ภาพเก่าเล่าตำนาน ชีวิตอันบุบสลาย…รายได้งามของ‘ซูโม่’ โดย : พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

สังคมญี่ปุ่นที่โดดเด่นก้าวล้ำหน้ากว่าใครในโลก ยังคงมี “เรื่องน่าพิศวง” ที่ชาวโลกอาจไม่ทราบมาก่อน…มีคนกลุ่มหนึ่งคนที่เต็มใจจะไปเข้าระเบียบ ออกกำลัง ฝึกฝน กำหนดการกินอยู่แบบใช้กฎเหล็ก และมีการลงโทษโดยการเฆี่ยนตีอย่างแสนทารุณ ต้องเป็น “ทาสรับใช้” เพื่อจะเป็นนักกีฬาซูโม่อาชีพ

ภาพเก่า…เล่าตำนานตอนนี้ ขอเปิดเผยเรื่องชีวิตจริง ตัวตนของ “ซูโม่” กีฬาประจำชาติของชาวแดนอาทิตย์อุทัยที่มีมานับพันปี

ซูโม่ เป็นกีฬาประจำชาติเก่าแก่ซึ่งมีกำเนิดจากพิธีกรรมทางศาสนาเมื่อราว 1,500-2,000 ปีก่อน ซูโม่ คือรูปแบบหนึ่งของมวยปล้ำ เป็นกีฬาที่นักมวยปล้ำ (Rikishi) ต้องพยายามบังคับให้คู่ต่อสู้ออกจากวงแหวน (Dohyo) หรือบังคับให้ส่วนอื่นของคู่แข่งยกเว้นฝ่าเท้าสัมผัสกับพื้น

การเป็นนักกีฬาซูโม่ จะต้องยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติตามประเพณีดั้งเดิมของญี่ปุ่นในหลายเรื่อง เช่น ต้องไว้ผมยาวถึงกลางหลังแล้วมัดให้เป็นทรงแบบซามูไร ต้องแต่งกายด้วยชุดผ้าฝ้ายบางหรือยูกาตะ ซูโม่ต้องวางตัวให้มีบุคลิกนิ่งสงบและสง่าผ่าเผย ต้องพูดเสียงเบาๆ

Advertisement

ซูโม่ เป็นสมบัติที่ญี่ปุ่นหวงแหน ต้องการรักษาอาชีพนี้ไว้อย่างเหนียวแน่น ประเพณีโบราณต่างๆ ได้รับการเก็บรักษาไว้ในกีฬาซูโม่

ย้อนไปนับพันปี ซูโม่เป็นเพียงการแสดงเพื่อบูชาเทพพระเจ้าของชาวญี่ปุ่น จะเฉลิมฉลองให้มีซูโม่ เมื่อชาวนาเก็บเกี่ยวผลผลิตการเกษตรได้ผลดี และคนญี่ปุ่นเชื่อว่าการปล้ำซูโม่เกิดขึ้นระหว่างพระผู้เป็นเจ้า

ต่อมาการแสดงมวยปล้ำแพร่หลายออกไป ในศตวรรษที่ 8 กีฬาซูโม่ได้รับความสนใจจากราชสำนัก และถูกนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางทหาร ราชสำนักคัดเลือกทหารที่มีร่างกายใหญ่โตเพื่อมาเป็นนักมวยปล้ำ เข้ามาต่อสู้กันภายในพระราชวังเพื่อสร้างความบันเทิงให้กับเหล่าชาววังทั้งหลาย

Advertisement

ถือได้ว่า มวยปล้ำชนิดนี้เป็นเครื่องวัดความแข็งแรงของตัวบุคคล ก่อนปล้ำก็กำหนดให้มีพิธีการใช้เวลาพอสมควร

ซูโม่ เป็นรากเหง้าทางความคิด สะท้อนกระแสชาตินิยมของชาวญี่ปุ่น เป็นเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของชาวญี่ปุ่น

ผลแพ้ชนะมักเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วินาที โดยที่นักกีฬาคนใดคนหนึ่งถูกทำให้ออกจากวงกลมหรือถูกทุ่มไปที่พื้นอย่างรวดเร็ว

นักซูโม่จะต้องมีรอบเอวที่กว้าง เนื่องจากมวลกายจะเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับชัยชนะ แต่ด้วยเทคนิคที่เหมาะสมนักกีฬาตัวเล็กก็สามารถควบคุมและกำจัดฝ่ายตรงข้ามที่มีขนาดใหญ่กว่ามากได้

