‘สุจิตต์’ ลุยเอง! สำรวจ ‘เวียงพางคำ’ เผยเป็นเมืองพระเจ้าพรหมบรรพชนพระเจ้าอู่ทอง

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ในเครือมติชน ได้เดินทางลงพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพื่อสำรวจ ‘เวียงพางคำ’ เมืองโบราณตามตำนานสิงหนวัติ โดยขอความร่วมมือจากสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่

นายสุจิตต์ กล่าวว่า ตนและนายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จะถ่ายทำรายการ ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว’ ที่พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ในวันอังคารที่ 27 พฤศจิกายนนี้ ร่วมกับ ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ตนจึงถือโอกาสนี้ในการสำรวจเวียงพางคำ เนื่องจากเป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญ เชื่อมโยงเรื่องพระเจ้าพรหมกับพระเจ้าอู่ทอง ผู้ก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา โดยที่ผ่านมามักพูดกันว่าไม่เหลือร่องรอยของเมืองโบราณดังกล่าวแล้ว จึงขอความช่วยเหลือจากกรมศิลปากรให้พามาสำรวจ ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์เป็นอย่างดี ซึ่งตนจะใช้ข้อมูลที่ได้ไปนำเสนอในรายการขรรค์-สุจิตต์ทอดน่องท่องเที่ยวด้วย

“เวียงพางคำในตำนานคือเมืองพระเจ้าพรหมซึ่งประวัติศาสตร์ไทยยุคสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพยกย่องเป็นมหาราชองค์แรกของประวัติศาสตร์ไทย มีลูกหลานสืบต่อมาคือพระเจ้าศิริชัยเชียงแสน ซึ่งย้ายลงมาภาคกลางไปเมืองกำแพงเพชร อ.พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้เขี่ยวชาญของกรมศิลปากรบอกว่า ลงมาทางแม่น้ำน่าน พระเจ้าศิริชัย คือต้นตระกูลของพระเจ้าอู่ทอง ผู้ก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา เพราะฉะนั้นพระเจ้าพรหมก็คือบรรพชนของพระเจ้าอู่ทอง เมืองของพระองค์คือเวียงพางคำแปลว่า ฆ้องทองคำ เป็นฆ้องแบบไม่มีปุ่ม พระอินทร์ให้พระเจ้าพรหมตีพาง หรือฆ้องริมน้ำแม่สาย พญานาคก็โผล่ขึ้นเหนือน้ำแล้วกลายร่างเป็นช้างคู่บารมี พระเจ้าพรหมคือลักษณ์ของคนพูดภาษากลุ่มตระกูลภาษาไทยหรือไต เช่นเดียวกับพระยามังราย ขอให้ภูมิใจกับวีรบุรุษในตำนานผู้รวบรวมผู้คนตั้งบ้านเมืองต้นทางประวัติศาสตร์ไทย แต่ขอให้ก้าวข้ามเรื่องเชื้อชาติซึ่งไม่มีจริง” นายสุจิตต์กล่าว

นายสุจิตต์ กล่าวอีกว่า ตนสำรวจเวียงพางคำกับศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม ตั้งแต่ พ.ศ. 2510 หรือกว่า 50 ปีที่แล้ว วันนี้ได้มาอีกครั้ง พบว่า ยังหลงเหลือร่องรอยอยู่มาก กรมศิลปากรน่าจะเผยแพร่เรื่องราวของเวียงพางคำให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นเมืองสำคัญมาก

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักโบราณคดีกรมศิลปากร ได้พานายสุจิตต์ไปยังซากแนวกำแพงเมืองที่หลงเหลืออยู่หลายจุด อาทิ บริเวณสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติฉลองสิริราชสมบัติครบรอบ 60 ปี ริมถนนพหลโยธิน ใกล้ที่ว่าการอำเภอ, ถนนคูเมือง ฝั่งตรงข้ามสวนสาธารณะ และบริเวณหลังวัดเวียงพาน เป็นต้น

นายสายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ กล่าวว่า เวียงพางคำ ยังเหลือคูน้ำคันดินค่อนข้างสมบูรณ์ มีลักษณะเป็นคันดิน 2 ชั้น มีคูเมืองอยู่ตรงกลาง ตัวคูเมืองค่อนข้างลึก โดยเฉพาะจุดที่อยู่บริเวณเนินเขา ลึกจากพื้นดินระดับปัจจุบันราว 10-12 เมตร สำหรับอายุสมัยที่แน่ชัดของเมืองนี้ ยังไม่มีการขุดค้นทาวโบราณคดี จึงไม่สามารถระบุได้ชัดเจน แตรหากตีความจากหลักฐานด้านตำนาน สันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ในช่วง พ.ศ.900

Advertisement

นายยอดดนัย สุขเกษม นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ กล่าวว่า การตั้งถิ่นฐานของผู้คนในเวียงพางคำ และเมืองโบราณในบริเวณนี่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำจากพื้นที่ต่อเนื่องระหว่างดอยตุงและเทือกเขา ‘ขุนน้ำนางนอน’ ซึ่งเป็นป่าอุดมสมบูรณ์อย่างมาก เกิดเป็นชุมชนขนาดใหญ่ หลงเหลือหลักฐานมาถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม บริเวณนี้ ยังมีเมืองโบราณที่รายล้อมด้วยคูน้ำคันดินกระจายอยู่อีกเป็นจำนวนมาก โดยทางสำนักศิลปากรที่ 7 จะดำเนินการศึกษาในเชิงลึกต่อไป

ทั้งนี้ รายการ ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว’ ประจำเดือนพฤศจิกายน ในตอน ‘เมืองเชียงใหม่ โยนก ล้านนา เจ้าดารารัศมี’ จะถ่ายทอดสดจากพิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ในวันอังคารที่ 27 พฤศจิกายนนี้ เวลา 16.00 น. สามารถรับชมผ่านเฟซบุ๊กมติชนออนไลน์, ข่าวสด, ศิลปวัฒนธรรม และยูทูปมติชนทีวี

อนุสาวรีย์พระเจ้าพรหม บรรพบุรุษพระเจ้าอู่ทอง หน้าที่ว่าการอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image