เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับอาชีวศึกษา : โดย รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์

การจัดการเรียนการสอนของประเทศไทย แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ การศึกษาขั้นพื้นฐาน และการศึกษาขั้นอุดมศึกษา/อาชีวศึกษา

การศึกษาขั้นพื้นฐาน แบ่งออกเป็น ระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น (โดยอาจจะรวมการศึกษาก่อนวัยเรียนช่วงอายุ 0-6 ปีด้วย)

ระดับอนุบาล เพื่อมุ่งเน้น การปลูกฝัง อบรมเลี้ยงดู และพัฒนาความพร้อมของผู้เรียนทุกด้าน ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา วินัย รวมไปถึงบุคลิกภาพ

ระดับประถมศึกษา (ป.1-ป.6) เป็นการวางรากฐานเพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะในด้านต่างๆ และคุณลักษณะที่พึงประสงค์

Advertisement

ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1-ม.3) มุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนา ทักษะ ความรู้ ความสามารถ ต่อจากระดับประถมศึกษา

การศึกษาตั้งแต่ ม.1-ม.3 นี้เป็นช่วงระยะเวลาที่สำคัญสำหรับผู้เรียน (และผู้ปกครอง) ที่ต้องค้นให้พบความต้องการ ความสนใจ และที่สำคัญที่สุดคือความถนัดของตนเอง และตัดสินใจว่าจะมุ่งไปยังสายวิชาชีพหรือสายสามัญ โดยควรมีการเผยแพร่ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับการศึกษาทั้งสองเส้นทางผ่านทางครูแนะแนวของสถานศึกษา

การศึกษาขั้นอุดมศึกษา/อาชีวศึกษา เริ่มตั้งแต่มัธยมศึกษาตอนปลาย ปริญญาตรี หรือเทียบเท่า ไปจนถึงบัณฑิตศึกษาหรือเทียบเท่า

Advertisement

ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับ ประกาศนียบัตรวิชาชีพ คือการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญา ที่มุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ศึกษาตามความถนัดและความสนใจ เพื่อเป็นฐานสำหรับการศึกษาต่อสายสามัญหรือสายวิชาชีพรวมไปถึงเพื่อประกอบอาชีพ แบ่งเป็น

การศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ (ม.4-ม.6) และ การศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายวิชาชีพ หรือ การศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)

ระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ในส่วนของสายสามัญโดยทั่วไปใช้เวลาศึกษา 4 ปี ส่วนสายวิชาชีพใช้เวลาเท่ากันและเป็นปริญญาตรีสายปฏิบัติการและเทคโนโลยีหรือเทียบเท่า ซึ่งเป็นการศึกษาที่มุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถ และสมรรถนะทางวิชาชีพระดับสูง โดยเฉพาะการประยุกต์ทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติ การริเริ่มการพัฒนาทั้งด้านวิชาการ วิชาชีพ การสร้างสรรค์ และการเผยแพร่ความรู้

ระดับบัณฑิตศึกษาหรือเทียบเท่า เป็นการศึกษาที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนา ทักษะ ความรู้ ความสามารถ และสมรรถนะทางวิชาการเฉพาะทาง ให้มีความชำนาญมากยิ่งขึ้น มุ่งสร้างสรรค์ ค้นคว้าวิจัย พัฒนาองค์ความรู้เพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ โดยสายสามัญมีการดำเนินการอย่างกว้างขวางในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในปัจจุบัน และคงจะมีการเปิดสอนในสายวิชาชีพต่อไปในอนาคต

การอาชีวศึกษา หมายความว่า กระบวนการศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคน สายวิชาชีพ ระดับฝีมือ ระดับเทคนิค และระดับเทคโนโลยี ทางด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม พาณิชยกรรม การท่องเที่ยว และการบริการ โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ

การศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) รับผู้จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ระยะเวลาการศึกษา 3 ปี เมื่อจบการศึกษาแล้วสามารถออกไปประกอบอาชีพ หรือศึกษาต่อระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือระดับปริญญาตรีสายสามัญ เป็นการศึกษาที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนา ทักษะ ความรู้ ความสามารถ และสมรรถนะทางวิชาชีพขั้นพื้นฐาน รวมทั้งความสามารถในการเป็นผู้ประกอบการ

การศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เป็นการศึกษาที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถ และสมรรถนะทางวิชาชีพขั้นปานกลาง รวมทั้งความสามารถในการทำหน้าที่หัวหน้างานผู้ประกอบการและสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยผู้จบการศึกษาระดับ ปวช.หรือสายสามัญชั้น ม.6 สามารถเข้าศึกษาในระดับนี้ ใช้เวลา 2 ปี และเมื่อจบการศึกษาแล้วสามารถออกไปประกอบอาชีพหรือศึกษาต่อระดับปริญญาตรีสายสามัญหรือปริญญาตรีสายปฏิบัติการและเทคโนโลยีหรือเทียบเท่า

การศึกษาระดับปริญญาสายปฏิบัติการและเทคโนโลยีหรือเทียบเท่า เป็นการศึกษาที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาและศึกษา ให้มีความรู้ความสามารถและสมรรถนะทางวิชาชีพเฉพาะทาง ทางด้านการวิจัย และความรู้พื้นฐานที่จำเป็นจนสามารถทำให้เกิดนวัตกรรมที่นำมาสู่สิ่งประดิษฐ์ องค์ความรู้ ตลอดจนแนวทางการปฏิบัติในสายวิชาชีพ

ปัจจุบันมีสถานศึกษาเปิดสอนระดับปริญญาตรีสายปฏิบัติการและเทคโนโลยีแล้ว คาดว่าจะมีการเปิดสอนระดับบัณฑิตศึกษาในระยะต่อไป

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษามีบทบาทหน้าที่ในการจัดการศึกษาตามที่ระบุไว้ ในพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ.2551 มาตรา 6 ซึ่งกำหนดว่า “การจัดการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพ ต้องเป็นการจัดการศึกษาในด้านวิชาชีพ ที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนการศึกษาแห่งชาติ เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนในด้านวิชาชีพ ระดับฝีมือ ระดับเทคนิค และระดับเทคโนโลยี รวมทั้งเป็นการยกระดับการศึกษาวิชาชีพให้สูงขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยนำความรู้ในทางทฤษฎีอันเป็นสากลและภูมิปัญญาไทย มาพัฒนาผู้รับการศึกษา ให้มีความรู้ ความสามารถในทางปฏิบัติ และมีสมรรถนะจนสามารถนำไปประกอบอาชีพในลักษณะผู้ปฏิบัติหรือผู้ประกอบอาชีพโดยอิสระได้”

การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี

เป็นการจัดการศึกษาวิชาชีพที่เกิดจากข้อตกลงระหว่างสถานศึกษาหรือสถาบันกับสถานประกอบการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ ในเรื่องการจัดหลักสูตรการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลโดยผู้เรียนใช้เวลาส่วนหนึ่งในสถานศึกษาอาชีวศึกษาหรือสถาบันและเรียนภาคปฏิบัติในสถานประกอบการรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เป็นรูปแบบการจัดการศึกษา ที่มีประสิทธิภาพกว่ารูปแบบอื่นๆ เพราะนักศึกษาที่ผ่านการศึกษาจากระบบทวิภาคีจะมีทักษะในด้านการปฏิบัติ ซึ่งได้เรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริง มิใช่จากตำราในห้องเรียน และเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วสามารถทำงานได้ทันที ในขณะที่ผู้จบการศึกษาในรูปแบบปกติต้องเข้ารับการฝึกก่อนเข้าทำงาน

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) พ.ศ.2556 หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) พ.ศ.2557 และหลักสูตรปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ รวมทั้งกระทรวงศึกษาธิการได้มีการประกาศ เรื่อง “มาตรฐานการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี” ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2557 เพื่อให้สถานศึกษาและสถานประกอบการที่ร่วมจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ใช้เป็นหลักและแนวทางในการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยขณะนี้มีรูปแบบการจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ที่ได้รับความเห็นชอบแล้ว จำนวน 5 Model ดังนี้

Model A การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีเต็มรูปแบบในพื้นที่ คือมีสถานประกอบการในพื้นที่ของสถานศึกษา ผู้เรียนทุกคน ทุกสาขาวิชาได้เข้าฝึกในสถานประกอบการ

