษัทยังได้ร่วมมือกับบริษัทอื่นพัฒนาร้านค้า เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถใช้สถานีเพื่อออกกำลังกาย หรือแม้แต่ดูหนังได้ด้วย

สำหรับการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี จะเน้นสถานีในพื้นที่ใกล้กรุงปารีส เพื่อสนับสนุนนโยบายที่อยู่อาศัยของประชาชนให้ได้รับความสะดวกเพิ่มขึ้น

หากไทยจะนำรูปแบบการพัฒนามาปรับใช้กับโครงการรถไฟความเร็วสูงในทุกเส้นทางที่กำลังดำเนินการอยู่ในตอนนี้ ก็คงจะเกิดประโยชน์ไม่น้อย!!

นายขันตี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image