ประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงกังวลใจ สร้างเขื่อนปากแบงกั้นน้ำโขง หวั่นผลกระทบไทยหนัก

 

เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีการประชุม “Technical Consultation Meeting”ระหว่างเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงและผู้แทนบริษัทต้าถัง เพื่อรับฟังและชี้แจงข้อมูลในโครงการสร้างเขื่อนปากแบงกั้นลำน้ำโขงในประเทศลาว แต่จะส่งผลกระทบถึงประเทศไทยเนื่องจากอยู่ห่างจากชายแดนไทยด้านจังหวัดเชียงรายเพียง 90 กิโลเมตร

นายชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ได้รับทราบเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยในลาวซึ่งเป็นโศกนาฎกรรมครั้งใหญ่ในทศวรรศนี้โดยนักวิชาการและประชาชนที่เกี่ยวข้องต่างรู้สึกกังวลว่าจะเกิดเหตุเช่นนี้อีกหรือไม่ และไม่ทราบว่าโครงสร้างการสร้างเขื่อนในแต่ละที่เป็นอย่างไร จึงอยากเห็นโครงสร้างที่บริษัทต้าถังซึ่งทำงานร่วมกับรัฐบาลลาวได้เตรียมไว้ โดยมีหลายคำถามจากนักวิชาการและประชาชน ซึ่งเราเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนกัน และอยากให้มีการทำงานร่วมมือกันต่อไปโดยทราบว่าบริษัทต้าถังต้องการให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วม เพราะขณะนี้ยังไม่มีอีไอเอหรืออีเอชไอเอขึ้นมา

น.ส.เพียรพร ดีเทศ ฝ่ายวิชาการของคณะทำงาน กล่าวว่า การประชุมครั้งที่ผ่านมาไม่ได้เป็นการประชุมอย่างเป็นทางการซึ่งได้แจ้งไปยังฝ่ายต่างๆ ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ได้ตอบชี้แจงมาด้วยว่า ยังไม่ได้มีการบรรจุเรื่องแผนการรับซื้อไฟฟ้าเขื่อนปากแบงไว้แต่อย่างใด และกฟผ.ยังได้พูดถึงข้อตกลงร่วมกันของเขื่อนปากแบงที่ต้องมีแผนปฎิบัติการร่วมกันเพื่อบรรเทาผลกระทบ

Advertisement

น.ส.เพียรพรกล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูลเท่าที่มีของโครงการเขื่อนปากแบง พบว่ายังมีข้อมูลไม่ชัดเจนในหลายประเด็น เช่น เรื่องผลกระทบเรื่องปลาที่น้อยมากทั้งเรื่องกลุ่มตัวอย่างและพันธุ์ปลา ที่น่าสนใจคือมาตรการเบาเทาผลกระทบจากการอพยพของปลานั้น แม้จะมีมาตรการออกมา เช่น ทางปลาผ่าน แต่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้จริง โดยเฉพาะพันธุ์ปลาขนาดใหญ่จะใช้ทางปลาผ่านได้อย่างไรทั้งตอนอพยพขึ้น-ลง นอกจากนี้ยังมีข้อสงสัยว่าปลาจะอพยพลงได้อย่างไร นอกจากนี้ยังมีข้อมูลบางส่วนที่เป็นข้อมูลเก่า ส่วนผลกระทบด้านสังคมนั้น งบที่วางไว้ไม่ถึงร้อยละ 10 ของงบประมาณโครงการ ทำให้ตกไปถึงผู้ได้รับผลกระทบน้อยมาก นอกจากนี้ในเอกสารของโครงการยังไม่มีข้อมูลยืนยันถึงผลกระทบต่างๆอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆผลการศึกษาของเขื่อนอื่นๆ เช่น เขื่อนไซยะบุรี เขื่อนดอนสะโฮง เพื่อที่จะได้นำไปสู่การศึกษาหาทางออกร่วมกัน

นายชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการอิสระด้านประมง กล่าวว่าผลกระทบจากเขื่อนที่สร้างเสร็จแล้วในประเทศจีนนั้นมีมากมาย โดยเราพบพันธุ์ปลากว่า 900 ชนิดทั้งเป็นปลาที่อพยพเดินทางไกล เช่น ปลาบึก และอพยพในระยะสั้นๆเป็นช่วงๆ โดยมีตัวอย่างจากเขื่อนที่สร้างแล้วเสร็จและปิดแล้วในประเทศจีน รวมทั้งที่ปิดๆเปิดๆ โดยเขื่อนในประเทศจีนเป็นเขื่อนเก็บน้ำถาวร โดยเขื่อนทำให้เกิดการแบ่งแยกการไหลเวียนของระบบนิเวศ เพราะทำให้แม่น้ำถูกตัดแบ่งและปิดกั้นโดยเฉพาะในแม่น้ำสาขาสายหลัก เช่นเดียวกับแม่น้ำสายประธานก็ถูกปิดกั้นเช่นกัน พบว่าระดับน้ำสูงสุดในช่วงฤดูฝนและต่ำสุดในหน้าแล้ง การขึ้นลงทำให้เกิดสภาพน้ำหลากและน้ำแห้งซึ่งในพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นระบบนิเวศสำคัญให้ปลาวางไข่ เราพบว่าช่วงน้ำลงต่ำสุดหลังจากสร้างเขื่อนนั้นไม่มีแล้ว โดยมีข้อสังเกตน้ำจะท่วมมิดแก่งอยู่ตลอดเวลา โดยที่เชียงแสนเราพบระดับน้ำที่ผิดปกติ

