‘กระทรวงดีอี’ พร้อมรับฟังความคิดเห็น ‘ร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ’ จากทุกฝ่าย เชื่อกฎหมายช่วยป้องประเทศจากภัยคุกคามไซเบอร์ได้

นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยในฐานะโฆษกกระทรวงดีอี ตามที่มีข้อวิจารณ์เกี่ยวกับเนื้อหา ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ) ที่อยู่ในระหว่างปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาว่า มีเนื้อหาประเด็นสำคัญไม่มีความแตกต่างไปจากร่างเดิม  รวมถึงชี้ให้เห็นถึงอันตราย 8 ด้านของ ร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ ฉบับปรับปรุงดังกล่าว อาทิ ประเด็นทำลายประชาธิปไตยและหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนทำให้กระบวนการยุติธรรมล้มเหลว ส่งเสริมให้เกิดรัฐตำรวจ ปราบปรามศัตรูทางการเมือง 

ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงดีอี ขอชี้แจงในประเด็นดังกล่าวว่า ภายหลังจากการรับฟังความคิดเห็น และได้มีข้อกังวลจากภาคส่วนต่างๆ ก็ได้มีการปรับปรุงร่างกฎหมายนี้ โดยเน้นหลักการไม่ให้ขัดแย้งกับกฎหมายอื่นที่มีอยู่แล้ว รวมทั้ง ช่วยสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ และสอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิบัติงาน บุคลากร กรอบงบประมาณ เพื่อดูแลปกป้องหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ให้สามารถให้บริการต่อเนื่องโดยเฉพาะการกำหนดกลไกให้มีการถ่วงดุลของผู้ใช้อำนาจตามกฎหมายนี้ ที่ต้องผ่านการเห็นชอบจากศาล ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล และตามหลักแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามกระบวนการยุติธรรม โดยมิได้มุ่งหมายหรือมีเจตนาเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือรุกล้ำเสรีภาพส่วนบุคคลแต่อย่างใด 

นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงดีอี ได้มีการดำเนินการร่วมกับทุกภาคส่วน ดังนี้ 1.กระทรวงดีอี และผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติ ร่วมกันปรับปรุงร่างกฎหมายนี้ในประเด็นข้อห่วงใย 7 ประเด็น ได้แก่ 1.วันมีผลบังคับใช้ 2.ขอบเขตของกฎหมายความซ้ำซ้อน และการเชื่อมโยงกับกฎหมายอื่น 3.คำนิยาม 4.องค์กร 5.หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ (CII) 6.การรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ และ 7.บทกำหนดโทษ รวมทั้งได้ประชุมหารือเชิงหลักการร่วมกับส่วนราชการ 20 กระทรวง ฝ่ายความมั่นคงของชาติ และภาคเอกชน รวมทั้ง ภาคประชาสังคม เป็นต้น 

2.กระทรวงดีอี ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ ซึ่งปรับปรุงเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 ทางเว็บไซต์ซึ่งเป็นไปตามกรอบรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วันที่ 16 – 30 พฤศจิกายน 2561 

Advertisement

3.ปัจจุบันกระทรวงดีอี ได้ตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยได้ประชุมไปเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 เพื่อพิจารณาปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ ให้เป็นไปตามความเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จ และเสนอ ครม. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ภายในเดือนธันวาคม 2561 

ทั้งนี้ กระทรวงดีอี ได้ประชาสัมพันธ์ชี้แจงกรณีดังกล่าวทางเว็บไซด์กระทรวง และช่องทางโซเซียลมีเดีย และผ่านสื่อมวลชนต่างๆ เพื่อให้ได้รับทราบข้อเท็จจริงแล้ว และหากประชาชนมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน (Government Contact Center : GCC 1111) 

ดังนั้น กระทรวงดีอี ดำเนินการร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดความมั่นใจกฎหมายฉบับนี้ นอกจากจะช่วยปกป้องประเทศไทยจากภัยคุกคามไซเบอร์ และได้คำนึงถึงความเหมาะสมในการถ่วงดุลอำนาจตรวจสอบและระบบบริหารจัดการ เพื่อให้การดูแลความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์มีความสมดุลและมีประสิทธิภาพ โดยมาจากการสรุปและประมวลผลจากการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะที่ผ่านมาประกอบการพิจารณาทุกประเด็น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image