บทความ เดินหน้าประเทศไทย กับนวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ โดย : รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่รัฐบาลตระหนักและให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนมาทุกยุคทุกสมัย ทั้งนี้ เพราะคนถือได้ว่าเป็นทุนทางสังคมที่มีความสำคัญยิ่ง

วันนี้โลกก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ หากชาติใดที่ประชากรยังล้าหลังและไม่ได้รับการพัฒนาให้เป็นผู้ที่มีความพร้อมในการดำรงชีวิตและแข่งขันกับผู้อื่นได้ ก็อย่าหวังว่าการเดินหน้าเพื่อนำประเทศไปสู่ความเป็นหนึ่งในทุกมิติ ก็คงจะอยาก

หากย้อนหลังไปกับการที่ประเทศไทยโดยรัฐบาลไทยตื่นตัวและให้ความสำคัญเพื่อเดินหน้าพัฒนาชาติให้เท่าเทียมกับนานาประเทศที่จะเจริญแล้วก็คงย้อนไปในปี 2504 ที่รัฐบาลของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ริเริ่มในการวางรากฐานการพัฒนาอย่างจริงจังจนส่งผลมาถึงปัจจุบันนี้คือการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ซึ่งในการดำเนินการในครั้งนั้นรัฐบาลกำหนดช่วงเวลาของแผนไว้ 6 ปี โดย 3 ปีแรก (2504-2506) และช่วง 3 ปีหลัง (2507-2509) วัตถุประสงค์หลักๆ จะเน้นไปที่การยกมาตรฐานการครองชีพของประชาชนให้มีระดับสูงขึ้นกว่าเดิม ตลอดจนมุ่งส่งเสริมการค้าเสรี ขายผลผลิต ส่งเสริมกิจกรรมและการลงทุนของภาคเอกชน โดยรัฐบาลจะดำเนินการเฉพาะงานพื้นฐานที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม

อย่างไรก็ตาม จะพบว่าการวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะแรกๆ ทุกรัฐบาลจะมุ่งไปที่การยกระดับและพัฒนาเศรษฐกิจตลอดจนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเป็นหลัก การเจาะลึกไปที่การพัฒนา “คน” หรือยกระดับคุณภาพทุนมนุษย์ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงจะไม่ค่อยเน้นและให้ความสำคัญอย่างเป็นรูปธรรมมากนัก ทั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะว่ามิติแห่งปัญหาหรือแนวคิดของรัฐบาลและนักวิชาการที่เกี่ยวกับการกำหนดทิศทางการพัฒนาในขณะนั้นความแตกฉานเพื่อการวางแผนสำหรับการ “คน” หรือ “พัฒนาทุนมนุษย์” อาจจะยังไม่กระจ่างหรือมองว่าด้านอื่นสำคัญกว่า

Advertisement

จวบจนวันหนึ่งซึ่งถือได้ว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลง อันเนื่องมาจากโลกาภิวัตน์ที่ส่งผลต่อความก้าวหน้าด้านวิทยาการสื่อสาร โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศได้เป็นปัจจัยที่สำคัญในการผลักดันให้โลกอยู่ภาวะไร้พรมแดน ตลอดจนเข้าสู่ยุคแห่งการจัดระเบียบใหม่ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งก่อให้เกิดทั้งโอกาสและภัยคุกคามต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ และที่สำคัญเมื่อโลกาภิวัตน์ยังก่อให้เกิดค่านิยมสากล เช่น กระแสประชาธิปไตย กระแสด้านสิทธิมนุษยชน กระแสความเท่าเทียมของหญิงชาย กระแสการร่วมกันพิทักษ์รักษาสภาพแวดล้อม ซึ่งทำให้เกิดการตระหนักร่วมกันอย่างกว้างขวางว่าการพัฒนาที่มุ่งเน้นไปในด้านเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียวโดยละเลยมิติแห่งความเป็นมนุษย์ ครอบครัว ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม จะส่งผลให้เกิดสภาพการเสียดุลของการพัฒนาที่รุนแรงซึ่งในอนาคตหากไม่แก้ไขแล้วคนและธรรมชาติจะไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมเกลียวและเกื้อกูลกันได้ การเดินหน้าประเทศไทยจึงมาถึงยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาอย่างแท้จริงด้วยการเกิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 (พ.ศ.2540-2544)

