อีอีซีเร่งเอกชนลงทุนจริ6แสนล.ปีนี้ รับเวียดนาม-มาเลย์พร้อมเสียบ ดึงอดีตทูต4ประเทศร่วมทำงาน

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) หรือสำนักงานอีอีซี เปิดเผยถึงแผนการพัฒนาอีอีซีปี 2562 ว่า ปีนี้คาดหวังว่าจะมีการลงทุนจริงในพื้นที่อีอีซีได้ประมาณ 600,000 ล้าน คิดเป็นประมาณ 90% จากตัวเลขการขอรับส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)ในปี 2561 ที่ระบุว่า มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมพื้นที่อีอีซีจำนวน 422 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 683,910 ล้านบาท ขณะที่ตัวเลขขอส่งเสริมการลงทุนปีนี้ของอีอีซีจะไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท รวมกับตัวเลขของบีโอไออีก 200,000 ล้านบาท จะอยู่ที่ 300,000 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนในอีอีซีจะมีส่วนผลักดันให้จีดีพีประเทศขยายตัวเพิ่ม 1 %

รายงานข่าวระบุว่า พยายามผลักดันให้เกิดการลงทุนจริงทันที แต่ก็ต้องจับตาคู่แข่งทั้งเวียดนาม และมาเลเซียที่พยายามดึงดูดนักลงทุนเช่นกัน โดยอีอีซีจะมีวิธีกระตุ้นให้เกิดการลงทุนโดยเร็ว ด้วยการอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนซึ่งทางอีอีซีมีคณะทำงานที่ให้คำแนะนำ และช่วยแก้ไขสำหรับกลุ่มที่ติดปัญหาในการลงทุน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีขนาดใหญ่ อาทิ บางรายอาจติดข้อกฎหมาย ทางอีอีซีจะเข้าไปประสานกับหน่วยงานนั้นๆว่าสามารถยืดหยุ่นหรือปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์เพื่อสอดรับการลงทุนในปัจจุบันได้หรือไม่ เพราะกฎหมายบางตัวมีการบังคับใช้มาหลายปี

รายงานข่าวระบุว่า นอกจากนี้อีอีซีมีกำหนดการเดินทางชี้แจงข้อมูลการลงทุน (โรดโชว์)ในยุโรปและเอเชีย เพื่อให้เกิดความสมดุลย์ในการลงทุนในประเทศ โดยสิ่งสำคัญที่ไทยต้องการ คือ เทคโนโลยี และเมื่อได้เทคโนโลยีแล้วจะพัฒนาบุลากรเพื่อรองรับอย่างไรต่อไป ล่าสุดอดีตทูตที่มีความรู้ความสามารถประมาณ 4 คน จากยุโรปและเอเชียได้อาสาเข้ามาช่วยในการชักจูงนักลงทุน ซึ่งการการเข้าไปชักจูงนักลงทุนแต่ละประเทศต้องใช้คนที่เคยอยู่ในพื้นที่และเป็นที่รู้จักเข้าไปชักจูงให้มาลงทุนในไทย

รายงานข่าวระบุว่า สำหรับความคืบหน้าโครงสร้างพื้นฐาน 5 โครงการสำคัญของอีอีซี ที่คาดว่าจะได้ผู้ชนะการประมูลและลงนามในสัญญาได้ไม่เกินไตรมาสแรกของปี 2562 ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่เอกชนเป็นผู้ลงทุนประมาณ 80,000ล้านบาท โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (เอ็มอาร์โอ) เอกชนลงทุน 4,255 ล้านบาท โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนท่าเรือ เอฟ เอกชนลงทุน 30,871 ล้านบาท โครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ประมาณ 35,000 ล้านบาท และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เอกชนลงทุน 272,000 ล้านบาท รวมเม็ดเงินลงทุนของภาคเอกชนประมาณ 420,000 ล้านบาท โดยผู้ประกอบการที่ชนะการประมูลจะต้องยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนดังกล่าวภายในปีนี้ เพื่อเดินหน้าก่อสร้างให้ทันตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ จึงมีความเป็นไปได้ที่ตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจะมากกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ของอีอีซี และบีโอไอรวม 300,000 ล้านบบาท

Advertisement

รายงานข่าวระบุว่า กรณีผลการคัดเลือกเอกชนร่วมทุนในโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ซึ่งการท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) กำหนดเปิดยื่นข้อเสนอร่วมทุนโครงการท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 ระยะที่ 1 ท่าเทียบเรือเอฟ วงเงิน 84,361 ล้านบาทมีเพียงรายเดียวที่ยื่นประมูลและมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนทั้งที่มีผู้สนใจซื้อเอกสารโครงการถึง 32 รายนั้น ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาทางอีอีซี ได้แจ้งไปยังกทท.แล้ว ว่าให้ขยายเวลาการยื่นเอกสารร่วมทุนออกไปก่อน 1 เดือนจากกำหนดการเดิมวันที่ 14 มกราคม เนื่องจากมีข้อจำกัดทางด้านเวลาที่ให้บริษัทมีระยะเวลาในการเตรียมข้อเสนอโครงการค่อนข้างสั้น ประมาณ 2 เดือนเท่านั้น ซึ่งจากกรณีดังกล่าวถือเป็นบทเรียน ดังนั้นหน่วยงานของรัฐต้องหันหน้าช่วยกันทำงานและรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายมากขึ้น

ทั้งนี้คณะกรรมการบริหารเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่มีนายอุตตม สาวนายน เป็นประธานจะมีการหารือในรายละเอียดต่างๆ และสรุปความคืบหน้าการลงทุนปี 2561 ในเดือนมกราคมนี้ ก่อนที่จะประชุมกรรมการนโยบายที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในช่วงปลายเดือนมกราคมหรือต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยอยู่ระหว่างการกำหนดวันประชุม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image