เบื้องหลัง RapAgainstDictatorship เมื่อ’ประเทศกูมี’ทะลุ30ล้านวิว

พลันเมื่อเพลงแร็พ “ประเทศกูมี” เผยแพร่เอ็มวีลงบนสื่อออนไลน์เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ก็ได้สร้างปรากฏการณ์สะเทือนสังคมอย่างต่อเนื่อง

ด้วยพันช์ไลน์ (Punchline) อันโดดเด่น เข้มข้น และหนักหน่วงในทุกบาร์ ส่งผลให้เพลงแร็พที่เต็มไปด้วยเรื่องราวเสียดสีสังคม ถูกหยิบยกมาวิพากษ์ในหลากหลายแง่มุม

และกลายเป็นเพลงระดับตำนานทันที ที่มีการขยับจากภาครัฐ ตลอดจนผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมหยิบยกเพลงนี้มาพูดถึง ประกอบกับภาพที่ปรากฏในมิวสิกวิดีโอ จำลองเหตุการณ์ที่ชวนให้นึกถึงเรื่องราวความรุนแรงที่เกิดขึ้นในอดีต จนทำให้นักเขียนนักวิจารณ์ออกมาโวยในฐานะคนเดือนตุลาว่า เอาภาพเหตุการณ์เก่ามารื้อฟื้นเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ปฏิกิริยาต่างๆ เหล่านี้ เป็นส่วนเสริมให้คนแห่คลิกเข้าชม “ประเทศกูมี” จนยอดวิวพุ่งทะยานทะลุ 30 ล้านวิว กลายเป็นเพลงแร็พโด่งดังที่สุดในยุคนี้

Advertisement

ไม่เพียงแต่กระแสเปรี้ยงปร้าง “ประเทศกูมี” ยังดังไกลถึงต่างประเทศเเละถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ ทั้งอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ จนแทบไม่น่าเชื่อว่า “พลัง” ของ “บทเพลง” จะสามารถสร้างปรากฏการณ์สะท้านสังคมได้อย่างรุนแรง และสร้างแรงกระเพื่อมไปถึงหลายประเทศทั่วโลกเช่นนี้

เหตุการณ์ทั้งหมดเริ่มต้นจากกลุ่มศิลปิน “แร็พเปอร์” ที่เรียกตัวเองว่า Rap Against Dictatorship (RAD) หรือ กลุ่มแร็พต่อต้านเผด็จการ

มีโอกาสได้บุกถึงถิ่น “แร็พเปอร์” ย่านสุขุมวิท พูดคุยกับ เดชาธร บำรุงเมือง หรือ ฮอคกี้ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม RAD ยังทำหน้าที่คุมภาพรวมของโปรเจ็กต์ ดูแลด้านสื่อและการโปรโมตบนช่องทางออนไลน์ต่างๆ

Advertisement

ฮอคกี้ เป็นแร็พเปอร์อิสระ ที่วงการแร็พรู้จักในชื่อ HOCKHACKER ทำเพลงแร็พลงบนสตรีมมิ่งและยูทูบ ยังทำงานเบื้องหลังในวงการเพลงแร็พกว่า 3 ปี ตลอดจนร่วมงานกับศิลปินดังมาแล้วหลายคนปัจจุบันเขาเป็นนักเขียนคอนเทนต์ และ Co-Producer ที่ RAP IS NOW

ก่อนจะไปถึงเรื่องราวของ “ประเทศกูมี” ฮอคกี้บนโซฟาตัวเก่งของออฟฟิศแร็พ อิส นาว ได้เปิดประเด็นพูดถึงวงการแร็พในขณะนี้ ซึ่งหลายคนอาจจะตั้งคำถามในใจว่า “แร็พ” คืออะไร?