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิน้ำ กล่าวว่าในช่วงที่รับความคิดเห็นกรณีเขื่อนปากแบงเมื่อปี 2560 ซึ่งตนได้รับฟังอยู่ด้วย ซึ่งมีข้อกังวลเพราะปากแบงอยู่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุดและท้ายน้ำอยู่แค่ไหน และสันเขื่อนมีขนาดไหนต้องชัดเจน เพราะในเวทีรับฟังก็ยังพูดกันไม่ชัดเจน ก่อนที่จะมีการเดินหน้าควรต้องประสานความร่วมมื่อปักหลักให้ชัดเจน อย่างกรณีเขื่อนพังในลาวซึ่งก็ไม่เคยมีใครคิดว่าจะพังและส่งผลกระทบข้ามพรมแดน ซึ่งทุกเขื่อนมีข้อกังวลเรื่องนี้ทั้งสิ้น แต่ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน ดังนั้นผู้พัฒนาโครงการควรกลับมาหารือกับท้องถิ่นและผู้ที่ได้รับผลกระทบให้ชัดเจน

Advertisement

นายสาธิต ภิรมส์ไชย ผู้แทนกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า ไปรับฟังความคิดเห็นกรณีเขื่อนปากแบงมาแล้ว 4 ครั้งและนำเสนอความเป็นอย่างเป็นทางการไปยังรัฐบาลลาว ไม่ใช่แค่ความเห็นของภาคประชาชนอย่างเดียว แต่เป็นความเป็นของภาคราชการที่เกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะเรื่องน้ำท่วมจากเขื่อนนั้นถึงแค่ไหน และคนในพื้นที่มีความเสี่ยงอย่างไรโดยได้สอบถามรัฐบาลลาวไปแล้ว นอกจากนี้การปรับเปลี่ยนระดับน้ำนั้น เราต้องการให้ลาวเข้าไปบริหารจัดการน้ำให้เป็นระบบเพราะจะช่วยในเรื่องเตือนภัยได้ และหัวใจสำคัญคือเรื่องของโครงสร้างเขื่อน นอกจากนี้เรายังเป็นห่วงในเรื่องของตะกอนสะสมซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในท้ายน้ำ เราแจ้งรัฐบาลลาวไปว่าประสิทธิภาพของเขื่อนนี้เหมือนกับประสิทธิภาพของเขื่อนไซยะบุรีหรือไม่ เรายังได้มีข้อเสนอแนะไปว่า 1.ควรศึกษาอย่างละเอียดเกี่ยวกับน้ำเสียที่จะเข้าประเทศไทย ควรมีการสำรวจทางกายภาพและควรศึกษาให้เป็นระบบมากขึ้น ที่สำคัญควรเป็นการทำงานร่วมกันหลายฝ่าย

นายจันแสวง อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำลาว กล่าวว่ารัฐบาลลาวให้ความสำคัญกับความร่วมมือครั้งนี้มาก การพัฒนาทรัพยากรแหล่งน้ำเป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลลาว ขอบคุณในความห่วงใย ด้วยความยากจนของประเทศจึงต้องมีการลงทุนและทุกฝ่ายต้องได้ประโยชน์ เราถึงจะอยู่ร่วมกันได้ในประชาคมอาเซียน บริษัทต้าถังเป็นแขกที่ลงทุนเริ่มจากการศึกษาโดยองค์การแม่น้ำของ จนปี 1994 ได้มีการปฎิรูปครั้งใหญ่ในการศึกษาเรื่องเขื่อน และเราได้ลงนามกับต้าถังในการสร้างเขื่อนปากแบงโดยใช้เวลา 13 ปีในการศึกษาการสร้างเขื่อนปากแบง ขอบใจที่ทุกท่านยินดีรับข้อเสนอทุกความเห็น อันไหนที่เราตกลงได้เองก็จะตกลง อันไหนที่ต้องไปรายงานก็จะไปทำรายงาน แต่ไม่ใช่มีเฉพาะแม่น้ำโขงเท่านั้น หากจะไปลาวก็ยินดี การปรึกษาหารือครั้งนี้ไม่ใช่เอาแพ้ชนะ แต่ขอให้อยู่ในกรอบการพัฒนาร่วมกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image