ทีเส็บเดินหน้าผลักดันเชียงใหม่เป็นไมซ์ซิตี้ระดับนานาชาติ พร้อมกระตุ้นไมซ์ไทยใส่ใจสิ่งแวดล้อม

สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เดินหน้าผลักดันไมซ์ซิตี้ต่อเนื่อง ขานรับนโยบายการกระจายรายได้ของรัฐบาล สร้างแนวทางการพัฒนาเมืองเชียงใหม่สู่การเป็นศูนย์กลางไมซ์ซิตี้ภาคเหนือครบวงจร

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ ทีเส็บ กล่าวว่า ทีเส็บมีแนวทางในการผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และชุมชน เพื่อให้อุตสาหกรรมไมซ์เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและช่วยกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นตามนโยบายรัฐบาล โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ.2561-2564) ในยุทธศาสตร์ที่ 9 การพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ

ขณะที่สถิติการจัดอันดับเมืองที่ไม่ใช่เมืองหลวงที่มีการประชุมมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน พบว่าในปี พ.ศ. 2559 เชียงใหม่มีการจัดประชุมนานาชาติเป็นอันดับที่ 2 โดยมีการประชุมถึง 20 ครั้ง ส่วนตัวเลขนักเดินทางกลุ่มไมซ์และรายได้ในปี พ.ศ. 2560 เชียงใหม่มีโอกาสต้อนรับนักเดินทางกลุ่มไมซ์จากต่างประเทศจำนวน 50,881 คน สร้างรายได้ 4,700.38 ล้านบาท และมีนักเดินทางกลุ่มไมซ์ในประเทศไทยเดินทางไปจัดกิจกรรมหรือเข้าร่วมจำนวน 2,210,000 คน สร้างรายได้ 4,914.53 ล้านบาท

ทีเส็บจึงได้กำหนดกลยุทธ์ในการพัฒนาเชียงใหม่สำหรับการเป็นไมซ์ซิตี้ไว้ 4 ด้าน ได้แก่ (1) ส่งเสริมการประชาสัมพันธ์และการตลาดไมซ์แบบมุ่งเป้าตลาดเอเชีย (2) ยกระดับการบริการ พัฒนาสินค้าท่องเที่ยว สร้างโอกาสในกิจกรรมไมซ์ โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรม (3) พัฒนา ยกระดับบุคลากรที่มีส่วนสนับสนุนอุตสาหกรรมไมซ์ในพื้นที่ และ (4) ยกระดับและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สนับสนุนการจัดกิจกรรมไมซ์

Advertisement

นอกจากนี้ ทีเส็บได้ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ องค์กรภาคีเครือข่ายการศึกษา และพันธมิตรต่างๆ ในการจัดประกวด “ไมซ์ไทย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” เพื่อกระตุ้นทุกภาคส่วนทั่วประเทศรณรงค์การจัดงานไมซ์ที่ใส่ใจด้านต่างๆ เพื่อให้ประเทศไทยได้เปรียบในระยะยาว สร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชน และเปิดโอกาสให้ผู้จัดงานพัฒนาความสัมพันธ์กับชุมชนท้องถิ่นให้ดีขึ้นด้วย “ทีเส็บได้มีการริเริ่มนโยบายการส่งเสริมการจัดงานอย่างยั่งยืนตั้งแต่ปีพ.ศ. 2551 ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ได้สร้างโรดแมปสำหรับการจัดประชุมสีเขียว โดยแนวทางนี้ได้เผยแพร่ไปยังทั่วภูมิภาคเอเชียในปี พ.ศ. 2555 จนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้การส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์อย่างยั่งยืน มีองค์ประกอบ 3 ด้าน คือ สร้างสมดุลความรับผิดชอบต่อสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน และหากทุกภาคส่วนร่วมกันช่วยคิดค้นวิธีการจัดงานเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมให้ชุมชนสามารถนำผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นมาใช้ทดแทน นอกจากจะช่วยจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในการจัดงานที่สามารถใช้วัสดุท้องถิ่นช่วยสร้างรายได้ สร้างงาน สร้างชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน เพื่อร่วมกันผลักดันให้ธุรกิจไมซ์โดดเด่นและมีเอกลักษณ์ ส่วนพันธกิจด้านอื่นๆได้แก่ การสนับสนุนการจัดงานไมซ์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและกระจายรายได้สู่ชุมชน การส่งเสริมภาพลักษณ์ของธุรกิจไมซ์เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการให้ได้มาตรฐานสากล ซึ่งทีเส็บจะเดินหน้าร่วมมืออย่างต่อเนื่องกับทุกจังหวัด รวมถึงจังหวัดเชียงใหม่และหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนชุมชนที่เกี่ยวข้องต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image