ประเทศกูมี โดย ปราปต์ บุนปาน

หลายปีก่อน ในงานประชุมประจำปีหัวข้อ “ผู้คน ดนตรี ชีวิต” ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

มิก โมโลนีย์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องดนตรีไอริช ได้กล่าววรรคทองที่นิยามถึงลักษณะสำคัญของบทเพลงประเภทดังกล่าว และอาจกินความถึงเพลงการเมืองชนิดอื่นๆ เอาไว้ทำนองว่า

“คนชนะได้เขียนประวัติศาสตร์ ส่วนคนแพ้ก็แต่งเพลงกันไป”

มีข้อเท็จจริงจำนวนมากที่สามารถยกมาถกเถียงกับวรรคทองนี้ได้เต็มไปหมด เช่น

Advertisement

“คนแพ้” จำนวนไม่น้อย พยายามลุกขึ้นมาเขียน “ประวัติศาสตร์ทางเลือก” เพื่อท้าทายงานกระแสหลัก

“คนแพ้” ที่เลือกจะแต่งเพลงหลายราย ก็อาจย้ายข้างไปอยู่กับ “ฝ่ายชนะ” ได้เมื่อกาลเวลาผันผ่าน

หรือบางที “คนชนะ” บางส่วนก็ชอบแต่งเพลง ข้อนี้ ประชาชนที่อยู่ภายใต้การปกครองของ คสช. คงทราบกันดี

Advertisement

เพลงแร็พที่โด่งดังในรอบสัปดาห์ ซึ่งมีศักยภาพจะขยับขยายกลายเป็นบทเพลงแห่งเดือน แห่งปี แห่งยุคสมัย อย่าง “ประเทศกูมี” นั้นมีทั้งส่วนลงรอยและไม่ลงรอยกับวรรคทองข้างต้น

ณ จุดเริ่มต้น ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า นี่คือ “บทเพลงคนแพ้” หากพิจารณาถึงที่ทางของเพลงแร็พในสังคมไทย

แม้จะเริ่มมีรายการประกวดแร็พเปอร์ในโทรทัศน์ซึ่งได้รับการกล่าวถึงอยู่พอสมควร แต่นั่นก็ยังไม่ใช่รายการทีวีเรตติ้งสูง

รายการแบบเดียวกันที่มีเนื้อหาดิบโหดกว่าพร้อมชุมชนคนแร็พที่กระตือรือร้นอาจฝังตัวอยู่ในโลกออนไลน์ แต่สุดท้าย นั่นก็ยังเป็นกลุ่ม “วัฒนธรรมย่อย” ซึ่งมิได้ส่งเสียงสั่นสะเทือนไปถึงสังคมวงกว้าง

ขณะเดียวกัน การผลิตมิวสิกวิดีโอที่อ้างอิงเหตุการณ์ “6 ตุลาคม 2519” ก็คือ การเลือกบอกเล่า “ประวัติศาสตร์ที่ถูกลืมเลือนของคนแพ้”

ทว่าภาวะตื่นตูมของผู้มีอำนาจบางส่วนต่างหาก ที่กำลังจะทำให้เพลงเพลงนี้ประสบ “ชัยชนะ” เกินคาด และกลายเป็นหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยระยะใกล้

ถ้าไม่มีคำขู่จะเอาผิด ยอดคลิกเข้าชมมิวสิกวิดีโอเพลง “ประเทศกูมี” คงไม่ทะลุเกิน “10 ล้านวิว” อย่างรวดเร็วขนาดนี้

และการแพร่กระจายของมัน ณ ปัจจุบัน คงอ่อนแรงกว่า “ครางชื่ออ้ายแน” เพลงลูกทุ่งแนววาบหวิวซึ่งตีคู่กันมาในช่วงต้นๆ ก่อนที่ “ประเทศกูมี” จะสามารถดึงดูดกระแสทอล์กออฟเดอะทาวน์ได้มากกว่า ยาวนานกว่า และร้อนแรงกว่า

ถ้าไม่มีการเงื้อ “ไม้แข็ง” จากผู้บังคับใช้กฎหมาย ก็คงไม่เกิดปฏิกิริยาหลากหลายจากเหล่าคนฟังตามมา

ด้านหนึ่ง ปฏิกิริยาที่มีต่อ “ประเทศกูมี” คือเครื่องยืนยันให้เห็นว่าสังคมไทยยังคงเป็น “สังคมแบ่งข้าง (ทางการเมือง)” ชนิดเข้มข้น

แต่ในเชิงรายละเอียด ความขัดแย้งก็แปรรูปเปลี่ยนร่างไปไม่น้อย กล่าวคือ แม้คนที่เป็นเดือดเป็นร้อนกับเพลงแร็พเพลงนี้ ด้วยโลกทรรศน์ ระบบคิด วาทะแบบเดิมๆ จะยังดำรงอยู่

หากยังมีดาราหรือคนดังจำนวนหนึ่ง ที่สงวนท่าทีทางการเมืองมานาน ซึ่งเลือกจะสนับสนุน “ประเทศกูมี” อย่างเปิดเผยนุ่มนวล

เช่นเดียวกับนักการเมืองคนสำคัญๆ จากทุกพรรค ที่แทบจะไม่มีใครต่อต้านคัดค้านบทเพลงนี้ ยกเว้นนักการเมืองที่เข้าไปมีตำแหน่งในรัฐบาลชุดปัจจุบัน

เอาเข้าจริง ถ้าใครได้ฟังเพลงหรือดูมิวสิกวิดีโอ ก็จะพบว่า “ประเทศกูมี” ไม่ได้มีจุดยืนเลือกข้างแบ่งขั้วดังที่บางคนทึกทักเหมารวม แต่กลับกระตุ้นให้ผู้ฟังฉุกคิดถึงภาวะแบ่งฝักฝ่ายในฐานะ “ปัญหาใหญ่” ของสังคมไทย

ดังนั้น นอกจากการพยายามใช้อำนาจปิดกั้น “บทเพลงต่อต้านโดยคนแพ้” ที่อาจต้องการเพียงแค่ “รักษาเสียงอันแผ่วเบา” ของพวกตนเอาไว้ จะส่งผลให้เสียงดังกล่าวดังขึ้นๆ ในระบบนิเวศของสังคมออนไลน์

การปฏิเสธเพลงแร็พเพลงนี้ผ่านท่าทีคลั่งแค้นก็ยังถือเป็นการติดกับดัก “ความขัดแย้ง” ที่ “ประเทศกูมี” พยายามจะเสนอให้ทุกคนก้าวข้ามผ่านพ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image