สภาพัฒน์แจงไทยไม่ได้เหลื่อมล้ำมากสุดในโลก (ชมคลิป)

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช. หรือ สภาพัฒน์) สศช. แถลงข่าวการชี้แจงประเด็น เรื่อง “ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย” โดย นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการ สศช. ในฐานะโฆษก สศช. เปิดเผยว่า ขอยืนยันว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก ตามที่มีในสื่อสังคมออนไลน์มีการอ้างอิงข้อมูลจาก ซีเอส โกลบอล เวลท์ รีพอร์ต 2018 (2561) ระบุว่า ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก เพราะรายงานดังกล่าววัดจากค่าดัชนีการกระจายความมั่งคั่ง โดยต้องใช้ข้อมูลการถือครองความมั่งคั่ง โดยมีเพียงประเทศที่มีข้อมูลสมบูรณ์ 35 ประเทศ เช่น อังกฤษ สวีเดน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น ในส่วนของอีก 133 กระเทศ และประไทยที่ไม่ได้มีการจัดเก็บข้อมูลนี้ ทางผู้จัดทำรายงานได้มีการนำข้อมูลด้านรายได้ไปคำนวณเป็นการถือครองความมั่งคั่ง เพราะตามสมมติฐานว่าความมั่งคั่งมีความสัมพันธ์กับรายได้ จากนั้นใช้วิธีการทางเศรษฐมิติคำนวณออกมา ซึ่ง ข้อมูลด้านรายได้ของประเทศไทยที่ใช้ในการคำนวณใช้ข้อมูลในปี 2549 เป็นข้อมูลเก่าและสถานการณ์ปัจจุบันเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก จึงเป็นการประมาณการแบบหยาบหยาบและไม่สามารถอ้างอิงหรือสะท้อนสถาณการณ์ของประเทศไทยได้ทั้งหมด

นายดนุชา กล่าวว่า สำหรับข้อมูลด้านความเหลื่อมล้ำ ของประเทศไทยที่ใช้ในการพิจารณา จะอ้างอิงตามมาตรฐานของธนาคารโลก ผ่านค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค หรือค่าสัมประสิทธิ์จีนี (GINI Coefficient Index) ที่ธนาคารโลกใช้ในการวัดความเหลื่อมล้ำของประเทศต่างๆ โดยดัชนีจีนี่จะมีค่าระหว่าง 0-1 หรือ 100% หากจีนีมีระดับต่ำจะแสดงถึงการกระจายรายได้และรายจ่ายที่อยู่ในระดับดีกว่าค่าจีนี่ที่มีระดับสูง โดยการจัดอันดับความเหลื่อมล้ำในรายงานค่าสัมประสิทธิ์จีนี ในปี 2558 ปีล่าสุดที่มีการเผยแพร่รายงาน พบว่า ประเทศไทยมีดัชนีสัมประสิทธิ์จีนี อยู่ที่ 0.36 หรือ 36.0% เปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นอังกฤษมีค่าสัมประสิทธิ์จีนีอยู่ที่ 0.33 หรือ 33% ขณะที่สหรัฐ มีค่าสัมประสิทธิ์จีนีอยู่ที่ 0.415 หรือ 41.5% จะเห็นได้ว่าสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทยอยู่ในระดับที่ไม่แตกต่างกันมากกับประเทศที่พัฒนาแล้ว

นายดนุชา กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยมีการคำนวณจีนี โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติจากตัวอย่างประมาณ 52,010 ครัวเรือนสำรวจทุกๆ 2 ปี พบว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ความเหลื่อมล้ำของไทยลดลงต่อเนื่อง โดยค่าจีนี ในรายงานปี 2560 จีนีด้านรายได้ของไทยคิดเป็น 0.453 หรือ 45.3% ลดลงจากปี 2550 ที่จีนี อยู่ที่ 0.499 หรือ 49.9% ขณะที่ด้านรายจ่ายคิดเป็น 0.364 หรือ 36.4% ลดลงจาก 0.398 หรือ 39.8% ทั้งนี้สถานการณ์ด้านความแตกต่างของรายได้ระหว่างกลุ่มประชากรที่มีรายได้สูงที่สุดและกลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อยที่สุด มีแนวโน้มแคบลงอย่างต่อเนื่องโดยลดลงจาก 25.10 เท่า ในปี 2550 เป็น 19.29 เท่า ในปี 2560 และความแตกต่างของรายจ่ายระหว่างกลุ่มประชากรที่มีรายจ่ายสูงสุดและกลุ่มประชากรที่มีรายจ่ายน้อยที่สุดลดลงจาก 11.70 เท่าในปี 2551 เป็น 9.32 เท่าในปี 2560

“ข้อมูลนี้ออกมาสร้างความตะหนกพอสมควรว่าประเทศไทยเป็นอย่างนี้จริงหรือไม่ แต่เท่าที่ดูจากฟีดแบคหลายคนทราบว่าเป็นการวัดคนละแบบ และข้อมูลที่ออกมาไม่อาจจะสะท้อนสถานการณ์ของประเทศไทยได้ทั้งหมด ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นทางสภาพัฒน์ก็ต้องออกมาชี้แจงเพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามแม้ว่าสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทั้งในส่วนของรายได้และรายจ่ายระหว่างประชากรกลุ่มต่างๆของไทยมีแนวโน้มดีขึ้นแต่ยังมีความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญในการดำเนินการผ่านมาตรการต่างๆของภาครัฐเพื่อให้ประชากรที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีการกระจายรายได้จากกลุ่มประชากรที่มีรายได้สูงไปสู่ประชากรกลุ่มต่างๆดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน   นอกจากนี้ได้มีการจัดทำฐานข้อมูลบิ๊กดาต้าคนจน เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด โดยตั้งเป้าว่าปี 2580 ประเทศไทยจะมีช่องว่างรายได้ระหว่างกลุ่มประชากรที่มีรายได้สูงสุดและกลุ่มประชากรที่มีได้น้อยที่สุดลดลงเป็น 15 เท่า และจีนีด้านรายได้อยู่ที่ 0.36 หรือ 36%” นายดนุชา กล่าว

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image