การแข่งขันซูโม่จะปล้ำบนเวทีที่มีวงแหวน (Dohyo) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4.55 เมตร (14.9 ฟุต) และมีพื้นที่ขนาด 16.26 ตารางเมตร (175.0 ตารางฟุต) โดยเป็นสนามแข่งที่ทำจากดินเหนียวผสมทรายและฟางข้าว ตามแบบสมัยโบราณ

สนามแข่งจะถูกสร้างขึ้นสำหรับการแข่งขันแต่ละรายการ ตรงกลางวงแหวนจะมีเส้นสีขาว 2 เส้นไว้สำหรับนักกีฬาเตรียมพร้อมปล้ำ โดยนักซูโม่จะอยู่หลังเส้นของตนเอง ย่อเข่าและกำหมัดทั้ง 2 ข้างไว้ที่พื้น

ซูโม่อาชีพ ต้องถูกควบคุมลงทะเบียนกับสมาคมซูโม่ญี่ปุ่นเท่านั้น นักกีฬาฝึกหัดทุกคนต้องเป็นสมาชิกของค่ายฝึกซูโม่ (Heya) ที่ดำเนินการโดยสมาชิก (Oyakata) ซึ่งเป็นผู้ฝึกสอนการปล้ำซูโม่ ปัจจุบันมีค่ายฝึกอยู่ 47 แห่ง รวมนักซูโม่ได้ 660 คน

ซูโม่อาชีพแบ่งออกเป็น 6 ลำดับขั้น คือ : 1.makuuchi (มีได้ไม่เกิน 42 คน) 2.juryo (มี 28 คน) 3.makushita (มี 120 คน) 4.sandanme (มี 200 คน) 5.jonidan (ประมาณ 185 คน) และ 6.jonokuchi (ประมาณ 40 คน)

นักซูโม่เริ่มต้นอาชีพที่ลำดับต่ำสุด (jonokuchi) และค่อยๆ เลื่อนชั้นขึ้นไปตามความสามารถหากชนะการแข่งขัน

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงนั้น บรรดาเด็กบ้านนอกของญี่ปุ่นที่ยากจน เก็บของมุ่งหน้าเข้ามายังโตเกียวเพื่อต้องการมาฝึกเป็นซูโม่ โดยมีความหวังว่าเมื่อมีชื่อเสียง เงินทอง ซึ่งหลายคนก็ทำสำเร็จ

“เรียวโกกุ” ในกรุงโตเกียว คือ แหล่งชุมนุมของบรรดาซูโม่ เป็นที่ตั้งค่ายฝึกซูโม่กว่า 40 เเห่งด้วยกัน ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถพบกับซูโม่ตัวเป็นๆ ในย่านเเห่งนี้ได้

เด็กหนุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไป จึงจะมาเป็นนักซูโม่ได้ เเต่ในปัจจุบันนั้นมีเด็กมาสมัครเพียงเเค่ปีละราว 100 คนเท่านั้น

น้องใหม่ที่สมัครเข้าค่ายตั้งใจเป็นซูโม่อาชีพ ต้องฝึกหนักได้รับค่าตอบแทนไม่มากนัก ช่วงเเรกจะต้องทำหน้าที่เป็นเบ๊ให้กับซูโม่รุ่นพี่ ที่ถืออาญาสิทธิ์ ลงโทษเฉียบขาด โหดร้าย เฆี่ยนตีได้ ซึ่งปรากฏเป็นข่าว เรื่องการทำร้ายร่างกาย จนตาบอด บางรายสมองพิการ หรือเสียชีวิต

กว่าจะได้เป็นซูโม่ ก้าวขึ้นมาเเข่งบนเวทีได้ก็ต้องใช้เวลาไต่เต้า อดทนฝึกหนักกว่า 10 ปี

ซูโม่บางราย ที่ไต่ขึ้นไปในระดับสูงๆ ได้ก็จะมีรายได้จากทางสปอนเซอร์พร้อมชื่อเสียงกระหึ่ม ซูโม่ที่เราเห็นว่ามีลักษณะท้วม อวบนั้น เเท้จริงเเล้วพวกเขาเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อขนาดใหญ่

เทศกาลแข่งขันซูโม่ ในเเต่ละปีนั้น จะจัดการเเข่งขันที่สนามกีฬาซูโม่แห่งชาติเรียวโงะกุ ในกรุงโตเกียว 3 ครั้งที่นี่เป็นสนามเเข่งขันกีฬาซูโม่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น สนามแห่งนี้อยู่ภายใต้การดูเเลของสมาคมซูโม่ญี่ปุ่น มีความจุ 13,000 ที่นั่ง

