“ที่ประชุม กสทช.” จ่อถกนัดพิเศษ 15 ม.ค. หาข้อสรุปเยียวยาทีวีดิจิทัล (มีคลิป)

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 ที่ประชุม กสทช. ได้มีการพิจารณาร่างประกาศมาตรการเยียวยากรณีเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ และพิจารณาร่างหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ โดยในที่ประชุม กสทช. ได้เห็นชอบให้มีการประชุม กสทช. เป็นวาระพิเศษ ในวันที่ 15 มกราคม 2562 เพื่อพิจารณาในเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง เนื่องจากวาระการประชุมดังกล่าวถูกบรรจุเข้าที่ประชุมล่าช้า อีกทั้ง กรรมการ กสทช. ต้องการที่จะศึกษารายละเอียดต่างๆ ให้รอบคอบ ก่อนที่จะนำร่างประกาศไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะภายใน 45 วัน จากนั้นจะนำกลับเข้าสู่ที่ประชุม กสทช. อีกครั้ง

นายฐากร กล่าวว่า ทั้งนี้ เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 8 มกราคม 2562 ทางสมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ได้เข้าหารือร่วมกับ พลเอก สุกิจ ขมะสุนทร ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) พร้อมทั้ง อธิบายถึงเหตุผลต่างๆ ที่ต้องการให้ กสทช. สนับสนุนในการยกร่างประกาศมาตรการเยียวยากรณีเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ และพิจารณาร่างหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อที่จะช่วยเหลือกิจการทีวีดิจิทัล ทั้งผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิทัล (มักซ์) ที่ต้องประสบกับปัญหาอยู่ขณะนี้

“ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลอย่ากังวลใจว่า หากการพิจารณาล่วงเลยไปจนถึงกรอบเวลาที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไป แล้วจะมีผลกระทบต่ออำนาจการพิจารณาของ กสทช. ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากในหลักการ กสทช. สนับสนุนที่จะออกร่างประกาศเยียวยาการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกกะเฮิตรซ์ และจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกกะเฮิตรซ์” นายฐากร กล่าว

นายฐากร กล่าวว่า ขณะที่ กรรมการ กสทช. จำนวน 80% ได้เสนอให้มีการแยกร่างประกาศมาตรการเยียวยากรณีเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ และร่างหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ เป็นคนละฉบับ เนื่องด้วยเมื่อพบปัญหาสามารถแก้ไขได้ในร่างใดร่างหนึ่ง อีกทั้ง กรรมการ กสทช. มองว่า ทั้ง 2 ร่างไม่มีความเกี่ยวข้องกัน ทั้งนี้ คาดว่า ตลอดกระบวนการยกร่างประกาศ และรับฟังความคิดเห็นสาธารณะจะเสร็จสิ้นภายในเดือนมีนาคม 2562 พร้อมทั้ง คาดว่า จะสามารถเปิดให้เข้ารับใบอนุญาตการประมูลได้ในเดือนเมษายน 2562 และจะสามารถเคาะราคาการประมูลได้ในเดือนพฤษภาคม 2562

Advertisement

“สำหรับการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ คาดว่า จะจัดการประมูลจำนวน 9 ใบอนุญาต รวม 45 เมกกะเฮิตรซ์ส่วนรูปแบบการประมูลจะเป็นในรูปแบบบิวตี้คอนเทสต์หรือไม่ กสทช.ต้องหารือกันอีกครั้ง ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าแม้ต้องการให้เป็นรูปแบบดังกล่าว แต่หากหลายคนมองว่า การประมูลแบบบิวตี้คอนเทสต์จะทำให้เกิดความล่าช้าในการประมูล ดังนั้น อาจต้องใช้รูปแบบการประมูลแบบเดิม” นายฐากร กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image