บทเรียนอำนาจนิยม จากซาอุดีอาระเบีย

องค์มกุฎราชกุมาร โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน (ภาพรอยเตอร์)

 

“อำนาจนิยม” เป็นคำแปลจากภาษาอังกฤษที่ว่า “Authoritarianism” ในวิชาการทางรัฐศาสตร์หมายถึง “รูปแบบ” หนึ่งของรัฐบาลปกครองประเทศที่รวบอำนาจในการบริหารและการปกครองประเทศมาจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่ม และมีแนวโน้มบริหารและปกครองประเทศในลักษณะที่ให้ผู้ใต้ปกครองอ่อนน้อม จำนนต่ออำนาจซึ่งเป็นของตน

รูปแบบการปกครองดังกล่าวนี้เน้นไปที่การรวบอำนาจและการใช้อำนาจเป็นเครื่องมือหลักในการปกครองประเทศ

นั่นเนื่องเพราะรัฐบาลทุกรัฐบาลย่อมต้องมีอำนาจและจำเป็นต้องใช้อำนาจ แต่โดยทั่วไปแล้ว การใช้อำนาจย่อมถูกจำกัดด้วยกรอบแห่งเหตุผลและความชอบธรรม กรอบแห่งกฎหมาย และกรอบแห่งศีลธรรมจรรยา

Advertisement

แต่พฤติกรรมอำนาจนิยมย่อมไม่คำนึงถึงกรอบจำกัดเหล่านั้น ด้วยความเข้าใจคลาดเคลื่อนที่ว่า ตนคืออำนาจและสามารถใช้อำนาจได้โดยปราศจากขีดจำกัดใดๆ ยิ่งความหลงผิดมีมาก การใช้อำนาจเกินเลยยิ่งมากขึ้นตามลำดับ จนปราศจากความยับยั้งใดๆ ในที่สุด

ไม่ว่าเหตุการณ์ที่แท้จริงภายในสถานกงสุลซาอุดีอาระเบีย ณ นครอิสตันบุล ประเทศตุรกี จะเป็นอย่างไร แต่ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้อีกต่อไปแล้วก็คือ นายจามาล คาช็อกกี นักคิด นักเขียน นักเคลื่อนไหวและนักหนังสือพิมพ์ชาวซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็น “ผู้มีถิ่นพำนักโดยถูกต้องตามกฎหมาย” ในสหรัฐอเมริกา ถูกสังหารภายในสถานกงสุลแห่งนี้

ซึ่งไม่เพียงเป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญา ยังเป็นการกระทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศ และกระทำผิดจารีตประเพณีทางการทูตระหว่างประเทศชนิดอุกฤษ

Advertisement

ที่สำคัญก็คือเป็นการสะท้อนถึงพฤติกรรม “ลุแก่อำนาจ” อย่างชัดแจ้ง อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการแสดงถึงความปราศจากความยับยั้งชั่งใจ ด้วยเข้าใจว่า อำนาจแห่งตน และอำนาจแห่งนายเหนือแห่งตน สามารถปกปิด ลบล้างและพลิกขาวให้เป็นดำได้ ของทีมล่าตัว คาช็อกกี 18 คนที่ถูกทางการซาอุดีอาระเบียจับกุม ควบคุมตัวไว้ในฐานะผู้รับผิดชอบโดยตรงในกรณีนี้

ข้อกังขาของนานาประเทศต่อกรณีนี้ก็คือ กรณีที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุหากแต่เป็นการกระทำโดย “เจตนา” และเป็นไปภายใต้คำสั่งโดยตรงของนายเหนือของบุคคลเหล่านั้น

ในเมื่อบุคคลเหล่านั้น ส่วนหนึ่งเป็นคนสนิทข้างกาย หนึ่งในจำนวนนั้นเป็นถึงหัวหน้าทีมอารักขา องค์มกุฎราชกุมาร โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน รัชทายาทวัย 33 ปีแห่งราชสำนักซาอุดีอาระเบีย ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะมีการตั้งข้อสงสัยว่า เจ้าของฉายาที่รู้จักกันในซาอุดีอาระเบียว่า “เอ็มบีเอส” คือเจ้าของคำสั่งดังกล่าว

เจ้าชายเอ็มบีเอส นั้นรู้กันดีว่าเป็นผู้กุมอำนาจทั้งหมดในซาอุดีอาระเบียในยุคนี้

ถึงขนาด จอร์จ เฮย์ กับ ร็อบ ค็อกซ์ แห่ง รอยเตอร์ อุปมาไว้ว่า ถ้า ซาอุดีอาระเบีย เปรียบเสมือน บริษัทหนึ่ง “ซีอีโอ” ของประเทศนี้ก็คือเจ้าชายผู้นี้ โดยมี พระราชาธิบดี ซัลมาน บิน อับดุลลาซิซ พระบิดาทำหน้าที่ประหนึ่งเป็นประธานบริหาร

อุปมาต่อไปด้วยว่า ถ้าเป็นบริษัทเอกชนจริงๆ ผลจากการลุแห่งอำนาจครั้งนี้ ย่อมต้องลงเอยด้วยการที่ประธานบริหารต้องปลดซีอีโอ พ้นจากตำแหน่งเป็นลำดับแรกสุด ก่อนดำเนินการใดๆ ต่อไป

 เพราะสร้างความเสียหายหนักให้กับ ซาอุดีอาระเบีย

โดยเฉพาะต่อโครงการอภิมหาโปรเจกต์ “วิชั่น 2030” ที่ตั้งเป้าพลิกโฉมหน้าเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ไม่ต้องพึ่งพาความต้องการน้ำมันดิบของโลกมาใช้อุดหนุนระบบรัฐสวัสดิการและอุดหนุนการใช้ชีวิตหรูหราของบรรดาเจ้าชายทั้งหลายอีกต่อไป

โปรเจกต์พลิกโฉมเศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบียดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากต่างประเทศมหาศาล การสังหารจามาล คาช็อกกี ทำลายความสามารถในการระดมทุนดังกล่าวไปมากอย่างยิ่งในยามที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ในซาอุดีอาระเบียก็น้อยมากอยู่แล้ว

เมื่อปี 2017 ที่ผ่านมามูลค่าเอฟดีไอรวมอยู่เพียงแค่ 1,400 ล้านดอลลาร์ ต่ำสุดรอบกว่า 10 ปีเลยทีเดียว

การขาดหายไปของเงินลงทุนดังกล่าว ส่งผลสำคัญทำให้เศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบียดิ้นหนีจากการพึ่งพาน้ำมันดิบยากมากขึ้น การลดภาวะการว่างงานก็ยากขึ้นและทำให้วิสาหกิจเอกชนเติบโตเป็นไปไม่ได้ตามไปด้วย

ในฐานะพระราชบิดา ย่อมไม่สามารถปลด “เอ็มบีเอส” ทิ้งไปได้ อย่าว่าแต่เป็นเจ้าชายผู้นี้ที่เป็นเจ้าของแนวความคิดมหาโปรเจกต์ที่ว่านี้เองอีกต่างหาก

คงได้แต่ทำใจว่า วิสัยทัศน์โอฬารดังกล่าวนี้คงเป็นจริงไปไม่ได้ ตราบใดที่การลงทุนจากต่างประเทศยังไม่มีเช่นนี้

ทิ้งไว้ให้เป็นบทเรียนสำคัญของการใช้อำนาจอย่างบิดเบือนเกินเลยได้เท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image