คิดเห็นแชร์ : ตลาดเกิดใหม่ ‘ถูกได้ใจ’ หรือ‘ถูกได้อีก’

ในช่วงที่ตลาดปรับฐาน สินทรัพย์เสี่ยงมักถูกเทขายจนมีราคาถูก

ล่าสุดดัชนีชี้วัด “ราคาต่อกำไร” หรือ PE ratio ที่เรามักใช้ในการเปรียบเทียบความถูกแพงของตลาด ปรับตัวลงอย่างมากในหลายภูมิภาคของโลก ดึงดูดให้นักลงทุนส่วนหนึ่งอยากกลับเข้ามาลงทุน
แต่ความถูกอย่างเดียว มักจะไม่ใช่คำตอบของตลาดการเงิน

“ถูกแล้วยังถูกได้อีก” เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในตลาด นอกจากนี้นักลงทุนบางกลุ่มถึงกับมองมุม
กลับว่า “ของดีไม่มีทางถูก”

ที่ชัดเจนที่สุด ก็คือการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ หรือ Emerging Markets (EM) ในปีที่ผ่านมาที่ “เข้าขั้นถูก” แต่ก็ปรับตัวขึ้นไม่ได้เลย

Advertisement

อย่างไรก็ดี อีกฟากหนึ่งของการลงทุนอย่างตลาดพัฒนาแล้ว หรือ Developed Markets (DM) ทั้งสหรัฐและยุโรป ก็กลับมีความขัดแย้งทางการเมืองที่แก้ไม่รู้จบ และไม่สามารถเรียกเป็นการลงทุนที่แพงแต่ปลอดภัยกว่าได้ ยิ่งในตอนนี้ที่ตลาดการเงินอยู่ในภาวะตื่นตัวสูง ไม่ว่ามีเรื่องอะไรเข้ามากระทบ เกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับการลงทุน ตลาดก็ดูจะผันผวนบวกสลับลบแรงไปเสียทุกครั้ง

“ลดการลงทุนใน DM ที่แพงลงดีไหม?” หรือ “กลับเข้าลงทุนใน EM ที่ถูกได้หรือยัง?” เป็นคำถามที่ไม่ได้มีแต่เราที่สงสัย แต่นักลงทุนทั่วโลกก็กำลังหาคำตอบ

ล่าสุด Bhanu Baweja และ Alexey Ostapchuk สองนักกลยุทธ์ตลาดทุนของธนาคารสวิส UBS ได้ทำการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของตลาด EM และ DM ไว้ได้อย่างน่าสนใจ และมีเรื่องที่เราต้องรู้อยู่สามเรื่อง

Advertisement

อย่างแรกคือความถูกของ EM แท้จริงมีเหตุจากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น

โดยเมื่อเปรียบเทียบ PE ของตลาด EM กับต้นทุนทางการเงินที่วัดด้วยการนำบอนด์ยิลด์สหรัฐอายุ 10 ปี รวมเข้ากับ CDS เฉลี่ยของประเทศในกลุ่มนี้ จะพบว่าปี 2018 แทบจะเหมือนกับเมื่อปี 2015 ที่ต้นทุน
ปรับตัวสูงขึ้นจากราว 4.0% เป็น 5.5% ส่งผลให้ PE ปรับตัวลงจาก 12 เท่าเป็น 10 เท่า จุดที่น่าจะแตกต่างในรอบนี้คือต้นทุนการเงินในปัจจุบันอาจไม่สามารถปรับลดลงได้เหมือนในอดีต ดังนั้นความถูกของ EM จึงน่าจะอยู่กับตลาดนี้ต่อไปซักพัก?