นักซูโม่ทุกคนจะต้องลงทำการเเข่งขันวันละ 1 ครั้ง ตลอด 15 วัน หลังจากเสร็จสิ้นการเเข่งขันในสนามนั้นๆ จะมีการนำมาคิดในการเลื่อนชั้นหรือลดชั้น

การเเข่งขันซูโม่ ไม่ได้มีการเเบ่งรุ่นน้ำหนัก ซึ่งโดยปกติเเล้วน้ำหนักของนักซูโม่จะต้องมากกว่า 90 กก. นักซูโม่ที่มีน้ำหนักน้อยที่สุดก็อยู่ที่ 90 กก. เเต่ส่วนใหญ่เเล้วจะอยู่ที่ระหว่าง 110-150 กก.

เคยมีนักซูโม่ที่ใช้ชื่อว่า โคนิชิกิ ซึ่งมีน้ำหนักตัวถึง 253 กก. เป็นนักซูโม่ที่มีรูปร่างใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์วงการซูโม่ญี่ปุ่น

โคนิชิกิเป็นชาวฮาวาย เเละเป็นนักซูโม่ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างมากในญี่ปุ่นยุคนั้น

คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่สนใจกีฬาซูโม่ไม่มากนัก ในขณะที่ชาวต่างชาติเข้ามาขอสมัครเป็นซูโม่อาชีพ ปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนกฎกติกา ให้ต่างชาติสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการแข่งขันได้

ชีวิตนักซูโม่ ต้องกินอาหารราว 8,000 แคลอรีต่อวัน นักซูโม่ต้องตื่นมาฝึกแต่เช้าตรู่ในเวลาราว 5-6 น. ทุกวัน โดยไม่ได้รับประทานอาหารเช้า หลังฝึกเสร็จจึงจะได้รับประทานมื้อกลางวัน และต้องไปงีบหลับและตื่นมารับประทานอาหารมื้อค่ำมื้อใหญ่ซึ่งประกอบด้วย “จังโกะนาเบะ” หรือหม้อไฟที่อุดมไปด้วยโปรตีนและผักเป็นหลัก และต้องเข้านอนทันทีหลังมื้อเย็น

ซูโม่ เกือบทุกคนต้องนอนด้วยหน้ากากช่วยหายใจ เนื่องจากความอ้วนจนหายใจตามปกติไม่สะดวก

นักซูโม่จะไม่สามารถย้ายค่ายได้ หลายคนประสบปัญหาชีวิต ซึ่งทางออกทางเดียวคือการเลิกเล่นซูโม่เท่านั้น

ปัจจุบันมีนักซูโม่เพียง 60 คน จากทั้งหมด 650 คน ที่อยู่ในระดับชั้นสูงสุด ซึ่งนักซูโม่ในระดับนี้จะได้ค่าตอบแทนอย่างน้อยราว 2 ล้านบาทต่อเดือน และได้เงินสนับสนุนจากสปอนเซอร์ด้วย

ตั้งแต่ พ.ศ.2541 เป็นต้นมา วงการซูโม่ของญี่ปุ่นเสียตำแหน่งแชมป์ซูโม่ระดับสูงสุดให้กับชาวต่างชาติ ชาวปลาดิบทั้งหลายเพิ่งได้เฮอีกครั้งหลังจาก นายคิเซโนะซาโตะได้เป็นแชมป์ซูโม่ระดับโยโกสุนะ ชาวญี่ปุ่นกระชากตำแหน่งแชมป์กลับคืนมาได้สำเร็จ

ซึ่งในรอบ 19 ปีที่ผ่านมา แชมป์ซูโม่ระดับโยโกสุนะล้วนเป็นชาวต่างชาติ โดยมีทั้งชาวอเมริกันซามัวและชาวมองโกเลียได้ครองแชมป์ดังกล่าวตลอดมา

นักซูโม่ที่มีชื่อเสียงนั้นมีรายได้ “ตุงกระเป๋า” ทำให้ชาวต่างชาติหันมาสนใจฝึกฝนกีฬานี้เป็นอาชีพ โดยปัจจุบันมีทั้งนักซูโม่ที่มาจากบราซิล บัลแกเรีย จีน เอสโทเนีย รัสเซีย มองโกเลีย ตองกา และฮาวาย

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image