วิกฤตพีเอ็ม 2.5 ถึงเวลาตื่นตัว สู่ฝุ่นจิ๋ว

กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้รายงานคุณภาพอากาศ ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เป็นประจำตามปกติมาเนิ่นนาน ผ่านเว็บไซต์ของกรมบ้าง ผ่านเฟชบุ๊ก มีผู้คน รวมทั้งสื่อมวลชนติดตามอยู่ไม่น้อย

น่าแปลกใจว่า ก่อนหน้านี้แทบจะไม่มีสื่อออนไลน์ทั่วไป รวมไปถึงเว็บเพจยอดนิยมในโลกโซเชียลให้ความสนใจสักเท่าไหร่ กระทั่งตั้งแต่ช่วงเช้าของวันจันทร์ที่ 14 มกราคม ข่าวค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน ซึ่งจะมีผลต่อสุขภาพถูกกระพือข่าวกันทุกชั่วโมงว่า พื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล เต็มไปด้วยฝุ่นขนาดจิ๋วฟุ้งกระจายเกินมาตรฐาน (มากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) สร้างความตื่นตระหนก ตกใจแตกตื่นกันทั้งประเทศ เกิดปรากฏการณ์หน้ากากป้องกันฝุ่นขาดตลาด เพราะประชาชนแห่ไปซื้อกักตุน พ่อค้าแม่ค้าก็ถือโอกาสขึ้นราคาหน้ากากป้องกัน

เฟชบุ๊กของกรมควบคุมมลพิษได้เริ่มรายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองในอากาศที่เริ่มจะเข้าสู่ภาวะวิกฤตตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม ขณะนั้นพบว่าปริมาณฝุ่นขนาด 2.5 ไมครอน เกินมาตรฐานสำหรับพื้นที่ริมถนนอยู่ถึง 20 จุด และพื้นที่ทั่วไปอีก 17 จุด และหลังจากนั้นสถานการณ์ฝุ่นขนาด 2.5 ไมครอนก็เกินมาตรฐานอยู่หลายจุดเรื่อยมา กล่าวคือ

วันที่ 7 มกราคม พบว่า 18 พื้นที่ริมถนน และ 18 พื้นที่ทั่วไป ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่ปริมาณฝุ่นขนาด 2.5 ไมครอน เกินมาตรฐาน

Advertisement

วันที่ 8 มกราคม พบว่า 22 พื้นที่ริมถนน และ 18 พื้นที่ทั่วไป ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่ปริมาณฝุ่นขนาด 2.5 ไมครอน เกินมาตรฐาน

วันที่ 9 มกราคม พบว่า ปริมาณฝุ่นขนาด 2.5 ไมครอน อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

วันที่ 10 มกราคม พบว่า พื้นที่ริมถนน 4 พื้นที่ ปริมาณฝุ่นขนาด 2.5 ไมครอน เกินค่ามาตรฐาน ส่วนพื้นที่ทั่วไปยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

Advertisement

วันที่ 11 มกราคม กรมควบคุมมลพิษออกประกาศว่าอากาศลอยตัวไม่ค่อยดีนัก ให้ทุกคนโดยเฉพาะเด็ก คนชรา และผู้มีปัญหาสุขภาพ ระมัดระวังตัวเองเมื่ออยู่กลางแจ้ง ควรหาอุปกรณ์ป้องกันฝุ่นละอองปิดปากปิดจมูก เพราะปริมาณฝุ่นขนาด 2.5 ไมครอน ที่เกินมาตรฐานเริ่มกระจายไปในหลายพื้นที่มากขึ้น โดยพบว่ามีพื้นที่ทั่วไปที่ปริมาณเกินมาตรฐาน ถึง 13 พื้นที่ และพื้นที่ริมถนนอีก 19 พื้นที่ด้วยกัน

วันที่ 12 มกราคม บริเวณริมถนน ที่พีเอ็ม 2.5 เกินมาตรฐาน มี 21 พื้นที่ และบริเวณทั่วไปอีก 17 พื้นที่

วันที่ 13 มกราคม บริเวณริมถนน ที่พีเอ็ม 2.5 เกินมาตรฐาน มี 19 พื้นที่ และบริเวณทั่วไปอีก 17 พื้นที่

กระทั่งวันที่ 14 มกราคม เป็นจุดเริ่มต้นที่สื่อโซเชียลที่มีผู้คนติดตามในหลักล้านคน เริ่มต้นโพสต์ข่าวและสารพัดข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ และมีการแชร์ทั้งเหตุการณ์และภาพข่าว พูดกันถึงทัศนวิสัยการมองเห็นที่ถูกหมอกหนาของฝุ่นบดบัง

เรื่องที่ดีก็คือ ประชาชน หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง สถานศึกษามีการตื่นตัว ช่วยกันหาหนทางแก้ปัญหา หลายคนก็จะเริ่มรู้สึกตัวว่าป่วย เจ็บคอ ไอ มีน้ำมูก คันตา และร่างกายไม่ค่อยปกตินัก