Model B การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีเต็มรูปแบบนอกพื้นที่ คือไม่มีสถานประกอบการในพื้นที่ตั้งสถานศึกษา ผู้เรียนทุกคน ทุกสาขาวิชา ได้เข้าฝึกในสถานประกอบการ โดยจะต้องมีการจัดที่พักใกล้กับสถานประกอบการที่ไปฝึกอาชีพให้แก่ผู้เรียนและมีครูควบคุมดูแล

Model C การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีบางสาขาวิชา

Model D การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ให้พนักงานของสถานประกอบการ

Model E การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีกับสถานประกอบการในต่างประเทศ

การจัดการศึกษารูปแบบทวิศึกษา

คือการจัดการศึกษาเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยจัดการศึกษาตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ให้แก่ผู้เรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่มีความประสงค์จะเรียนในสายวิชาชีพ เมื่อผู้เรียนสำเร็จการศึกษาครบตามหลักสูตรจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองวุฒิการศึกษาทั้งระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพพร้อมกัน

การจัดการศึกษารูปแบบทวิศึกษา เป็นมิติใหม่ของการจัดการศึกษา เนื่องจากผู้เรียนส่วนใหญ่ต้องการเรียนอยู่ในพื้นที่ใกล้บ้านเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในการให้การศึกษาแก่ผู้เรียนและผู้สำเร็จการศึกษามีโอกาสหางานทำได้มากขึ้นในภูมิลำเนาของตน เป็นตัวอย่างของความร่วมมือทำงานระหว่างหน่วยงานของรัฐและเอกชนโดยเป็นความร่วมมือจัดการศึกษาระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสถานประกอบการต่างๆ

อาชีวศึกษากับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ทำให้เกิดความตื่นตัวทั้งภาครัฐและเอกชน มีการเริ่มดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2559-2579 ซึ่งประกอบด้วยแผนแม่บทที่สำคัญในด้านต่างๆ โดยแผนแม่บทที่มีความคืบหน้าในการดำเนินงานอย่างชัดเจน ได้แก่ แผนแม่บทด้านคมนาคมขนส่ง ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ (พ.ศ.2558-2565) วงเงินงบประมาณ 2 ปีแรกประมาณ 2 ล้านล้านบาท และแผนแม่บทการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ตามแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (พ.ศ.2560-2564) วงเงินลงทุน 1.5 ล้านล้านบาท

การดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะทำให้เกิดความต้องการกำลังคนในสาขาต่างๆ จำนวนมาก โดยส่วนใหญ่จะเป็นกำลังคนสายอาชีวศึกษาทุกสาขาวิชา ทั้งอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม เกษตรกรรม การท่องเที่ยวและบริการ โดยในสถานการณ์ปัจจุบันก็มีความขาดแคลนกำลังคนสายวิชาชีพอยู่แล้ว ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจึงได้กำหนดนโยบายยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาระยะ 15 ปี (พ.ศ.2555-2569) และจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาสถาบันการอาชีวศึกษา 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) เพื่อมุ่งพัฒนาสถาบันการอาชีวศึกษา ยกระดับคุณภาพของการอาชีวศึกษาให้ประสบความสำเร็จภายในระยะเวลา 20 ปี

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษายังได้ดำเนินการตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยเป็นนโยบายเชิงรุกในระยะเริ่มต้น ได้แก่ โครงการอาชีวะพรีเมียม โครงการอาชีวะพันธุ์ใหม่ หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) (ต่อเนื่อง 5 ปี) มาตรฐานโคเซ็น และโครงการนำหลักสูตรอาชีวศึกษาของประเทศอังกฤษ (BTEC) มาใช้สอนคู่ขนานไปกับหลักสูตรอาชีวศึกษาพรีเมียม

อาชีวศึกษาจะมีส่วนอย่างสำคัญในการทำให้การดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สำเร็จตามแผนที่วางไว้ และทำให้ประเทศไทยปรับตัวเป็นไทยแลนด์ 4.0 ได้ตามที่มุ่งหวัง

รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์
คณะอนุกรรมาธิการการอาชีวศึกษา
คณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image