ฮอคกี้ใช้เวลาคิดไม่นาน ก่อนให้คำจำกัดความว่า แร็พ เป็นวิธีการเล่าเรื่อง เทียบได้กับพวกเพลงแหล่ การเล่นคำ การต่อกลอน เป็นการใช้คำคล้องจองเหมือนกัน เพียงแต่แร็พมาจากต่างประเทศ ซึ่งมีบริบทที่แตกต่าง แต่ก็นับเป็นวิธีการเล่าเรื่องแบบหนึ่ง

“แต่ถ้าเทียบกับต่างประเทศ เรายังตามหลังเขาเยอะทั้งเรื่องกระแส และเรื่องของธุรกิจ ในที่นี้หมายถึงอเมริกาที่เขาเป็นตลาดใหญ่ และเกาหลีที่ฮิพฮอพกลายเป็นป๊อปกระแสหลักไปแล้ว ส่วนเราก็กำลังจะไปสู่จุดนั้นเหมือนกัน แต่ต้องปรับกันหลายเรื่อง แต่ผมเชื่อว่าวันนี้แร็พเปอร์ไทยทุกคนมีจุดหมายที่ไปไกลขึ้นเรื่อยๆ”

เเละในอดีตคนอาจมองว่าแร็พเปอร์เป็นคนกลุ่มน้อย แต่วันนี้เเร็พเปอร์หนุ่มยืนยันมองว่า ไม่เชิงซะทีเดียว เพราะเด็กรุ่นใหม่สนใจเเร็พเพิ่มขึ้น และแร็พเปอร์สามารถเป็นอาชีพได้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่ไปถึงจุดที่เป็นแมสมีเดีย อย่างเพลงป๊อป หรือร็อก

“ดูสถิติจากการแข่งขัน Rap is Now ซีซั่นล่าสุดมีผู้สมัคร 3,313 กว่าคน นับได้ว่าเยอะเหมือนกัน รายการเองก็ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นทุกปี”

ต่อข้อถามที่ว่าแร็พในกระเเสส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบฟีเจอริ่ง สะท้อนหรือไม่ว่าแร็พเปอร์ไม่สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง?

“ผมมองกลับกันเลยครับ” ฮอคกี้ยืนยัน

พร้อมอธิบายต่อว่า “แร็พยืนด้วยตัวเองได้ แล้วปัจจุบันแนวเพลงอื่นต้องการเอาแร็พเปอร์ไปร่วมด้วยซ้ำ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นคนละตลาดกัน แต่พอมันรวมกันก็เกิดกลุ่มใหม่ ทำให้ยกระดับแร็พเข้าไปอยู่ในกระแสหลักมากขึ้น ขณะที่แร็พเปอร์เหล่านั้นก็มีเพลงของเขา อย่าง YOUNGOHM, ฟักกลิ้ง ฮีโร่, MAIYARAP ที่ดังจากเพลงของตัวเองแล้วก็ไปร่วมงานเพลงอื่น”

ตัวแทนกลุ่ม RAD เผยอีกว่า เพราะการแร็พมันไม่มีข้อจำกัด อยู่ที่ว่าคุณจะคิดค้นอะไรที่แตกต่าง เป็นสไตล์ของตัวเอง

“แล้วแร็พพูดได้ทุกเรื่อง มันมีเสรีภาพของการพูดตอนนี้ก็มีทั้งเพลงรัก เพลงเศร้า เพลงการเมือง เพลงแร็พเรพรีเซนต์( represent) เพลงบ้านเกิด เพลงชุมชน เพลงด่ากัน หรือเพลงปั่นๆ ที่ไม่มีสาระแต่สนุก อย่างผมสนใจการเมือง ก็เอาสิ่งที่สนใจเอาอุดมการณ์มาใส่ในเพลงแร็พ”

ฮอคกี้เล่าย้อนว่า ชอบฟังเพลงมาตั้งแต่เด็ก รวมถึงเพลงแร็พ ตั้งแต่สมัยวินโดวส์ 98 ที่จะฟังเพลงหนึ่งต้องโหลดไฟล์ซิปมาแตกเป็น 4 ไฟล์ เพลงแรกๆ ที่ฟังคือ Crazy in love ของ บียอนเซ่ โนวส์ กับเจย์-ซี แต่ก็มีฟังเพลงอื่นด้วย ส่วนเรื่องการเมืองเริ่มมาสนใจตอน ม.ปลาย และสนใจมากขึ้นเมื่อเข้ามหาวิทยาลัย เพราะขณะนั้นมีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองเกิดขึ้น

