ผลสำรวจ WEF ชี้ประเทศไทยก้าวสู่ความเป็น 4.0 

รองศาสตราจารย์ ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการของ WEF (World Economic Forum) ในประเทศไทย เผยว่า ทางคณะฯเป็นผู้ทำการเก็บข้อมูลเชิงลึก จากแบบสอบถามกับผู้บริหารระดับสูง ขององค์กรขนาดใหญ่และขนาดย่อม ในทุกภาคส่วนอุตสาหกรรม เพื่อคำนวณดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก โดยมีตัวชี้วัด 98 ตัว จัดแบ่งเป็น 12 ด้าน ที่สะท้อนภาพความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศ

 รองศาสตราจารย์ ดร.พสุ  กล่าวว่า ด้วยเกณฑ์และวิธีในการคำนวณใหม่ของ WEF ที่สะท้อนภาพของการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 มากขึ้น พบว่า ไทยอยู่ในอันดับที่ 38 ด้วยคะแนน 67.5 ดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา จากอันดับ 40 และมีคะแนน 66.3 แสดงให้เห็นว่าเมื่อพิจารณาจากเกณฑ์และวิธีการคำนวณโดยใช้เกณฑ์ 4.0 แล้ว ประเทศไทยได้ก้าวสู่ความเป็น 4.0 มากขึ้น

หากเปรียบเทียบกับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก พบว่า ด้านที่มีอันดับที่ดีและส่งผลบวกต่อดัชนีความสามารถทางการแข่งขันโดยรวม ได้แก่ ด้านระบบการเงิน ไทยอยู่อันดับที่ 14 ของโลก และ ได้ 84.19 คะแนน  จาก 100 คะแนน    ด้านขนาดของตลาด ไทยอยู่ในอันดับที่ 18 ของโลก และได้ 74.88 คะแนน  จาก 100 คะแนน  สำหรับด้านที่ประเทศไทยต้องพัฒนาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวสู่ความเป็น 4.0 คือ  ด้านการแข่งขันภายในประเทศ ไทยอยู่อันดับที่ 92 ของโลก ด้วยคะแนน 53.4 โดยในด้านนี้จะเกี่ยวข้องกับระบบการแข่งขันภายในประเทศ ที่เปิดให้บริษัทต่างๆ ได้มีโอกาสในการแข่งขันอย่างเท่าเทียม รวมทั้งการปิดกั้นและความซับซ้อนของกฎระเบียบต่างๆ โดยการเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันของบริษัทต่างๆ และ กฎระเบียบที่ไม่ซับซ้อนและไม่ปิดกั้นต่อการแข่งขัน ย่อมจะนำไปสู่นวัตกรรมในด้านต่างๆ มากขึ้น นอกจากนี้ ด้านการศึกษาและทักษะ ของไทยจัดอันดับอยู่ที่ 66 ของโลก และได้คะแนน 62.99

รองศาสตราจารย์ ดร.พสุ  กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่ม ASEAN+3 ยกเว้นเมียนมา  ที่ไม่มีข้อมูล ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความใกล้ชิดกับประเทศไทยอย่างสูง นั้น ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 6 จาก 12 ประเทศ รองจากประเทศ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย และ จีน ซึ่งถือเป็นอันดับคงที่ติดต่อกันมาหลายปี สะท้อนสถานะทางการแข่งขันที่มั่นคงของไทยในเวที ASEAN+3 ได้เป็นอย่างดี

Advertisement

“ ประเทศที่ได้อันดับหนึ่งถึงสิบ คือ สหรัฐอเมริกา ตามมาด้วย สิงคโปร์ เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ ฮ่องกง สหราชอาณาจักร สวีเดน และ เดนมาร์ก ตามลำดับ โดยประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 38 โดยมีคะแนน 67.5 จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน “รองศาสตราจารย์ ดร.พสุ  กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image