“กระทรวงดีอี” มอบกฎหมายดิจิทัล 6 ฉบับ เป็น “ของขวัญปีใหม่” ให้กับคนไทย

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (ไซเบอร์ซีเคียวริตี้) และ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (ดาต้า โพรเทคชั่น) ที่รัฐบาลเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ผ่านการพิจารณารับหลักการของ สนช. เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2561 โดยตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นหนึ่งคณะพิจารณาร่างทั้ง 2 ฉบับ กำหนดระยะเวลาดำเนินงาน 45 วัน ให้เวลาแปรญัตติภายใน 15 วัน หลังเสร็จสิ้นวาระสภาทั้งสองฉบับ คณะกรรมาธิการประชุมนัดแรกทันที ล่าสุดที่ประชุมมอบนางเสาวณี สุวรรณชีพ เป็นประธาน

นายพิเชฐ กล่าวว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีหลักการสำคัญที่กำหนดให้การเก็บรวบรวมใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลก่อน อีกทั้ง ต้องระบุวัตถุประสงค์ของการนำข้อมูลไปใช้ และการดูแลข้อมูลให้ปลอดภัย โดยมีข้อยกเว้นจำนวนหนึ่ง อาทิ ในกรณีการแพทย์ และความปลอดภัยสาธารณะ เป็นต้น ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าว จะช่วยกำกับดูแลการล่วงละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคล ที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญ หรือความเสียหายให้แก่เจ้าของข้อมูล

“ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้การเก็บรวบรวม การใช้ และการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล อันเป็นการล่วงละเมิด สามารถทำได้โดยง่าย สะดวก และรวดเร็ว อีกทั้ง อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวม และแม้ว่าจะได้มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในบางเรื่อง แต่ก็ยังไม่มีหลักเกณฑ์กลไก หรือมาตรการ กำกับดูแลเกี่ยวกับ การให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นการทั่วไป” นายพิเชฐ กล่าว

นายพิเชฐ กล่าวว่า ในส่วนของ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เนื่องจากการให้บริการ หรือการประยุกต์ใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต โครงข่ายโทรคมนาคม และระบบดิจิทัลอื่นๆ มีความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งอาจกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ดังนั้น เพื่อให้สามารถป้องกัน หรือรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้อย่างทันท่วงที จึงสมควรกำหนดลักษณะของภารกิจหรือบริการที่มีความสำคัญเป็นโครงสร้างพื้นฐานสาคัญทางสารสนเทศ ที่จะต้องมีการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ มิให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงในด้านต่าง ๆ

Advertisement

“สำหรับร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้มีการกำหนดให้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งจะทำให้มีเอกภาพและความชัดเจน ในการปฏิบัติภารกิจ สร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมและประชาคมโลก” นายพิเชฐ กล่าว

ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ. อีก 4 ฉบับ ซึ่งที่ประชุม สนช. ได้มีการลงมติในวาระ 1 รับหลักการเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้ง ทุกฉบับได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ด้วยแล้วทุกฉบับ ประกอบด้วย 1.ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (อิเล็กทรอนิกส์ ทรานแซคชั่น) 2.ร่าง พ.ร.บ.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ 3.การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (ดิจิทัล ไอดี) ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมาตราในร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ละพิจารณาจัดทำเป็นพระราชกฤษฎีกาต่อไป และ 4. ร่าง พ.ร.บ.สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย

นายพิเชฐ กล่าวว่า กระบวนการจัดทำชุดกฎหมายดิจิทัลครั้งนี้ หลายฉบับรอกันมานับสิบปี และเมื่อประกอบกันแล้วนับได้ว่า มีความสมบูรณ์แบบ อีกทั้ง เป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่จะส่งผลให้ประเทศไทยมีความพร้อมสูงที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจกิจและสังคมดิจิทัล (ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น) อย่างเข้มแข็งมั่นคง สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และจะทำให้ประเทศไทยในฐานะประธานประชาคมอาเซียนในปีหน้าที่จะถึงในไม่กี่วันข้างหน้านี้ มีความพร้อมสูงในการก้าวนำประชาคมไปสู่ยุคดิจิทัล ร่วมกันอย่างยั่งยืน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image