เรื่องที่สองคือความสัมพันธ์ของตลาดทุนทั่วโลก มักไปในทิศเดียวกันในช่วงขาลงของ DM

UBS เชื่อว่าความแพงของ DM อาจส่งผลให้
ความถูกของ EM ไร้ความหมาย เพราะตลาดพัฒนาแล้วมักเป็นตัวชี้นำตลาดหุ้นทั่วโลกในหลายๆ ครั้ง

อีกทั้งความสัมพันธ์ของตลาดการเงินทั้งสอง (วัดด้วย R-square) ก็ยืนยันสมมุติฐานดังกล่าว โดยช่วงขาขึ้นความเคลื่อนไหวของ DM จะอธิบาย EM ได้เพียง 18% แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ DM พลิกเป็นขาลง ความสัมพันธ์จะสูงขึ้นเป็น 45% ซึ่งหมายความว่า
ถ้า DM แย่ EM ก็จะแย่ไปด้วย

และท้ายสุด หากสนใจจะลงทุนในของถูกก็ต้องรู้จัก “จังหวะ” และ “จุดปลอดภัย” ซึ่งเราสามารถใช้ DM เป็นตัวบ่งชี้ได้

ในอดีต 20 ปีที่ผ่านมา ไตรมาสที่ตลาดเกิดใหม่จะ “ปลอดภัย” หรือฟื้นตัวขึ้นได้เสมอ คือเมื่อ DM ปรับขึ้นเกิน 7.1% ในไตรมาสนั้น (หรือ S&P 500 บวกเกิน 9.0%) ในทางกลับกัน จังหวะที่ควรหลีกเลี่ยง
การลงทุนใน EM ก็คือช่วงที่ตลาดพัฒนาแล้วปรับตัวลงเกิน 8.6% (หรือ S&P 500 ร่วงลงเกิน 3.8%) ซึ่งในอดีตยังไม่มีครั้งไหนเลยที่ EM จะปรับตัวบวกสวนขึ้นมาได้

นอกจากนี้ ผมมีอีกมุมมองสำหรับนักลงทุนไทยที่อยากซื้อของถูกตอนนี้ คือ “จุดปลอดภัย” บน PE ในแต่ละตลาด

โดยดูจากความสัมพันธ์ของระดับ PE กับผลตอบแทนจากการถือครองไปอีก 12 เดือนข้างหน้าในตลาดหลัก พบว่า “ตลาดญี่ปุ่น” คือที่เดียวที่การลงทุนที่ระดับ PE ปัจจุบัน ในประวัติศาสตร์ ผลตอบแทนในอีก 12 เดือนข้างหน้าจะไม่เคยติดลบเลยแม้แต่ครั้งเดียว

ที่ตามมาคือ EM อย่าง “จีน” ที่ระดับ PE ปัจจุบัน 11 เท่า ต่างเพียงเล็กน้อยจากจุดปลอดภัย 10.3 เท่า ทิ้งห่างจาก DM อย่างสหรัฐและยุโรปที่ปัจจุบัน PE ที่ 15 เท่าและ 12 เท่า นั้นสูงกว่าจุดปลอดภัยที่ 13 เท่าและ 9 เท่า เฉลี่ยราว 25%

และถ้าใช้วิธีเดียวกันมองตลาดทุนไทย จุดปลอดภัยของเราจะอยู่ที่ PE 8.9 เท่า ลองคิดว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนจะเพิ่มขึ้น 10% ในปีหน้า และ SET Index ปิดปีนี้ที่ระดับ 1600 จุด ระดับที่เราจะรู้สึกมั่นใจได้ว่า “เจอของถูกและดี” ก็คือเมื่อดัชนีปรับตัวลงไปอีก 500 จุด

แน่นอนว่าการซื้อสินทรัพย์เสี่ยงที่ถูก ดีกว่าซื้อสินทรัพย์ที่แพงในช่วงที่ตลาดผันผวน แต่เราต้องรู้ว่า เกมนี้คือการรับมีดที่กำลังร่วงหล่นจากฟ้า ฉะนั้น “จังหวะ” และ “จุดปลอดภัย” จึงเป็นสิ่งที่ต้องรู้และตระหนักไว้อยู่เสมอ

 

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image