“อัยการ” จี้จุด 7 ประเด็น ที่ กกต. เลือกอยู่ในเซฟตี้โซน

“อัยการธนกฤต” ชี้เหตุ 7ประเด็น กกต.เลือกอยู่ในเซฟตี้โซน จัดเลือกตั้งรวมประกาศผล ใน 150 วัน กันขัดรธน.แนะระยะเวลาประกาศผลเลือกตั้ง ในอดีต ใช้เวลาแค่ 7 วันทำการ

เมื่อวันที่ 12 มกราคม ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุลอัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุดได้ให้ความเห็นถึงกรณีมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2562 นี้ ควรจะต้องกำหนดวันเลือกตั้งอย่างไรจึงจะไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้น ว่าในเรื่องนี้ ผมขอเสนอความเห็นส่วนตัวและข้อมูลทางวิชาการซึ่งเป็นการให้ความเห็นด้านกฎหมาย ไม่ใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง จึงไม่มีเจตนาและวัตถุประสงค์ให้ความเห็นสนับสนุนการเมืองฝ่ายใดทั้งสิ้น ดังนี้

1. รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 268 กำหนดให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พรป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. , พรป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว., พรป.ว่าด้วย กกต. และ พรป. ว่าด้วยพรรคการเมือง มีผลใช้บังคับแล้ว ซึ่งก็คือต้องดำเนินการเลือกตั้ง ส.ส.ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 และ พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 171 ก็ได้บัญญัติให้ กกต.กำหนดวันเลือกตั้งซึ่งต้องไม่ช้ากว่า 150 วัน นับแต่วันที่ พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พรป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.มีผลใช้บังคับ ซึ่งก็คือ กกต.จะกำหนดวันเลือกตั้งอย่างช้าที่สุดได้ไม่เกินวันที่ 9 พฤษภาคม 2562

2. รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 85 วรรค 4 กำหนดให้ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งเมื่อตรวจสอบเบื้องต้นแล้วมีเหตุอันควรเชื่อว่าผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด ภายใน 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง และ พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 127 ก็ได้บัญญัติไว้เช่นเดียวกันให้ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งเมื่อตรวจสอบเบื้องต้นแล้วมีเหตุอันควรเชื่อว่า ผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของเขตเลือกตั้งทั้งหมดภายใน 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง

Advertisement
3. ประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่าการดำเนินการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ต้องให้แล้วเสร็จภายใน 150 วันดังกล่าว รวมถึงการประกาศผลการเลือกตั้งด้วยหรือไม่ จะมีผลโดยตรงต่อการกำหนดวันเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น โดยหากการดำเนินการเลือกตั้งที่ต้องให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน รวมถึงการประกาศผลการเลือกตั้งด้วย การกำหนดวันเลือกตั้งก็จะต้องเผื่อระยะเวลา 60 วัน สำหรับการประกาศผลการเลือกตั้งนับแต่วันเลือกตั้ง ที่จะต้องอยู่ในกรอบเวลา 150 วันดังกล่าวด้วย คือ เมื่อรวมระยะเวลาในการประกาศผลการเลือกตั้งอีก 60 วันนับแต่วันเลือกตั้งแล้ว วันประกาศผลการเลือกตั้งต้องไม่เกินวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 แต่หากเห็นว่าการดำเนินการเลือกตั้งที่ต้องให้แล้วเสร็จภายใน 150 วันดังกล่าวไม่รวมถึงการประกาศผลการเลือกตั้งด้วย การกำหนดวันเลือกตั้งจะเป็นวันใดนั้น กกต.ก็จะสามารถกำหนดวันที่เห็นว่าเหมาะสมได้ภายในกำหนดเวลา 150 วัน คือ ภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 โดยไม่ต้องพิจารณาถึงระยะเวลาในการประกาศผลการเลือกตั้งแต่อย่างใด
4. ฝ่ายที่สนับสนุนความเห็นว่าการดำเนินการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน รวมถึงการประกาศผลการเลือกตั้งด้วย ให้ความเห็นว่า การดำเนินการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ หมายถึงภารกิจในการดำเนินการเลือกตั้งทั้งหมดของ กกต. ซึ่งได้แก่ การกำหนดวันเลือกตั้ง การจัดการเลือกตั้ง และรวมถึงการประกาศผลการเลือกตั้งด้วย ส่วนฝ่ายที่สนับสนุนความเห็นว่าการดำเนินการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน ไม่รวมถึงการประกาศผลการเลือกตั้ง ให้เหตุผลว่า ความหมายของการดำเนินการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จมีความหมายและมีเจตนารมณ์เพียงแค่การจัดการเลือกตั้งเท่านั้น ไม่รวมถึงการการประกาศผลการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก

