ขรรค์ชัย-สุจิตต์-ธงทอง ทอดน่อง ‘พระตำหนักดาราภิรมย์’ ชวนเที่ยวงานวันเจ้าดารารัศมี

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ มีการถ่ายทอดสดรายการ ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว’ ตอน พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์’ โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ราชสำนัก เป็นวิทยากรกิตติมศักดิ์

ศ.พิเศษ ธงทอง กล่าวว่า เชียงใหม่ ในยุคพระเจ้ากรุงธนบุรี และรัชกาลที่ 1 ลงมา มีความใกล้ชิดกับกรุงเทพฯมาก ต่อมาภายหลัง ต้องการผูกสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมากขึ้นเมื่อพม่าตกอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ ซึ่งก็ต้องการมีอำนาจเหนือดินแดนแถบนี้ พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ จึงถวายพระราชธิดาให้เป็นพระราชชายาในรัชกาลที่ 5 คือ ‘พระราชชายา เจ้าดารารัศมี’ ซึ่งเสด็จไปประทับที่กรุงเทพฯ จนเมื่อรัชกาลที่ 5 สวรรคต จึงทูลลารัชกาลที่ 6 กลับมาประทับยังเชียงใหม่ โดยมีพระตำหนักอีกแห่งหนึ่งนอกเหนือจากในตัวเมืองคือ ‘พระตำหนักดาราภิรมย์’ ที่อำเภอแม่ริม เดิมชื่อ ‘สวนเจ้าสบาย’ ครั้นสิ้นพระชนม์ ตกเป็นของทายาท จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงขอซื้อเพื่อบูรณะและจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ สำหรับชีวิตความเป็นอยู่ครั้งประทับในกรุงเทพ ทรงแต่งพระองค์อย่างคนเหนือ มีข้าวของเครื่องใช้ที่นำไปจากเชียงใหม่ ตำหนักเป็นตึก 3 ชั้น สร้างด้วยเงินจากพระราชบิดา ทรงมีพระราชธิดา 1 พระองค์ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี แต่น่าเสียดายที่สิ้นพระชนม์เมื่อพระชนมายุเพียง 3 ชันษา

จากนั้นศ.พิเศษ ธงทอง พาชมห้องต่างๆในตำหนัก ซึ่งจัดแสดงภาพถ่ายเก่า และสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ อาทิ เครื่องแก้วเจียระไน หมอนปักรูปดาวตามพระนาม ‘ดารารัศมี’ กล่องบุหรี่ไม้มะค่า เป็นต้น ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับบริจาคจากบุคคลต่างๆ เช่น เจ้ากอแก้ว ประกายกาวิล ณ เชียงใหม่

Advertisement

ศ.พิเศษธงทอง กล่าวว่า เครื่องใช้ต่างๆเหล่านี้จะเห็นได้ว่ารับอิทธิพลจากตะวันตก มีการถ่ายภาพซึ่งในยุคนั้นเป็นเรื่องโก้มาก อย่างไรก็ตาม พระราชชายาดารารัศมีทรงรักษาขนบธรรมเนียมเมืองเหนือ ทั้งการแต่งพระองค์ การไว้พระเกศายาว มีเรื่องเล่าว่า ทรงเปลื้องพระเกศาลงเช็ดพระบาทรัชกาลที่ 5 เพื่อแสดงความเคารพสูงสุด รัชกาลที่ 5 ทรงถอดพระธำมรงค์จากนิ้วก้อยพระราชทาน

“เชียงใหม่มีทางเลือกเยอะ ทั้งสถานที่เที่ยวทางธรรมชาติ และวัฒนธรรม ที่พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์มีประวัติศาสตร์ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างเชียงใหม่กับกรุงเทพฯ มีภาพ และวัตถุพยานอย่างชัดเจน อยากให้คนกันเยอะๆ วันที่ 8-9 ธันวาคมนี้ จะมีการจัดงานวันพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ซึ่งนอกจากการวางพวงมาลาแล้ว. ยังมีนิทรรศการภาพถ่ายที่อาคารรัศมีทัศนาด้วย” ศ.พิเศษธงทองกล่าว

Advertisement

นายสุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ในเครือมติชน กล่าวว่า เรื่องราวของพระราชชายาดารารัศมีคือตัวแทนของวัฒนธรรมล้านนาที่ลงไปสู่กรุงเทพฯ และนำวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ขึ้นมายังเชียงใหม่ เช่น มีการพาครูปี่พาทย์จากภาคกลาง ขึ้นมาเล่นที่เชียงใหม่ รวมถึงพระราชนิพนธ์อิเหนา ส่วนฟ้อนเล็บฟ้อนเทียนที่คนกรุงเทพรู้จักทุกวันนี้ก็ล้วนมาจากเจ้าดารารัศมีทั้งสิ้น นอกจากนี้เพลงที่คนไทยรู้จักกันดีอย่าง ‘น้อยใจยา’ ก็เกิดขึ้นในยุคของเจ้าดารารัศมีเช่นกัน

นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เคยเดินทางมาชมพระตำหนักดาราภิรมย์หลายครั้งเป็นสถานที่ที่สงบและสวยงาม ได้รับการบูรณะอย่างดี ต้องชื่นชมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่นำคุณค่ากลับคืนมาเป็นสมบัติของแผ่นดิน ทุกที่ในเมืองไทยควรทำได้อย่างนี้

อนึ่ง การถ่ายทอดสดครั้งนี้สนับสนุนโดย สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อีซูซุ, เนเจอร์กิฟท์, กรมการพัฒนาชุมชน, จีพีเอสไอแอม, สายการบินแอร์เอเชีย และกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image