“ผมไม่เคยไปร่วมชุมนุมเลย แล้วพอเหตุการณ์มีเรื่องของความรุนแรงเกิดขึ้น ก็งงว่าทำอะไรกัน ประเทศไทยมายิงกันเองทำไม แต่ผมมีคำถามว่าสุดท้ายแล้วมันจะจบยังไง ทุกครั้งมีปัญหากันก็จะจบด้วยความรุนแรงหรือ” แร็พเปอร์หนุ่มบอก พร้อมให้ความเห็นเกี่ยวกับปัญหาของสังคมไทย

“ผมมองว่าประชาชนคิดถึงส่วนรวมน้อยกว่าส่วนตัว คือใครรอดก็รอดใครไม่รอดก็พัง ทำไมเราถึงไม่ไปด้วยกัน ผมว่าประชาชนมีอำนาจนะในแง่ของการรวมตัว เราสามารถทำให้รัฐบาลรับฟัง ซึ่งประเทศไทยมันไม่เคยเกิดเรื่องแบบนี้ มันเหมือนจะมีแต่แล้วก็หายไปด้วยการรัฐประหาร”

ฮ็อคกี้ยืนยันด้วยว่า การถกเถียงไม่ใช่ปัญหา มันคือเรื่องปกติ เพราะไม่มีทางที่จะอยู่ด้วยกัน 100 คนแล้วเห็นเหมือนกัน แล้วตอนนี้โลกมันเปลี่ยน ถ้าเราไม่เปลี่ยนก็จะอยู่ไม่ได้ แต่การเปลี่ยนแปลงมันก็ต้องมีคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย การถกเถียงจึงเป็นเรื่องปกติที่จะนำไปสู่ข้อสรุป แต่จะสรุปยังไงไม่ให้มีความรุนแรง มันคือการถกเถียงทางปัญญาและเหตุผล

“ผมโอเคกับม็อบที่ไม่ทำให้ใครเดือดร้อนนะ เพราะมันเป็นการรวมตัวของประชาชนแล้วส่งเสียง แต่ม็อบของเรามันไม่ได้ถูกจัดการให้ดี มันไม่ได้ถูกนำเสนออย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เชิญชวนให้คนสนใจสิ่งที่ม็อบกำลังพูด ผมว่าประชาชนมีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงการเมืองของประเทศ แต่เราต้องคิดถึงส่วนรวมมากกว่านี้”

จุดนี้เองที่อาจเป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ฮอคกี้ร่วมกลุ่ม RAD สร้างสรรค์เพลง “ประเทศกูมี” ขึ้นมา

ซึ่งเพลงนี้เริ่มต้นจากอินโทรของ ณัฐพงศ์ ศรีม่วง หรือ Liberate P หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม RAD ที่แต่งไว้เมื่อปี 59 ก่อนหยุดไปเเล้วนำกลับมาพูดคุยอีกครั้ง

ฮอคกี้เล่าว่า เราหยิบหลายเรื่องมาพูดในบริบทของสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศขณะนี้ ไม่ได้แบ่งขั้วอะไรในเนื้อเพลงด้วยซ้ำเราแค่บอกว่ามันมีอะไรเกิดขึ้น และการเอาคนเยอะๆ มาคุยมันก็คือการจำลองสังคม ซึ่งไม่ได้เลือกคนที่อยู่ฝั่งเดียวกับเรา 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เราเชิญคนที่เราคิดว่าน่าจะเล่าเรื่องนี้ได้

“คิดว่าการพูดประเด็นนี้ยังไงก็ต้องมีกระแสประมาณหนึ่ง คุยกันขำๆ ว่า 2 อาทิตย์ขอสัก 1 ล้านวิว แต่สิ่งที่เกิดคือมันเร็วมาก สาเหตุหลักน่าจะมาจาก พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล เเละสื่อมวลชน ก็เป็นเรื่องที่แปลกมากในชีวิตแร็พเปอร์ที่จะขึ้นหน้า 1 หนังสือพิมพ์ด้วยเพลงแร็พ”

เเต่เวลาเดียวกันก็ถูกโจมตีว่ามีเบื้องหลัง?