5. ทางเลือกของ กกต. ว่าจะดำเนินการต่อความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องการดำเนินการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน ว่าจะรวมถึงการประกาศผลการเลือกตั้งด้วยหรือไม่ อย่างไรนั้น แม้ความเห็นที่สนับสนุนว่าการดำเนินการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน ไม่รวมถึงการประกาศผลการเลือกตั้งด้วย ดูจะมีเหตุผลที่หนักแน่นและมีผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองออกมาให้ความเห็นสนับสนุนกันหลายท่าน แต่ดูเหมือน กกต.อาจจะพิจารณาเลือกแนวทางดำเนินการที่ไม่ต้องรับภาระความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น

“ดังจะเห็นได้จากการที่นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.กล่าวว่า กกต.ตั้งใจที่จะจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ ซึ่งรวมถึงการประกาศผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วันด้วย “

ซึ่งหาก กกต. เลือกแนวทางนี้ ก็นับว่าเป็นทางเลือกที่ปลอดภัย เป็น Safety zone เขตปลอดภัย ที่ กกต.ไม่ต้องเสี่ยงต่อความรับผิดตามกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นได้ หากมีการวินิจฉัยชี้ขาดในภายหลังออกมาในทางตรงข้ามว่าการดำเนินการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน รวมถึงการประกาศผลการเลือกตั้งด้วย

Advertisement

6. หากนำเอาเหตุการณ์การเลือกตั้งเมื่อปี 2549 มาพิจารณาประกอบ จากการที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยการดำเนินการเลือกตั้ง ส.ส. ของ กกต. ว่ามีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้เพิกถอนการเลือกตั้ง และเพื่อจะได้จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ และศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้เพิกถอนการเลือกตั้ง หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ และทำให้ต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ใหม่ และหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย นายถาวร เสนเนียม รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะนั้น ได้ยื่นฟ้อง กกต. ได้แก่ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ นายปริญญา นาคฉัตรีย์ และนายวีระชัย แนวบุญเนียร เป็นจำเลยในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ให้ลงโทษจำคุกและให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง และแม้ต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ยกฟ้องเนื่องจากเห็นว่านายถาวร เสนเนียม ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง จึงไม่มีอำนาจในการฟ้อง ก็น่าจะทำให้ยิ่งเห็นภาพชัดเจนของคำว่า Safety zone ที่ กตต.พึงตระหนักและต้องใช้ความระมัดระวังในการดำเนินการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง

7. มีข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. ในหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมาของประเทศไทย ซึ่งอาจจะนำมาพิจารณาประกอบการกำหนดวันเลือกตั้งและการประกาศผลการเลือกตั้งของ กกต. ในปี 2562 นี้ ด้วยกันอยู่ 2 เรื่อง คือ

