รฟท.ปลื้มต่างชาติ เล็งร่วมพัฒนาพื้นที่บางซื่อ เป็นศูนย์คมนาคมและธุรกิจครบวงจร(ชมคลิป)

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรี​ช่วยว่าการ​กระทรวง​คมนาคม เปิดเผยภายหลังการรถไฟแห่งประเทศไทย​(รฟท.)​ รับฟังความเห็นภาคเอกชนในการลงทุน (มาร์เก็ต ซาวดิ้ง) โครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน แปลง A ว่า ศูนย์​คมนาคมพหลโยธิน หรือสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ​ของประเทศไทยและอาเซียน โดยมีพื้นที่รวม 2,325 ไร่ จะเปิดให้บริการในปี 2564 โดยมีพื้นที่ใช้สอย 264,862 ตารางเมตร เชื่อมต่อโดยตรงกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และจะทำการสร้างที่จอดรถยนต์​ 1,700 คัน พร้อมเข้าถึง 24 ชานชาลา​ คาดว่าปี 2564 จะมีปริมาณผู้โดยสาร 208,000 คน/วัน และคาดว่าจะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ภายใน 10 ปี

นายไพรินทร์  กล่าวว่า สำหรับพื้นที่แปลง A มีเนื้อที่ประมาณ 32 ไร่ มูลค่า 10,000 ล้านบาท มีแผนพัฒนาเป็นศูนย์กลางธุรกิจครบวงจร โดยเป็นแหล่งรวมอาคารสำนักงาน โรงแรม และพื้นที่การค้าปลีก โดยจะเปิดให้เอกชนและนักลงทุนที่สนใจร่วมลงทุนในรูปแบบ DBFOT (Design/Build/Finance/Operate/Transfer) อายุสัมปทาน 30 ปี ซึ่งโครงการนี้ได้ผลตอบรับจากเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ อังกฤษ และญี่ปุ่น ส่วนจีน และเกาหลี อยู่ระหว่างการตัดสินใจ สำหรับการลงทุนร่วมกับต่างชาติ นั้นจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ภายใต้ข้อกฎหมายไทยเท่านั้น

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า สำหรับแผนการดำเนินงานโครงการดังกล่าวของ รฟท.นั้นจะประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน พร้อมเปิดขายเอกสารคัดเลือกเอกชนในเดือน มกราคม 2562 จากนั้นในช่วงเดือน กุมภาพันธ์​-เมษายน 2562 จะเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอ และในเดือน สิงหาคม-พฤศจิกายน​ 2562 คาดจะลงนามสัญญาร่วมลงทุน และจะเริ่มก่อสร้างในปี 2563 จากนั้นเอกชนจะออกแบบรายละเอียดและก่อสร้างให้แล้วเสร็จในปี 2566 โดยคาดแปลง A จะเปิดให้บริการบางส่วนในกลางปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันที่สถานีกลางบางซื่อเปิดให้บริการ

Advertisement

นายวรวุฒิ กล่าวว่า รูปการลงทุน จะเป็นการลงทุนแบบผสมผสาน หรือลงทุนแบบมิกส์ ยูส อาทิ ธุรกิจครบวงจร อาคารสำนักงาน โรงแรม เป็นต้น คาดว่าภายใน 30 ปี โครงการให้ผลตอบแทน 3,000-4,000 ล้านบาท คาดว่าการก่อสร้างโครงการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อพื้นที่ แปลง A จำนวน 32 ไร่ จะก่อสร้างแล้วปี 2566  สอดคล้องกับการเปิดให้บริการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน คือ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา ซึ่งจะรองรับการใช้บริการและการเดินทางเชื่อมต่อเข้าสู่เมือง

นายวรวุฒิ  กล่าวว่า รฟท. และกระทรวงคมนาคม​ ร่วมกับองค์การร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (JICA) จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน พื้นที่รวม 2,325 ไร่ โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 9 แปลง มีการพัฒนา 3 ระยะ มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2565, 2570 และ 2575 ตามลำดับ ในเบื้องต้น รฟท.จะนำพื้นที่เชิงพาณิชย์แปลง A ซึ่งตั้งอยู่บริเวณทิศใต้ของสถานีบางซื่อ และเป็นแปลงที่อยู่ติดสถานีกลางบางซื่อมาพัฒนาเป็นลำดับแรก เพื่อให้สอดรับกับการเปิดให้บริการของสถานีกลางบางซื่อ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image