ในแผนพัฒนาฯฉบับที่ 8 มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายเพื่อให้สอดคล้องกับกระแสของการเปลี่ยนแปลงในสังคม ช่วยแก้ปัญหาการพัฒนาที่ขาดความสมดุลคือ เศรษฐกิจดี สังคมมีปัญหา การพัฒนาไม่ยั่งยืน การก้าวไปสู่การสร้างศักยภาพของคนทุกคนทั้งด้านร่างกายจิตใจและสติปัญญาให้มีสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรง มีความรู้ความสามารถและทักษะในการประกอบอาชีพสามารถปรับตัวให้ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการปกครอง

ด้วยอานิสงส์จากความสำคัญในการพัฒนาคนตามแผนพัฒนาฉบับที่ 8 จึงเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการที่จะเดินหน้าเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในมิติต่างๆ ให้เท่าเทียมกับนานาประเทศดังจะเห็นได้ว่า “การพัฒนาคน” มีความสำคัญและเป็นต้นทางสำหรับการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนอย่างแท้จริง รัฐธรรมนูญปี 2560 จึงได้มีการบัญญัติการพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ไว้อย่างชัดเจน

Advertisement

ในขณะที่รัฐบาลปัจจุบันเป็นหนึ่งในรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อให้ประเทศพ้นกับดัก ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคม จึงกำหนดกรอบแนวคิดไทยแลนด์ 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติตลอดจนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 12 ให้เชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญ

ยุทธศาสตร์ศาสตร์ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2560 หนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญสำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาที่จะก่อให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนตามเจนารมณ์ของรัฐบาล ได้แก่ ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ โดยระบุให้คนไทยในอนาคตมีความพร้อมทั้งกาย ใจ สติปัญญา มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 มีทักษะสื่อสารภาษาอังกฤษและภาษาที่ 3 และมีคุณธรรม

เพื่อฉายภาพและสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่มีต่อการเดินหน้าพัฒนาประเทศไทยโดยเฉพาะการใช้ทุนมนุษย์เป็นสะพานเชื่อมโยงสู่ความสำเร็จ ในการประชุมประจำปี 2561 ของสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ยุทธศาสตร์ชาติ อนาคตไทย อนาคตเรา ความตอนหนึ่งว่า “ยุทธศาสตร์ 20 ปี กำหนดเป้าหมายที่จะยกระดับประเทศในระยะยาวนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนประชาชนมีรายได้ดี คนมีคุณภาพ และจะทำให้พ้นจากประเทศรายได้ปานกลางอย่างเร็วที่สุด ไม่ใช่ต้องรอให้ครบ 20 ปี ตามยุทธศาสตร์ชาติ”

วันนี้หากรัฐบาลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องตลอดจนคนไทยทั้งมวลต้องการให้ประเทศเดินหน้าไปสู่อนาคตใหม่ดังที่นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไม่ต้องรอถึง 20 ปีนั้น คงถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมคิดร่วมสร้าง การจะจะนำประเทศไปสู่เป้าหมายตามโมเดลไทยแลนด์ 4.0 หรือพ้นกับดักหลุมดำต่างๆ ที่เกาะเกี่ยวสังคมมาอย่างยาวนาน การตระหนักและให้ความสำคัญกับศักยภาพคนอย่างจริงจังและจริงใจที่เป็นรูปธรรมโดยไม่โหนไปตามกระแส จึงจะเป็นบทพิสูจน์ที่สำคัญว่าประเทศไทยจะก้าวไกลแห่งอนาคตที่แท้จริง

องค์กรหรือภาคีที่สำคัญในการพัฒนา “คน” คงจะฝากหรือให้เป็นการบ้านเฉพาะองค์กรหรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดคงจะไม่ได้ แต่องค์กรหลักทางสังคมที่สามารถขับเคลื่อนและเริ่มได้ในทันทีคงจะได้แก่ ครอบครัวและสถาบันทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการเป็นองค์กรต้นทางที่สำคัญยิ่งที่จะมีบทบาทในการสร้างทุนมนุษย์ให้เป็นคนพันธุ์ใหม่ที่มีความพร้อมเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงและสู่การแข่งขันได้อย่างแท้จริง