“ต้องบอกว่าเขาเชื่อมโยงเก่ง (หัวเราะ) ถ้าคุณฟังเพลงแร็พอันเดอร์กราวน์ จะรู้ว่ามันมีการพูดถึงเรื่องพวกนี้อยู่แล้วประมาณหนึ่ง หลายเหตุการณ์ทางการเมืองก็มีการทำเพลงแร็พ อยู่ที่คุณเพิ่งมารู้จักหรือเปล่า ซึ่งเพลงนี้ไม่ใช่เพลงแรกและอาจจะแรงน้อยกว่าเพลงที่ผ่านมาด้วยซ้ำ แต่เรามีคนเยอะแล้วมาถูกช่วงเวลาก็เลยเป็นกระแส”

ซึ่งเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์เป็นสิ่งที่ฮอคกี้ยืนยันว่าอยากให้เกิดขึ้น แต่เรื่องที่มันไม่อยากให้เกิดคือ การจับต้นชนปลายแบบไม่มีข้อมูล

“เช่นเอารูปผมไปเทียบกับนักศึกษาคนหนึ่ง ซึ่งผมไม่เคยรู้จักเขาและไม่เคยไปร่วมชุมนุมกับเขา แต่ถูกจับไปเชื่อมโยงโดยใส่ร้ายว่าเป็นกลุ่มโน้นกลุ่มนี้ ผมว่าตรงนี้เป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ หากเป็นการพูดคุยหรือจะโจมตีเนื้อเพลงอันนี้เต็มที่เลยครับ เพราะเราทำออกมาเพื่อให้คนฟังแล้ววิพากษ์”

รวมถึงการหยิบเหตุการณ์เดือนตุลามาใช้ ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้ RAD ถูกโจมตี

ฮอคกี้บอกว่า เรื่องเอ็มวีต้องถามผู้กำกับ (ธีระวัฒน์ รุจินธรรม) จะได้คำตอบที่ดีที่สุด เบื้องต้นเราไม่ได้เจาะจงเหตุการณ์นี้เหตุการณ์เดียว แต่ในเรื่องศิลปะภาพและการนำเสนอเราอยากจะสื่อสารครั้งเดียวแล้วมันรู้สึกเลย ซึ่งเหตุการณ์ในเดือนตุลาเราก็มีการศึกษามาประมาณหนึ่ง แต่มันยังมีข้อมูลบางอย่างที่คนรุ่นใหม่ไม่เคลียร์ด้วยซ้ำว่าจริงๆ แล้วมันเกิดอะไรขึ้น ทำไมในแบบเรียนไม่ถูกเน้นหรือคนยังสับสนระหว่าง 14 ตุลา กับ 6 ตุลา ว่าอะไรเกิดก่อนหรือหลัง รวมถึงผลที่ตามมาคืออะไร คือรัฐบาลที่มีอำนาจทางการทหารหรือเปล่า ส่วนมุมมองว่าเกิดไม่ทันแล้วทำไมถึงทำ อันนี้

ต้องถามกลับไปถึงทุกเรื่องที่หยิบเหตุการณ์ในอดีตมาทำ ทั้งละครหรือภาพยนตร์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ด้วยซ้ำ

“ผมว่าเรามีสิทธิตีความในทุกเหตุการณ์ แล้วเดือนตุลาเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ชัดเจนตั้งแต่แรกมันถูกบิด ถูกปกปิดข้อมูล จนถึงวันนี้ผมก็ยังไม่รู้ว่าข้อเท็จจริงร้อยเปอร์เซ็นต์มันเป็นยังไง แต่ผมมองว่ามันคือประวัติศาสตร์ร่วมของคนไทย เด็กที่เพิ่งเกิดก็มีสิทธิศึกษา เพราะถ้าคนที่เกิดไม่ทันไม่มีสิทธิพูดถึงแล้วจะมีวิชาประวัติศาสตร์ไปทำไม ส่วนเรื่องภาพที่คนไม่เห็นด้วยเพราะมันเป็นการผลิตความรุนแรงซ้ำหรือเปล่า อันนี้ผมว่ามันเป็นเรื่องของการตีความทางภาพยนตร์ ซึ่งมันก็เหมือนหนังสั้นตัวหนึ่ง แต่เป็นรูปแบบมิวสิกวิดีโอ”

ไม่เพียงกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากรอบทิศทาง กลุ่มแร็พต้านเผด็จการยังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากเจ้าหน้าที่รัฐด้วย

