สถานีคิดเลขที่ 12 มรดก‘กิมย้ง’ โดย : ปราปต์ บุนปาน

“กิมย้ง” ผู้ประพันธ์นิยายจีนกำลังภายในระดับขึ้นหิ้งคลาสสิกมากมายหลายเรื่อง เช่น ไตรภาคมังกรหยก, แปดเทพอสูรมังกรฟ้า, กระบี่เย้ยยุทธจักร และอุ้ยเสี่ยวป้อ ฯลฯ เพิ่งจะอำลาโลกในวัย 94 ปี

หนึ่งในคนไทยที่น่าจะพูด/เขียนถึงงานของ “กิมย้ง” ได้อย่างลุ่มลึกรอบด้านมากที่สุด เห็นจะเป็น “ถาวร สิกขโกศล” นักวิชาการด้านจีนศึกษา ผู้เขียนหนังสือ “สกัดจุดยุทธจักรมังกรหยก” ซึ่งเปรียบเสมือน “คู่มือสำคัญ” ของคนอ่านนิยายกำลังภายใน

อาจารย์ถาวรเพิ่งพูดคุยกับ “มติชนทีวี” ถึงคุณูปการด้านต่างๆ ของ “กิมย้ง” อย่างออกรส

จุดเด่นหนึ่งที่มิอาจปฏิเสธ คือ นิยายกำลังภายในของยอดนักเขียนผู้ล่วงลับแยกไม่ขาดจากเรื่องการเมือง ทั้ง “การเมืองจีน” และ “การเมืองโลก”

Advertisement

“กิมย้ง” สะท้อนประเด็นนี้ไว้อย่างเปิดเผยใน “บันทึกท้าย” แนบหลังนิยายแต่ละเรื่อง

“มังกรหยก 1” สะท้อนความรู้สึกรักชาติ รักมาตุภูมิ (อันหมายถึง จีนแผ่นดินใหญ่) ท่ามกลางยุคสงครามเย็น

ดูเหมือน “กิมย้ง” พยายามสื่อสารความรู้สึกดังกล่าวไปยังบรรดา “ลูกจีนโพ้นทะเล” เห็นได้จากการจัดวางให้สองตัวละครเอก “ก๊วยเจ๋ง-เอี้ยคัง” ต้องเติบโตและถูกเลี้ยงดูในหมู่คนต่างเชื้อชาติ (มองโกลและกิมก๊ก)

Advertisement

มาถึง “มังกรหยก 2” คราวนี้ “กิมย้ง” หันมาสะท้อนความรู้สึกของคนหนุ่มสาวทั่วโลกยุค 60 ที่กำลังเคลื่อนไหวต่อต้านจารีตแบบเดิมๆ

เขาจึงแต่งเรื่องราวให้ศิษย์-อาจารย์ อย่าง “เอี้ยก้วย” และ “เซียวเหล่งนึ่ง” กล้ารักกัน โดยมิคำนึงถึงธรรมเนียมประเพณี

ใน “กระบี่เย้ยยุทธจักร” “กิมย้ง” เริ่มคลี่คลายตัวเองจากกรอบคิดที่ติดยึดเรื่อง “ชาติ-เผ่าพันธุ์” ไปสู่การตีแผ่ธรรมชาติของมนุษย์

หนึ่งในธาตุแท้ของมนุษยชาติที่เขาเลือกนำเสนอ คือ ลักษณะ “วิญญูชนจอมปลอม” ซึ่งว่ากันว่าส่วนหนึ่งเป็นภาพจำลองนักการเมืองจีนในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม

ภารกิจระยะหลังของ “กิมย้ง” มาสำเร็จสมบูรณ์ด้วยนิยายเรื่อง “อุ้ยเสี่ยวป้อ” ที่เล่าถึงการอยู่รอดในสังคมโดยอาศัย “ความกะล่อน”

อย่างไรก็ตาม “คนกะล่อน” เช่น “อุ้ยเสี่ยวป้อ” ยังต้องมี “คุณธรรมน้ำมิตร” เขาไม่เคยทรยศสหาย ไม่ว่าจะสังกัดฝ่าย (การเมือง) ไหน

นิยายกำลังภายในของ “กิมย้ง” นั้นมีพัฒนาการซึ่งเคลื่อนไหวไปตามความคิดของผู้เขียนที่เปลี่ยนแปลง ตลอดจนสังคมจีนและสังคมโลกที่เปลี่ยนไป

แต่ความเปลี่ยนแปลงก็ใช่จะถูกต้องอยู่เสมอ ยกตัวอย่างเช่นการที่ “กิมย้ง” ซึ่งมีอายุยืนยาวเกือบศตวรรษ ตัดสินใจปรับปรุงนิยายของตนเองในวัย 70 กว่าปี

อาจารย์ถาวรวิจารณ์ว่านิยายฉบับปรับปรุงหนนั้น “ไม่ไหว” และ “ล้มเหลว” เพราะผู้เขียนนำความคิดแบบ “คนแก่” ไปแก้ไขเรื่องราวที่แต่งไว้เมื่อตอน “หนุ่ม”

เมื่อพูดถึงเมืองไทย งานของ “กิมย้ง” มีความสัมพันธ์กับบ้านเราอยู่ไม่น้อย

“มังกรหยก” ฉบับแปลไทยครั้งแรกสุดได้รับความนิยมวงกว้าง ในบริบทที่รัฐบาลยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กดปราบความคิดเห็นทางการเมืองและสังคมอย่างหนัก

ผู้คนจึงหันไปพึ่งพาวรรณกรรมกำลังภายในจีน ในฐานะเครื่องมือระบายความตึงเครียด

นอกจากนี้ ตามความเห็นของอาจารย์ถาวร “กระบี่เย้ยยุทธจักร” กับเพลง “ประเทศกูมี” นั้นสะท้อนถึงประเด็นการต่อสู้ร่วมกัน กล่าวคือ

“ศิลปะสะท้อนความนึกคิดของผู้ผลิต ความนึกคิดอันนั้นจะถูกหรือผิดมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เขาก็มีสิทธิที่จะแสดงออก”

บางคนมองว่ามรณกรรมของ “กิมย้ง” คือจุดสิ้นสุดของเหล่าจอมยุทธนักเขียนนิยายกำลังภายในรุ่นคลาสสิก

ขณะเดียวกัน แม้นิยายประเภทนี้จะเข้าถึงคนอ่านจำนวนมากในโลกออนไลน์ ทว่ารายละเอียด การดำเนินเรื่องราว และสารบางประการ ก็ผันแปรไปจากงานยุคเดิมๆ

อย่างไรก็ดี อาจารย์ถาวรเชื่อว่า “คุณธรรม” ยังคงเป็นแก่นแกนหลักของวรรณกรรมจีนกำลังภายใน

เพียงแต่ “คุณธรรม” นั้นต้องเปลี่ยนแปลงไป โดยสอดรับกับค่านิยมของสังคมยุคต่างๆ

ยุคหนึ่ง ผู้คนอาจยึดถือเรื่อง “คุณธรรมน้ำมิตร”

ยุคนี้ ไม่แน่ใจว่าเราจะยึดถือ “คุณธรรมประเทศกูมี” ได้หรือไม่?

นี่คือคำถามทิ้งท้ายจากผู้เขียน “สกัดจุดยุทธจักรมังกรหยก”

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image