เรื่องแรก ในการเลือกตั้งปี 2550 รัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 296 กำหนดให้ดำเนินการเลือกตั้ง ส.ส. ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พรป. ว่าด้วยพรรคการเมือง และ พรป. ว่าด้วย กกต. มีผลใช้บังคับ โดย พรป.ทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2550 ดังนั้น กกต.จะต้องดำเนินการเลือกตั้ง ส.ส. ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 5 มกราคม 2551 และ พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2550 มาตรา 8 กำหนดให้ประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 7 วันทำการนับแต่วันเลือกตั้ง และต่อมาได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550 โดยมาตรา 3 กำหนดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไปในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ดังนั้น จึงต้องประกาศผลการเลือกตั้งภายในวันที่ 3 มกราคม 2551 ซึ่งต่อมา กกต.ก็ได้ประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 3 มกราคม 2551 ซึ่งทำให้การดำเนินการเลือกตั้งและการประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. ล้วนอยู่ภายในกรอบระยะเวลาที่ กกต.ต้องดำเนินการเลือกตั้ง ส.ส. ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันตามรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น คือ ภายในวันที่ 5 มกราคม 2551 อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ยกมาให้ดูนี้เป็นเพียงตัวอย่างในการกำหนดวันเลือกตั้งของ กกต.เมื่อปี 2550 ซึ่งไม่อาจยืนยันได้ว่า กกต.มีเจตนาดำเนินการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน โดยได้พิจารณารวมถึงการประกาศผลการเลือกตั้งด้วยหรือไม่ และเนื่องจากระยะเวลาสิ้นสุดในการดำเนินการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จและระยะเวลาในการประกาศผลการเลือกตั้งดังกล่าวมีความใกล้ชิดกันไม่ห่างกันนัก เนื่องจากมีระยะเวลาที่ใช้ประกาศผลการเลือกตั้งเพียงแค่ 7 วันทำการนับจากวันเลือกตั้งเท่านั้น ทำให้ไม่ประสบปัญหาข้อถกเถียงเช่นในการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งนี้ในปี 2562 ซึ่งมีระยะเวลาในการประกาศผลการเลือกตั้งที่ยาวนานถึง 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง

เรื่องที่สอง ระยะเวลาที่ กกต ใช้ในการประกาศผลการเลือกตั้งในครั้งที่ผ่าน ๆ มา ไม่ได้ใช้ระยะเวลานานถึง 60 วัน ดังจะเห็นได้จากข้อมูลที่จะหยิบยกมาให้ดูนี้
การเลือกตั้งเมื่อปี 2544 มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 และมีการประกาศผลการเลือกตั้งวันที่ 23 มกราคม 2544
การเลือกตั้งเมื่อปี 2549 มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 และมีการประกาศผลการเลือกตั้งวันที่ 12 เมษายน 2549
การเลือกตั้งเมื่อปี 2550 มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 และมีการประกาศผลการเลือกตั้งวันที่ 3 มกราคม 2551
การเลือกตั้งเมื่อปี 2554 มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 และมีการประกาศผลการเลือกตั้งวันที่ 12 กรกฎาคม 2554

ดังนั้น ระยะเวลาที่ กกต.จะใช้ในการประกาศผลการเลือกตั้งควรจะเป็นระยะเวลานานเท่าใด ซึ่งอาจจะมีผลต่อการกำหนดวันเลือกตั้งที่เหมาะสมด้วย กกต. น่าจะพิจารณาจากระยะเวลาที่ใช้ในการประกาศผลการเลือกตั้งในครั้งที่ผ่าน ๆ มาประกอบด้วย ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 85 วรรค 4 และ พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 127 จะกำหนดให้ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งเมื่อตรวจสอบเบื้องต้นแล้วมีเหตุอันควรเชื่อว่าผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมีจำนวน ส.ส.ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด ภายใน 60 วันนับแต่วันเลือกตั้งก็ตาม อีกทั้ง การประกาศผลการเลือกตั้งตามกฎหมายดังกล่าวก็เป็นเพียงการประกาศผลการเลือกตั้งหลังจากมีการตรวจสอบเบื้องต้นว่าผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมเท่านั้น ซึ่ง กกต.ยังจะต้องดำเนินการสืบสวน ไต่สวน หรือวินิจฉัยกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการทุจริตในการเลือกตั้ง หรือการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม รวมถึงการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้กระทำผิด ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 84 วรรค 4 และมาตรา 226 ต่อไปอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image