“มีการออกข่าวประเด็นใหญ่ว่ามีโอกาสผิดทั้งที่ยังไม่มีข้อที่ผิดอย่างชัดเจน มันก็เลยทำให้เรากังวลว่าเราไม่มีสิทธิพูดไม่มีสิทธินำเสนอถึงเบอร์นั้นเลยหรือ เพราะมันเป็นข่าวลักษณะพูดมาก่อนว่ามีโอกาสผิดแต่มันไม่ได้หมายความว่าผิดเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้ส่งผลต่อการแร็พหลังจากนี้นะ เพราะเราพิสูจน์ให้เห็นแล้ว เรามั่นใจว่าเราตั้งตัวอยู่ในกฎหมาย เราไม่ได้คิดอยากสร้างความวุ่นวาย ต้องบอกว่าเราไม่ใช่นักเคลื่อนไหว แต่เราคือศิลปินที่ทำเพลง”

หากส่งคำพูดถึงเจ้าหน้าที่รัฐ หรือนายกรัฐมนตรีได้ ฮอคกี้บอกว่า ก่อนอื่นต้องขอบคุณที่รับฟังและสนใจ เเม้ไม่รู้ว่าเรื่องนี้ถูกหยิบไปพูดคุยในระดับไหน

“เเต่อย่างน้อยเป็นการพิสูจน์ว่าประชาชนสามารถมีส่วนร่วมกับผู้มีอำนาจได้ เชื่อว่าตรงนี้มันสามารถส่งต่อให้กับกลุ่มอื่นๆ ในการรวมกลุ่มเพื่อสร้างผลงาน”

แร็พเปอร์หนุ่มบอกอีกว่า ตัวเพลงอาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงสังคมโดยทันที แต่มันมีผลกระตุ้นต่อมความคิดของคน สร้างมูฟเมนต์ สร้างการศึกษา สร้างการพูดคุย ซึ่งการพูดคุยเป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยเฉพาะเรื่องการเมืองที่หลายคนอาจจะเบื่อไปแล้ว โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ การกระตุ้นด้วยเพลงมันเป็นการปลุกให้เราตื่นตัวกันอีกครั้ง

“สิ่งที่คาดหวังก็ได้ผลในระดับหนึ่งอย่างน้อยเราก็เห็นคนพูดคุย เอาเนื้อเพลงมาถกในเชิงวิชาการ แต่หลังจากนี้ยังบอกไม่ได้ว่าจะเป็นอย่างไร อีก 1 ปี มันอาจจะหายไปเลยก็ได้ ดังนั้น ต้องดูกันอีกระยะหนึ่ง”

แต่ที่เห็นชัดเจนวันนี้คือยอดคนเข้าชมหลายสิบล้านครั้ง ทำให้มีเรื่องของรายได้เข้ามา ซึ่งฮอคกี้บอกว่า ถึงเราเริ่มจากอุดมการณ์ก็จริงแต่ถ้ามีรายได้เข้ามา รายได้เหล่านี้จะนำไปชดใช้บุญคุณ (ฮา)

“ตอนนี้เรายังไม่รู้ตัวเลขชัด ซึ่งช่วงหนึ่งเพลงถูกจัดในกลุ่ม 18+ เพราะมีฉากที่รุนแรง ทำให้ไม่ได้ค่าโฆษณาในช่วงนั้น แต่ถามว่าคาดหวังรายได้จากตรงนั้นไหม ก็คาดหวังครับว่าจะได้เยอะทั้งที่ยังไม่เห็นตัวเลขด้วยซ้ำ (หัวเราะ) ก่อนอื่นเลยถ้าได้มาต้องเอาไปจ่ายค่าทำเพลงของแร็พเปอร์ที่เราให้เขามาช่วย ซึ่งการทำเพลงนี้เริ่มต้นจากศูนย์ เราใช้คำว่าขอความช่วยเหลือและร่วมอุดมการณ์ พอมีรายได้ต้องตอบแทนเพื่อขอบคุณที่มาเหนื่อยด้วยกัน มากดดันทางจิตใจกัน รวมถึงทีมเอ็มวี เขาก็มาทำให้โดยที่ไม่คิดเงิน ซึ่งถ้าคิดมูลค่าโปรดักชั่นจริงๆ ผมว่าจะอยู่ที่หลักแสน ดังนั้น ก็หวังว่าจะมีรายได้เข้ามาแบบพอจะคืนให้ครบ”

ระหว่างพูดคุยมีคำถามหนึ่งผุดขึ้นมาว่า แร็พเปอร์แนวการเมืองในขณะนี้มีจำนวนเท่าไหร่?