มีการจับกลุ่ม พูดคุย สัมมนา หาทางออก หาวิธีดูแลตัวเอง คนรอบข้าง กันหลายวง

ถือเป็นการเริ่มต้นเรียนรู้ครั้งใหญ่ เพราะก่อนหน้านี้คนไทย โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯและปริมณฑลแทบจะไม่ตระหนัก ตื่นตัวเพื่อรับมือ และเผชิญกับเรื่องนี้เลย

นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า เวลานี้หลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา รวมไปถึงกลุ่มประเทศอาเซียน ก็ล้วนมีปัญหาเรื่องฝุ่นขนาดเล็กกระจายในบรรยากาศ สร้างปัญหาด้านสุขภาพกับประชาชน ซึ่งแต่ละประเทศก็ได้เรียนรู้สำหรับปรากฏการณ์นี้รวมไปถึงวิธีการแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน สำหรับประเทศไทยนั้น คราวนี้ถือเป็นการตื่นตัวครั้งใหญ่ที่สุด รวมไปถึงการได้เห็นความ
ร่วมมือกันอย่างจริงจังของทุกฝ่าย ที่จะทำให้ปัญหานี้บรรเทาเบาบางลง

รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาฯ เปิดเผยว่า พีเอ็ม 2.5 เกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ 1.การเผาไหม้ จากการผลิตไฟฟ้า การขนส่ง และอุตสาหกรรม 2.ปัจจัยทางธรรมชาติ เนื่องจากช่วงปลายฝนต้นหนาวอากาศจะปิด ทำให้ไม่มีลมระบายอากาศทางแนวนอน ประกอบกับกรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีตึกสูงล้อมรอบ ทำให้มลพิษจากที่ควรจะลอยขึ้นหรือกระจายออกด้านข้างก็กระจุกตัวอยู่ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง คือผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหอบหืด ไม่ควรออกจากบ้าน หากจำเป็นควรใช้หน้ากากป้องกัน พีเอ็ม 2.5 โดยเลือกชนิดที่มีระบบช่วยการหายใจ สวมให้ถูกวิธี และตรวจสอบการแนบสนิทของหน้ากากกับใบหน้า ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง ทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศอย่างสม่ำเสมอ ปลูกต้นไม้ และสัญจรโดยการเดินทางเท้า จักรยาน หรือใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ส่วนรถยนต์ก็ควรหมั่นบำรุงรักษาเครื่องยนต์ หรือเลือกใช้เชื้อเพลิงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อลดผลกระทบจากการปล่อยไอเสีย นอกจากนี้ ประชาชนควรติดตามข่าวสารจากเว็บไซต์ของกรมควบคุมมลพิษ หรือแอพพลิเคชั่น AIR 4 THAI เพื่อเตรียมรับมือกับปัญหามลพิษ

รศ.ดร.กุลยศ อุดมวงศ์เสรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ กล่าวว่า โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ส่วนมากเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง มีการปลดปล่อยมลพิษและฝุ่นที่ค่อนข้างต่ำ โรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินก็มีระบบดักจับฝุ่นและวัดการปลดปล่อยมลพิษที่ต้องรายงานหน่วยภาครัฐอยู่แล้ว ส่วนโรงงานไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าที่มีขนาดเล็กก็มีปริมาณกำลังการผลิตที่ไม่มากจึงไม่ค่อยน่าเป็นห่วง ทุกที่ที่เผาไหม้เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น โรงงานผลิตไฟฟ้าทั้งหมดอาจจะดูเป็นผู้ร้าย แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ เพราะขึ้นอยู่กับเชื้อเพลิงที่ใช้และมาตรการในการจัดการ โรงไฟฟ้าเกือบทั้งหมดใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งค่อนข้างสะอาด มีฝุ่นน้อย ผลกระทบจึงไม่มาก

มากที่สุดจะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่ที่ภาคตะวันออก

แต่ที่น่ากังวลคือยังมีบางโรงไฟฟ้าที่ปลดปล่อยฝุ่นอยู่ มีโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงความร้อนกระจายตัวอยู่ในภาคกลาง และยังมีโรงงานอุตสาหกรรมบางส่วนที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงความร้อน ซึ่งการกระจายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการใช้เชื้อเพลิงความร้อนนี้มีแนวโน้มใกล้เคียงกับการกระจายตัวของ พีเอ็ม 2.5 ด้วยเหตุนี้ โรงงานอุตสาหกรรมที่มีขนาดไม่ใหญ่มากจึงมีความน่ากังวลเล็กน้อย ควรต้องมีการวัดและเก็บข้อมูลมากกว่านี้

ที่สำคัญ ต้องตระหนักว่าปัญหาฝุ่นละอองขนาดจิ๋วอาจไม่ใช่ปรากฏการณ์ชั่วครู่ชั่วยาม แต่มีโอกาสจะเกิดถี่มากขึ้น จำเป็นต้องมีมาตรการระยะยาวป้องกันรับมืออย่างจริงจัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image