แค่ 16 วันแรกของปี สถิติ “ฆ่ากันตายพุ่ง” งง!! รัฐนิ่งเฉยแก้ปัญหา

แค่ 16 วันแรกของปี สถิติ
แค่ 16 วันแรกของปี สถิติ "ฆ่ากันตายพุ่ง" งง!! รัฐนิ่งเฉยแก้ปัญหา

แค่ 16 วันแรกของปี สถิติ “ฆ่ากันตายพุ่ง” งง!! รัฐนิ่งเฉยแก้ปัญหา

เมื่อวันที่ 18 มกราคม ที่เดอะฮอลล์ บางกอก เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ และคณะทำงานปกป้องเด็กและเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยงทางสังคม จัดงานเสวนา “วิกฤตความสัมพันธ์ในครอบครัว สู่ฆาตกรรมและความรุนแรง”

นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า มูลนิธิได้รวบรวมข่าวความรุนแรงที่เผยแพร่โดยสื่อมวลชนระหว่างวันที่ 1- 16 มกราคมที่ผ่านมา พบสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ เพราะเพียง 16 วัน มีข่าวความรุนแรงในครอบครัวถึง 28 ข่าว เฉลี่ยเกิดเหตุว่าวันละ 2 ข่าว โดยแบ่งเป็นข่าวฆ่ากันตายในครอบครัวถึง 20 ข่าว นำไปสู่การเสียชีวิตจากการถูกฆาตกรรม 29 คน ซึ่งเมื่อเทียบสถิติจากข่าวความรุนแรงในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 ที่มี 10 ข่าว ต้องถือว่าปีนี้เพิ่มขึ้นเท่าตัว

นายจะเด็จกล่าวอีกว่า ส่วนเหตุให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว ยังคงเป็นประเด็นเดิมๆคือ หึงหวง ขอคืนดีไม่สำเร็จ ร้อยละ 40 รองลงมาเป็นเมาสุราและยาเสพติด ร้อยละ18 แต่ที่น่าสนใจคืออาวุธที่ใช้ก่อเหตุ พบว่าปืนมากที่สุดถึงร้อยละ 45 ซึ่งเมื่อลงลึกไปในรายละเอียด เดี๋ยวนี้ยังพบปืนอาก้าในการก่อเหตุที่ภาคใต้ด้วย บ่งบอกถึงสถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้น และแสดงถึงมาตราการกลไกของรัฐที่มีเอาไม่อยู่แล้ว ไม่ว่าจะกลไกการเฝ้าระวังในชุมชน เช่น อาสาสมัครครอบครัวในชุมชนทำไมถึงไม่รู้ รวมถึงกลไกรับแจ้งเหตุ แก้ปัญหา และคุ้มครองเยียวยาที่มีมากมายของหน่วยงานรัฐ ทำไมถึงยังมีเคสความรุนแรงปรากฏเต็มไปหมด ซึ่งที่ไม่เป็นข่าวก็น่าจะมีอีกมาก แสดงว่ากลไกมีปัญหาด้วยหรือไม่ และท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น เรากลับไม่เห็นหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องออกมาส่งเสียงเลย หรือการประกาศการยุติความรุนแรงทุกรูปแบบตลอดทั้งปี 2562 ของรัฐบาล และมีการเดินณรงค์ในหลายพื้นที่ จะให้เป็นเพียงอีเว้นท์ที่จัดขึ้นแล้วจบไปเท่านั้น

“สิ่งที่อยากเห็นตอนนี้คือ การที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะกำชับไปยังตำรวจต่างๆให้ห้ามปรามผู้ที่กระทำความรุนแรง ว่าหากยังทำอีกต้องรับผิดทางอาญา อาจทำเป็นบันทึกข้อตกไว้ ไม่ใช่เพียงไกล่เกลี่ยประนีประนอมเท่านั้น รวมถึงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ควรบูรณาการกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข มีหน่วยเฝ้าระวังในพื้นที่และวิเคราะห์สถานการณ์ ตลอดจนกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะสอนเรื่องสิทธิเนื้อตัวร่างกายในชั้นเรียน เพื่อหยุดวิธีคิดชายเป็นใหญ่ต่อไป” นายจะเด็จกล่าว

Advertisement
นายจะเด็จ เชาวน์วิไล
นายจะเด็จ เชาวน์วิไล
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image