ตัวแทนกลุ่ม RAD บอกว่า มีแทบนับหัวได้ คือไม่ถึง 10 คนที่โดดเด่นขึ้นมา แต่ก็มีอีกหลายคนที่พยายามจะสอดแทรกเรื่องนี้ในเนื้อเพลง

“แร็พการเมืองยังไปได้กับสังคมไทย เหมือนที่เพลงเพื่อชีวิตไปได้ในยุคก่อน แต่ผมก็ยังเชื่อว่าโลกยังต้องหมุน จึงไม่รู้ว่ามันจะดังสุดแล้วหยุดลงตอนไหน ในอนาคตอาจจะมีแนวอื่นที่เอาเรื่องนี้มาพูดอยู่ดี”

ฮอคกี้บอกต่อว่า หากย้อนกลับไปดูรากการวิจารณ์การเมือง ก็ไม่ได้มาจากแร็พ แต่มาจากเพลงเพื่อชีวิต ลิเก ลูกทุ่งหมอลำ ซึ่งเขาพูดถึงชีวิตจริงๆ แฝงด้วยบริบทของความลำบาก อาจจะเล่าในมุมของคนทำงานรากหญ้า ซึ่งตรงนี้เพลงลูกทุ่งทำได้ชัดเจนมาก

“เพลงลูกทุ่งมีการเล่าเรื่องหรือการทำอะไรก็ตามที่มีบริบทของการเมืองแฝงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของชนชั้น เรื่องของการได้รับสิทธิบางอย่าง แม้กระทั่งการที่ผู้ชายจีบผู้หญิงที่ต่างกันในเรื่องบางเรื่อง มันก็มองในมุมของการเมืองได้ทั้งนั้น”

อย่างไรก็ตาม ผลพวงของประเทศกูมี ยังทำให้วงการแร็พได้รับความสนใจมากขึ้น ขณะเดียวกันยังทำให้คนในวงการตื่นตัว รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ อย่าง สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ที่เพิ่งเปิดตัวเพลงแร็พ Thailand 4.0

หลังฟังเเล้ว ฮอคกี้ให้ความเห็นว่า “สนุกนะ ในแง่ที่เขาพยายามจะทันโลก พยายามจะตามเทรนด์ตอนนี้ ผมเข้าใจว่าเพลงนี้ถูกทำมาก่อนหน้านี้ เพราะคงไม่สามารถทำเพลงในระยะเวลาสั้นๆ ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็พอจะมีเพลงแร็พของหน่วยงานออกมาเหมือนกันถึงจะไม่ได้ดัง แต่มันก็เป็นการแสดงว่าเขาก็พยายามจะตามโลก เพียงแต่ในแง่ของการทำเพลงมันอาจจะยังไม่เทียบเท่าระดับมิวสิกโปรดักชั่น จริงๆ เขาอาจจะต้องจ้างระดับมืออาชีพมากกว่านี้ หรือตามเทรนด์มากกว่านี้ในการทำงานเชิงเพลง แต่ในแง่ของจุดประสงค์ ผมว่ามันก็น่าสนุกนะที่มีเพลงแบบนี้ในไทย”

เมื่อถามว่า ถ้ารัฐบาลชวนให้ไปแต่งเพลงแร็พ 4.0 บ้าง ฮอคกี้ ตอบทันทีว่า ถ้ารัฐบาลมาจ้างกลุ่มเราทำก็คงไม่ทำครับ เพราะเราชัดเจน ในเรื่องชื่อกลุ่ม แต่ในวงการแร็พก็มีบุคลากรอีกหลายคนที่รับงานจากหน่วยงานจากลูกค้า ก็ต้องลองติดต่อกันดู ซึ่งมันก็ไม่ได้เสียหาย แต่อยากให้เปิดใจว่าการเอาเพลงแร็พมารณรงค์มันยากมาก แล้วยิ่งมีกรอบเยอะศิลปินยิ่งทำงานออกมาไม่ดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image