การพัฒนาทุนมนุษย์ให้พร้อมด้วยศักยภาพในทุกมิติตามแผนยุทธศาสตร์ฯ หากมองในทางทฤษฎีหรือเป้าหมายที่ต้องการให้คนไทยเป็นคนเก่ง คนดี มีคุณภาพ พร้อมสำหรับชีวิตในศตวรรษที่ 21 สังคมไทยมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อสนับสนุนต่อการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต โดยกำหนดตัวชี้วัดให้คนไทย มีการพัฒนาคุณภาพชีวิต สุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดี รวมทั้ง ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต การพัฒนาสังคมและครอบครัว ทั้งเป้าหมายและตัวชี้วัดที่กำหนดอาจจะเป็นทฤษฎีที่เล็งผลเลิศ แต่ในทางปฏิบัติจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ประเด็นนี้เชื่อว่าสังคมต้องการคำตอบในเร็ววัน โดยไม่ต้องรอถึง 20 ปี ดังวลีที่นายกรัฐมนตรีกล่าวไว้

เมื่อกล่าวถึงการพัฒนาทุนมนุษย์ ประเทศที่ให้ความสำคัญและประสบความสำเร็จในลำดับต้นๆ ได้แก่ ประเทศในย่านเอเชีย ซึ่งในประเด็นนี้สอดคล้องกับการรายงานในการประชุมประจำปีของธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2561 ธนาคารโลกได้เผยแพร่ “ดัชนีทุนมนุษย์” ระบบใหม่ที่ประเมินจากการจัดอันดับความสำเร็จของประเทศต่างๆ ในการพัฒนาทุนมนุษย์ที่ธนาคารโลกจัดทำขึ้นในความพยายามกระตุ้นให้รัฐบาลนานาประเทศลงทุนในระบบการศึกษาและสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจากการจัดทำดัชนีทุนมนุษย์พบว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีการพัฒนาทุนมนุษย์ที่ดีที่สุดในโลก ตามด้วยเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และฮ่องกง

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาทุนมนุษย์หรือพัฒนาคนไทยให้ไปสู่คนพันธุ์ใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติจำเป็นที่จะต้องมีองค์ประกอบหรือปัจจัยในหลากหลายมิติที่จำเป็นต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง งบประมาณ หรือการเงิน เป็นหนึ่งในตัวแปรที่สำคัญกับการนำไปสู่เป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในแต่ละปีประเทศไทยโดยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้ใช้เงินสำหรับการพัฒนาไปมากมายทั้งด้านการฝึกอบรมและศึกษาดูงานในและต่างประเทศ ซึ่งผลลัพธ์หรือประโยชน์ที่ได้รับทุกองค์กรต่างประเมินและทราบเป็นอย่างดี

แต่อีกหนึ่งมิติที่สำคัญในการนำไปสู่มิติแห่งความสำเร็จและเป็นตัวอย่างที่ควรนำไปสู่การปฏิบัติคือ “ศาสตร์พระราชาที่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจ” ซึ่งในมิตินี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์นักพัฒนาผู้ยิ่งใหญ่ของโลก ได้ทรงแสดงให้เห็นมาตลอดระยะเวลาของการครองราชย์ 70 ปี จากความมุ่งมั่นและทุ่มเทพระวรกายเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาราษฎร์ ซึ่งเปรียบเสมือนลูกของพระองค์ ด้วยพระปรีชาสามารถและมรรคผลในเชิงประจักษ์ที่แพร่กระจายจนนานาประเทศนำไปเป็นต้นแบบของการพัฒนา โดยใช้คนเป็นศูนย์กลาง สหประชาชาติ โดยนายโคฟี่ อันนัน เลขาธิการในขณะนั้น จึงได้เข้าเฝ้าฯ เพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนาทุนมนุษย์ แด่พระองค์ท่านเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2549 จากรางวัลดังกล่าวได้นำมาซึ่งความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ ดังนั้น จะเห็นได้ว่า “ศาสตร์พระราชา” จึงเป็นมิติที่สำคัญยิ่งสำหรับการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน

วันนี้จึงเป็นโอกาสดีที่สังคมไทยจะได้น้อมนำเอาแนวพระราชดำริที่ว่าด้วยปณิธานแห่งการพัฒนามาสืบสานและต่อยอด แต่ที่สำคัญการมีส่วนร่วมของภาคประชาคมที่มีต่อการพัฒนาในมิติที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและคุณภาพชีวิตไม่ว่าจะเป็นนักคิด ผู้บริหาร นักวิชาการตลอดจนบุคคลต่างๆ ที่สะท้อนไปยังสังคมและรัฐบาลในมิตินี้ถือได้ว่าเป็นอีกช่องทางเพื่อการพัฒนาที่สำคัญ ในประเด็นนี้สอดคล้องกับ ดร.เสนีย์ สุวรรณดี รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ได้สะท้อนมุมมองผ่านเครือข่ายออนไลน์เมื่อเร็วๆ นี้ มีสาระน่าสนใจความตอนหนึ่งว่า “สิ่งที่ยังคงน่าห่วงใยคือ หลายเรื่องที่สำคัญต่อการนำพาประเทศไปสู่ความยั่งยืนแห่งอนาคตที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงและสัมผัสได้ ก็ยังไปถึงไหนไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เรื่องการศึกษา และการสาธารณสุข เป็นต้น ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราคงได้ยินเสียงบ่นจากรากหญ้าว่าเศรษฐกิจไม่ดีจริงสำหรับพวกเขา การค้าขายเงียบเหงา ความอู้ฟู่ทางเศรษฐกิจกลับไปตกอยู่กับนายทุนใหญ่แทบทั้งสิ้น ที่สำคัญความเหลื่อมล้ำไม่ได้ลดลง เรื่องการศึกษาวันนี้แค่เห็นเค้าลางจากการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อวางโรดแมปในการปฏิรูปการศึกษา เตรียมการจัดตั้งใหม่ที่จะขับเคลื่อนการศึกษาระดับสูงกับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเข้าด้วยกัน แต่ไม่แน่ใจในท้ายที่สุดจะได้เพียงโรดแมปและโครงใหม่เท่านั้นหรือไม่ เพราะการปฏิรูปการศึกษาคงต้องลงไปปรับแก้กฎระเบียบต่างๆ (Regulatory Reform) อีกมากมายที่ห้ามลืมก็คือ การเปลี่ยนทัศนคติและวิธีคิดของข้าราชการในระบบ รวมทั้งเรื่องที่สำคัญและเป็นตัวชี้วัดถึงระดับการพัฒนาประเทศคือ เรื่องสาธารณสุขและระบบสุขภาพ ซึ่งทุกวันนี้เรายังเห็นความเหลื่อมล้ำ ความแตกต่างและปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขมากมาย เรายังเห็นภาวะโรงพยาบาลเอกชนเตียงว่างแต่สามารถทำกำไรมหาศาลติดอันดับโลก ในขณะที่โรงพยาบาลรัฐเตียงเต็ม แต่อยู่ในภาวะขาดทุนแบบเกือบล้มละลาย บุคลากรแพทย์ขาดแคลน ระบบประกันสุขภาพล้มเหลว การดูแลสุขภาพขั้นปฐมภูมิไร้มาตรฐาน การรณรงค์ส่งเสริมสุขภาพที่ดียังไม่มีให้เห็น คนไทยยังสุ่มเสี่ยงต่อการกินอาหารที่ปนเปื้อนสารพิษ และยาปฏิชีวนะและอื่นๆ อีกมากมายรัฐบาลต้องรับผิดชอบ ใช่หรือไม่”

คำกล่าวที่ว่า “ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน” จะเป็นหนึ่งในข้อคิดสำหรับรัฐบาลและผู้นำองค์กรที่เกี่ยวข้องสำหรับนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ของประเทศให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายแห่งรัฐ

วันนี้คนไทยคงไม่รอถึง 20 ปีที่จะเห็นคนพันธุ์ใหม่ เพียงแต่ว่ารัฐบาลพร้อมที่จะผลักดันให้ก้าวไกลมากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญคำพูดที่เปล่งออกมาล้วนแล้วแต่เป็นนายเรา

รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร
ศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์
มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image